"สนช." ลงมติรับหลักร่างพ.ร.บ.ตั้งศาลอาญาคดีทุจริต - เริ่มเปิดศาล 1 ต.ค. 59 !!

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

"สภานิติบัญญัติแห่งชาติ" มีมติรับหลักร่างพ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริต โดยจัดตั้งเหมือนศาลชำนัญพิเศษอื่นๆ ใช้วิธีพิจารณาระบบไต่สวน ไม่นับช่วงเวลาที่ผู้กล่าวหาหลบหนี ครอบคลุมบุคคลทั้งหมด พร้อมเปิดศาล 1 ต.ค. 2559 นี้ !!

 

วันนี้ (14 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ที่รัฐสภา การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมี นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม มีวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. .... ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ
         

 

โดย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวชี้แจงหลักการและเหตุผล ว่า การจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ จัดตั้งเหมือนศาลชำนัญพิเศษอื่นๆ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เริ่มจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้จัดทำและยกร่างขึ้น แล้วเสนอมายัง ครม.ซึ่งมีหลักการสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่ได้กำชับขอให้เป็นเรื่องเร่งด่วน และจำเป็นต้องมีร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เป็นกฎหมายแฝดในการนำไปบังคับใช้ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการตรวจของคณะกรรมการกฤษฎีกา หากเรียบร้อยแล้วจะเสนอตามมาอย่างเร็วที่สุด
         

 

การทุจริตและประพฤติมิชอบเกิดขึ้นเป็นอันมากในประเทศไทย และสลับซับซ้อนมากขึ้น เมื่อเข้าสู่กระบวนการด้วยวิธีการเหมือนปกติทั่วไปใช้เวลายาวนาน ล่าช้า ทำให้ผู้กระทำผิดได้ประโยชน์โดยไม่สมควร หากสามารถเร่งรัดโดยไม่เสียความเป็นธรรม และมีกระบวนการพิจารณาพิเศษ ควรจะมีศาลที่ทำเรื่องนี้โดยเฉพาะ ให้ผู้พิพากษาชำนัญพิเศษที่เชี่ยวชาญคดีนี้มาพิจารณา คัดเลือกจากคนที่เคยเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาล หรือผู้พิพากษาในศาลอาญาไม่น้อยกว่า 10 ปี จะได้หลักประกันว่ามีผู้พิพากษาที่ชำนาญโดยเฉพาะ ก็จะพิจารณาคดีได้รวดเร็วขึ้น
         

 

นายวิษณุ กล่าวต่อว่า ศาลนี้จะใช้วิธีพิจารณาระบบไต่สวน เช่นเดียวกับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ศาลมีอำนาจเรียกพยานหลักฐานอื่นมาแสดงได้ ส่วนในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนี จะไม่นับช่วงเวลาที่หลบหนี ให้ถือว่าอายุความจะหยุด ดังนั้น จะไม่ขาดอายุความในกรณีที่มีการหลบหนี การประพฤติมิชอบต่างๆ ก็จะดึงมาขึ้นศาลนี้ ส่วนศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ยังคงอยู่ หากรัฐธรรมนูญกำหนดให้อยู่ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบจะครอบคลุมบุคคลทั้งหมด ยกเว้นบุคคลที่ต้องไปขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยศาลชำนัญพิเศษนี้เป็นระบบ 2 ศาล เมื่อพิจารณาเสร็จแล้วสามารถยื่นอุทธรณ์เป็นศาลที่ 2 ได้ ซึ่งต่อไปจะตั้งแผนกมารองรับและจบที่ศาลอุทธรณ์ ระหว่างนี้ ครม.ได้มีมติให้ไปเตรียมการเปิดศาลได้ภายในวันที่ 1 ต.ค.ของปีนี้
         

 

ต่อมาที่ประชุมได้เปิดให้สมาชิก สนช.ขึ้นอภิปรายร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดย นายกล้านรงค์ จันทิก อภิปรายว่า ตนเห็นด้วยที่จะทำให้คดีทุจริตดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น แต่ขอตั้งข้อสังเกต 2 ประการ กับร่าง พ.ร.บ.นี้ คือ 1.การกำหนดอำนาจของศาลอาจไม่ครอบคลุมประเด็นเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้สิทธิโดยมิชอบ เช่น ข้าราชการเบิกค่าเช่าบ้าน ค่าล่วงเวลา จะไม่เข้าข่ายความผิดฐานทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ แต่เป็นความผิดอาญาเรื่องฉ้อโกง เห็นว่าน่าจะครอบคลุมไปถึงกรณีนี้เช่นกัน และ 2.ศาลน่าจะพิจารณาดำเนินคดีทั้งผู้ให้และผู้รับให้อยู่ในศาลเดียวกัน เพราะในกรณีนักการเมืองกระทำผิดเป็นผู้รับจะไปขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ผู้ให้จะขึ้นศาลนี้ ทำให้เป็นการพิจารณาคดีเดียวกันใน 2 ศาล ทำอย่างไรจะเขียนกฎหมายให้ครอบคลุมได้
         

