"ภาคประชาชน" จวก "กฤษฎีกา" ตีความการใช้เงิน "สปสช."แบบไม่เข้าใจระบบสุขภาพ

ติดตามข่าวสารที่ www.tnews.co.th

 

เครือข่ายภาคประชาชน ออกแถลงการณ์จวกกฤษฎีกา ตีความใช้เงิน สปสช. แบบไม่เข้าใจระบบสุขภาพ มีมุมมองด้านเดียว ผิดหวังกับ สธ.จุดยืนแกว่ง ทำให้ทุกอย่างยุ่งยาก
      

      

วานนี้ (14 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง เครือข่ายภาคประชาชน 12 องค์กร อาทิ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ เครือข่ายแรงงาน เครือข่ายผู้สูงอายุ เครือข่ายคนพิการ เครือข่ายผู้ป่วยเรื้อรัง ไต และอื่น ๆ ฯลฯ ประกาศแถลงการณ์สนับสนุนเจตนารมณ์กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ภายในงานเวทีวิชาการ “เจตนารมณ์และหลักการ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 จุดเริ่มต้นและอนาคต” จัดโดยอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ด้านบริการสุขภาพ
      
      
โดยแถลงการณ์ดังกล่าวระบุ ถึงกรณีคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความการใช้งบของ สปสช. ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์กฎหมาย โดยยึดเอาเฉพาะคำนิยามค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสุขภาพ ตามมาตรา 3 ของ พ.ร.บ. ที่มี 12 รายการ โดยไม่โยงกับมาตราอื่น ๆ ทำให้ตีความว่าค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข ไม่รวมค่าตอบแทนและค่าสาธารณูปโภค ทั้งที่หากดูตามมาตรา 46 (2) กำหนดค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่า ครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการในส่วนเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากรด้วย ถือเป็นการตีความแบบไม่เข้าใจ หรือกรณีเงินกองทุนไม่สามารถจ่ายให้หน่วยงานในระดับจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อใช้ในการพัฒนาบุคลากรใช้ในการกำกับติดตามผล การดำเนินงานบริการสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องการป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพ เพราะตีความมาตรา 38 ในมุมมองด้านเดียว คือ การจัดบริการตามกรอบคำนิยามค่าใช้จ่ายบริการสุขภาพเท่านั้น ทั้งที่ในมาตรา 38 ระบุชัดว่ากองทุนมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย สนับสนุน และส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ เพื่อส่งเสริมให้คนเข้าถึงบริการ
      
      
ด้าน นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา และกรรมการชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า การตีความเช่นนี้สะท้อนว่าไม่เข้าใจในระบบสุขภาพ อย่างโรงพยาบาลในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นพื้นที่เสี่ยง ช่วงเวลากลางคืนต้องเปิดไฟ และมีการจ้าง รปภ. มาดูแล 2 - 3 คน เพิ่มเติมจากแห่งอื่นอาจมี รปภ. เพียง 1 - 2 คน ทำให้พื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้มีค่าน้ำ ค่าไฟเพิ่มมากกว่าที่อื่น แต่ถ้าห้ามการจ่ายเงินดังกล่าว รพ.จะหาเงินจากไหน เนื่องจากที่ผ่านมาเงินจากสิทธิรักษาต่าง ๆ ทางรพ. ก็จะนำมารวมเป็นเงินบำรุง เพื่อบริหารจัดการกันเอง เรื่องนี้ตนไม่ต่อว่ากฤษฎีกา แต่ผิดหวังกับ สธ. ที่ไม่มีจุดยืนชัดเจน เพราะหาก สธ. ยืนยันตามการตีความที่เป็นไปตามกรอบของ พ.ร.บ. หลักประกันฯ ทุกอย่างก็จบ ซึ่งในกระทรวงทราบดี แต่กลับทำเรื่องให้ยุ่งยาก
      
      
ขณะที่ ภญ.ดาริน จึงพัฒนาวดี หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค รพ.ด่านซ้าย อ.ด่านซ้าย จ.เลย และตัวแทนชมรมเภสัชชนบท กล่าวว่า กรณีกฤษฎีกาตีความเรื่องการห้าม สปสช. จัดซื้อยารวมนั้น เป็นเรื่องเสียโอกาสมาก เพราะการให้รพ.มาจัดซื้อเอง นอกจากไม่เป็นระบบ ยังได้ราคาแพงอีก อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องการจัดซื้อยาสืบเนื่องจาก คตร. บอกให้ สปสช. หากต้องจัดซื้อยาในระบบยารวมหรือ VMI ต้องขออนุมัติจาก คตร. ก่อนทุกครั้ง ซึ่งกระบวนการเช่นนี้ ทำให้การจัดซื้อยาล่าช้า เห็นได้จากเมื่อสัปดาห์ก่อนที่ รพ.ด่านซ้าย ได้ขอเบิกยาต้านไวรัสเอชไอวี ทั้งกลุ่มพื้นฐาน คือ ยา เอแซดที (AZT ) ยาลามิวูดีน (Lamivudine) ยาเอฟฟาไวเรนซ์ (Efavirenz) อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังพบหยิบยืม รพ. ข้างเคียงได้ แต่หากภายใน 1 - 2 เดือนยังมีปัญหาอีก ย่อมกระทบต่อผู้ป่วยแน่นอน โดยตนจะทำหนังสือสอบถามไปยัง สปสช. เกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย

 

ภาพ : chaoprayanews.com