"อุเทน" บ่นอุบ !! "กรธ." ร่างรธน.สุดมโน - จวก "ที่มาส.ว." ตั้งกติกาผูกอำนาจให้ตัวเอง

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

"อุเทน ชาติภิญโญ" ออกโรงอัด "กรธ." ร่างรัฐธรรมนูญสุดมโน โดยการเลือกที่มาของส.ว.นั้นเป็นการตั้งกติกาสร้างอำนาจให้กับตัวเองเพื่อเข้าแทรกแซงการสรรหาส.ว.ในอนาคต - จำกัดสิทธิส่วนบุคคล อย่าสร้างมายาคติครอบงำประชาชน ...

 


วันนี้ (15 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยังคงกำหนดที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในลักษณะการสรรหากันเองของกลุ่มต่างๆ ว่า กรธ.ไม่ควรใช้วิธีการมโนหรือจินตนาการไปเองในการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกติกาสูงสุดของประเทศว่าทำเช่นนั้นเช่นนี้แล้วจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต ทั้งๆที่เคยคุยไว้ว่าจะสร้างประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง กลับจำกัดการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยให้คนไม่กี่คนมาสรรหา ส.ว.ที่ต้องทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชน เข้าข่ายการวางกลไกเพื่อการผูกขาดอำนาจให้แก่คนบางกลุ่มเท่านั้น ซึ่งเป็นการย้อนยุคไปสู่ ส.ว.ลากตั้งมากกว่าจะเป็นพัฒนาการทางการเมือง และเป็นการปิดกั้นกระบวนการเรียนรู้หรือเป็นการคิดแทนประชาชน
         

 

"ในความเป็นจริงผมไม่เห็นด้วยกับการมีอยู่ของ ส.ว.ด้วยซ้ำ เพราะมองว่าที่ผ่านมามักสร้างปัญหามากกว่าสร้างประโยชน์ แต่เมื่อร่างรัฐธรรมนูญกำหนดว่าต้องมี ก็ไม่ควรสร้างมายาคติครอบงำประชาชน โดยเขียนการได้มาของ ส.ว.ในลักษณะผูกขาดอำนาจ ตั้งกติกาสร้างอำนาจให้กับตัวเอง เพื่อเข้าไปแทรกแซงการสรรหา ส.ว.ในอนาคต กรธ.ต้องทบทวนตัวเองให้สมกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช.เคยประกาศว่าจะทำรัฐธรรมนูญให้เป็นสากล ที่ประชาชนต้องมีอิสระทางความคิด" นายอุเทน กล่าว
         

 

นายอุเทน กล่าวต่อว่า ส่วนข้ออ้างที่มีไม่ให้เลือกตั้ง ส.ว. เพราะกังวลว่าจะถูกฝ่ายการเมืองครอบงำนั้น ต้องถามว่ามีเครื่องการันตีอะไรที่ยืนยันว่า ส.ว.ที่สรรหามาเหล่านี้จะไม่ฝักใฝ่พรรคการเมือง เช่นเดียวกับการตั้งเงื่อนไขไม่ให้ครอบครัวของ ส.ส. องค์กรอิสระ หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มาสมัครเป็น ส.ว. เพื่อป้องกันสภาผัวเมีย ก็เป็นการจำกัดสิทธิของบุคคล ทั้งนี้การกำจัดระบบอุปถัมภ์นั้น ทำได้โดยการสร้างกลไกตรวจสอบให้มีประสิทธิภาพ สนับสนุนกระบวนการยุติธรรมให้ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย มีการกำหนดบทลงโทษที่ชัดเจนและมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง เพียงเท่านี้ไม่เฉพาะแต่ฝ่ายการเมืองเท่านั้น ทุกภาคส่วนก็จะโปร่งใสไปด้วย รวมทั้งต้องดูด้วยว่าพฤติกรรมของข้าราชการ นักวิชาการ รวมถึงองค์กรอิสระทั้งหลายก็ล้วนแต่เป็นเหตุทำให้ชาติบ้านเมืองเป็นเช่นนี้ ไม่ควรโทษเฉพาะนักการเมือง แต่สิ่งที่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.พยายามยัดเยียดลงไปในรัฐธรรมนูญ เป็นการสร้างเงื่อนไขเพื่อควบคุมนักการเมืองมากกว่าที่จะสร้างระบบตรวจสอบที่เข้มแข็ง ซึ่งจะเชื้อแห่งความขัดแย้งในอนาคตหากมีการนำมาบังคับใช้จริงอย่างแน่นอน
         

 

"เราต้องไม่ยอมรับการครอบงำประเทศไทย ด้วยความคิดของคนพวกนี้ รุ่นนี้อีก และเขาเหล่านั้นต้องหยุดทำร้ายประเทศด้วยการสร้างมายาคติให้เกิดความเชื่อแบบผิดๆอีก ถึงเวลาที่ต้องเลิกให้คนกลุ่มนี้มีบทบาทในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่อไป เพราะปล่อยไว้ก็คงไม่ผ่านประชามติ ทำให้เกิดปัญหาขึ้นอีก" นายอุเทน กล่าว