"คณิน" ซัด "มีชัย" ประวัติเน่าร่างรธน.จนนองเลือด ! หากประชามติล้ม ต้องเลิกยุ่งตลอดชีวิต

ติดตามข่าวสารข้อมูล www.tnews.co.th

 

"คณิน" เผยชัด "มีชัย" จะพูดว่าร่างรธน.เพื่อกันรปห. ฟังดูเป็นเรื่องตลก เนื่องจากอดีตฉีกทิ้งไม่รู้กี่รอบ แถมปี 34 ร่างได้แค่ปีเดียว ก่อนปูทางไปสู่การนองเลือดในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 35  -ปลุกคนไทยอย่าเสียค่าโง่  หากประชามติไม่ผ่าน ไปถามท้วงถาม "มีชัย" จะรับผิดชอบ  โดยการ  "ตัดสิทธิในการร่างรัฐธรรมนูญตลอดชีวิตดีไหม"

 

 

 

 

วันนี้ ( 3 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายคณิน บุญสุวรรณ อดีต ส.ส.ร. ได้กล่าวถึงอาถรรพ์ในการร่างรัฐธรรมนูญของประเทศไทยว่า ในจำนวน “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” 10 ฉบับที่ได้รับการจารึกลงใน “สมุดไทย” นั้นมีอยู่ 8 ฉบับด้วยกันที่สิ้นสุดการใช้บังคับโดยผลของการรัฐประหารที่เรียกเป็นภาษาชาวบ้านว่า “ถูกฉีกทิ้ง” ได้แก่ รัฐธรรมนูญปี 2489, รัฐธรรมนูญปี 2492, รัฐธรรมนูญปี 2475 แก้ไขเพิ่มเติมปี 2495, รัฐธรรมนูญปี 2511, รัฐธรรมนูญปี 2517, รัฐธรรมนูญปี 2521, รัฐธรรมนูญปี 2540 และรัฐธรรมนูญปี 2550

 

 


          ซึ่งในจำนวนนี้มีอยู่ 5 ฉบับที่ยกร่างจัดทำขึ้นภายหลังการรัฐประหารและสิ้นสุดการใช้บังคับลงโดยผลของการรัฐประหารเช่นเดียวกัน ได้แก่ รัฐธรรมนูญปี 2492, รัฐธรรมนูญปี 2475 แก้ไขเพิ่มเติมปี 2495, รัฐธรรมนูญปี 2511, รัฐธรรมนูญปี 2521 และรัฐธรรมนูญปี 2550

 

 

 


          ส่วนรัฐธรรมนูญปี 2534 ซึ่งยกร่างจัดทำขึ้นภายหลังการรัฐประหาร แต่ถึงแม้จะไม่ได้สิ้นสุดลงโดยผลของการรัฐประหาร แต่ก็เป็นชนวนให้เกิดเหตุการณ์นองเลือดในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 อันนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อตั้ง ส.ส.ร. ทำการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ก่อนที่จะสิ้นสุดการใช้บังคับโดยผลของการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญอีก 2 ฉบับที่ไม่ได้ยกร่างจัดทำขึ้นภายหลังการรัฐประหาร แต่ก็สิ้นสุดการใช้บังคับโดยผลของการรัฐประหาร ซึ่งได้แก่ รัฐธรรมนูญปี 2489 และรัฐธรรมนูญปี 2517

 


          ในขณะที่รัฐธรรมนูญปี 2519 ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังการรัฐประหาร และเป็นฉบับเดียวที่ไม่ได้รับการจารึกลงใน “สมุดไทย” ก็สิ้นสุดการใช้บังคับโดยผลของการรัฐประหารเช่นเดียวกัน

 

 

 


          นายคณินกล่าวว่า โดยสรุปมี “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” จำนวนถึง 9 ใน 11 ฉบับที่สิ้นสุดการใช้บังคับโดยผลของการรัฐประหาร ซึ่งอุบัติการณ์เช่นนี้จะเรียกว่าเป็น “อาถรรพ์” หรือจะเรียกว่า “วงจรอุบาทว์” ก็สุดแล้วแต่จะว่ากันไป แต่ที่แน่ ๆ คือ การที่ใครบางคนออกมายืนยันหรือการันตีว่าจะไม่มีการปฏิวัติอีกแล้ว หรือบอกว่ากำลังร่างรัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันการปฏิวัติ จึงนอกจากจะเชื่อถือไม่ได้แล้วยังไร้สาระอีกด้วย ก็ไม่ทราบว่านายมีชัยมีส่วนร่างหรืออยู่เบื้องหลังการร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 หรือไม่ แต่นายมีชัยได้เป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ฯ หลังปฏิวัติ และเมื่อรัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกฉีกทิ้งโดยการรัฐประหารนายมีชัยไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลยแถมยังได้กลับมาเป็นประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ร่างฯ ฉบับนาย บวรศักดิ์ ฯ ถูก สปช. ลงมติคว่ำไม่เป็นท่า นอกเหนือจากรัฐธรรมนูญปี 2534 ซึ่งเป็นชนวนให้เกิดเหตุการณ์นองเลือดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 นั้น นายมีชัยก็เป็นประธานกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญปี 2521 ซึ่งมีบทเฉพาะกาลที่ประหลาดเหมือนเป็นรัฐธรรมนูญซ้อนรัฐธรรมนูญนั้น นายมีชัยก็เป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ

 

 

 


          นายคณินยังกล่าวด้วยว่ายังมีนักกฎหมายระดับปรมาจารย์อีกหลายคนที่มีครรลองแบบเดียวกับนายมีชัยกล่าวคือ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญหลังการรัฐประหาร พอร่างเสร็จก็ได้รับการปูนบำเหน็จเป็นใหญ่เป็นโตกันไปถ้วนหน้า แต่ครั้นพอรัฐธรรมนูญฉบับที่ตัวเองยกร่างถูกยกเลิกไปโดยการรัฐประหาร นอกจากจะไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลยแล้ว ยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญหรือกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างหน้าตาเฉย เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เรียกว่า ท่านเหล่านั้น “มีแต่ได้กับได้” ทั้งขึ้นทั้งล่อง

 

 

 

 

 


          แต่ก็เป็นคนไทยนั่นแหละที่ “มีแต่เสียกับเสีย” เพราะต้องเสีย “ค่าโง่” ซ้ำแล้วซ้ำอีกกับทั้งในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนั้น ๆ ถูกยกเลิกไปโดยการรัฐประหารและมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะฉะนั้นในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ 2559 นี้ ถ้าคนไทยไม่อยากเสียค่าโง่ซ้ำซากสังเวย “วงจรอุบาทว์” นี้แล้ว ก็คงต้องทวงถามนายมีชัย  ฤชุพันธ์ และ กรธ. ชุดนี้ว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านประชามติหรือผ่านประชามติแล้วถูกฉีกทิ้งโดยการรัฐประหารอีก นายมีชัย ฯ และ กรธ. จะรับผิดชอบต่อ “ค่าโง่” ซ้ำซ้อนที่คนไทยต้องเสียไปอย่างไร
          ตัดสิทธิในการร่างรัฐธรรมนูญตลอดชีวิตดีไหม