 

นายตวง อันทะไชย อภิปรายว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นการปฏิรูปครั้งใหญ่ของประเทศ เพราะเราเผชิญกับภาวะวิกฤตทางการเมืองในปี 2549 , 2552 และ 2556 มีจุดเริ่มต้นมาจากการทุจริต ที่นำไปการต่อต้านรัฐบาล ชุมนุมยืดเยื้อยาวนาน จนก่อให้เกิดความแตกแยก ถ้ามีศาลนี้ก็จะระงับยับยั้งวิกฤตของประเทศได้ ตนขอตั้งข้อสังเกตว่า ในขณะนี้เรามีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ้าจัดสมดุลไม่ลงตัวกับกลไกใหม่ที่จะเกิดขึ้นจะกลายเป็นปัญหาใหม่ ทำให้การดำเนินการกับคดีทุจริตจะช้า ดังนั้น ต้องดูว่ากลไกใหม่จะเชื่อมโยงได้อย่างไร และเห็นว่าเมื่อจัดตั้งศาลนี้ควรมีศาลนี้ศาลเดียวเพื่อดำเนินการโดยตรงด้วยความรวดเร็ว ไม่ควรมีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีก
         

 

ด้าน นายสมชาย แสวงการ อภิปรายว่า ประเทศไทยมีปัญหาความยุติธรรมล่าช้า นับดูจากรัฐมนตรีที่ติดคุกได้ วันนี้ประชาชนตั้งความหวังอย่างยิ่งที่จะมีศาลดังกล่าว เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการออกระเบียบของศาลให้มีกำหนดเวลาให้เสร็จสิ้นกระบวนการภายใน 2 ปี มีกระบวนการติดตามทรัพย์เอาคืนจากการทุจริต และมีการรณรงค์ต่อต้านการทุจริตให้เป็นรูปธรรม เช่น การพาข้าราชการและนักการเมือง โดยรวมถึงครอบครัวไปทัวร์เรือนจำ ทดลองใช้ชีวิตแบบนักโทษ จะทำให้เกิดความกลัวที่จะโกง
         

 

ส่วน นายมณเฑียร บุญตัน อภิปรายว่า ตนเห็นด้วยที่ใช้วิธีการไต่สวนในศาลนี้ จะทำให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมมากขึ้น และเห็นว่าเรื่องที่รัฐบาลจำเป็นต้องหยิบยกขึ้นมา คือ เรื่องสังคมอุปถัมภ์และการใช้เส้นสาย ซึ่งเป็นปัญหาระดับต้นน้ำ ถ้าไม่มีกลไกจัดการเรื่องนี้หรือความเชื่อเรื่องนี้ จะมีผลต่อเนื่องไปถึงการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมไปถึงปัญหาการเลือกปฏิบัติ ควรเอามาพิจารณาร่วมกับการประพฤติมิชอบด้วย
         

 

ต่อมานายวิษณุได้ขึ้นชี้แจงว่า ในประเด็นของนายกล้านรงค์นั้น ตนขอฝากให้คณะกรรมาธิการของ สนช.พิจารณาปรับปรุงแก้ไขให้ชัดเจนด้วย กฎหมายแฝดที่จะส่งตามมาจะมีวิธีการพิจารณาทั้งหมด ซึ่งเชื่อมทุกทางกับ ป.ป.ช.เมื่อ ป.ป.ช.ไต่สวนชี้มูลเสร็จ ดูประเภทของผู้กระทำผิด ก็จะส่งขึ้นศาลนี้หรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วนที่สมาชิกเห็นว่าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอาจไม่จำเป็น จะมีหรือไม่อยู่ที่รัฐธรรมนูญจะกำหนดต่อไป เป็นเรื่องที่รัฐบาลไม่ก้าวล่วง
         

 

จากนั้น ที่ประชุมได้ลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. .... ด้วยคะแนนเสียง 174 ต่อ 0 งดออกเสียง 5 และตั้งคณะกรรมาธิการ จำนวน 15 คน เพื่อพิจารณาต่อไป