"ก.เกษตรฯ" เผย! ครม. ผ่านงบกว่า 4.5 พัน ลบ. รับซื้อยางพารา พร้อมแจง!! หลักเกณฑ์-ขั้นตอนการปฎิบัติ

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ http://www.tnews.co.th

          วันนี้ (21 ม.ค. 59) พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณในการซื้อยางโดยตรงจากเกษตรกร โดยให้การยางแห่งประเทศไทย รับซื้อยางจากเกษตรกรสวนยางรายย่อยในลักษณะประกอบธุรกิจโดยตรง ส่วนแหล่งที่มาของเงินสนับสนุนมอบหมายให้สำนักงบประมาณ เป็นผู้จัดหางบประมาณ จำนวน 5,479 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินรับซื้อจากเกษตรกรสวนยาง 4,500 ล้านบาท  ค่าจ้างแปรรูป ค่าขนส่ง 739 ล้านบาท ค่าเก็บรักษา 150 ล้านบาท ค่าดำเนินการของหน่วยงานตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 2% จากวงเงิน 90 ล้านบาท ภายใต้หน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก คือ การยางแห่งประเทศไทยและหน่วยงานสนับสนุนอีก 4 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ องค์การคลังสินค้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติและสำนักงบประมาณ

 

          หลักเกณฑ์โครงการรับซื้อยางพารา

          1. เกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทยตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย 2558

          2. มีบัญชีกับธนาคารการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

          3. ได้สิทธิ์ไม่เกินรายละ 15 ไร่ (จำนวนเศษปัดเป็น 1 ไร่) ไร่ละ 10 กิโลกรัม รวม 150 กิโลกรัม

          4. จุดรวบรวม 1,500 จุด ทั่วประเทศ โดยเน้นจุดที่เป็นวิถีของตลาดปกติเป็นหลัก

          5. แต่ละจุด คณะกรรมการประจำจุด ประกอบด้วย

                 5.1 เจ้าหน้าที่การยางแห่งประเทศไทยในพื้นที่

                 5.2 เจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่

                 5.3 เจ้าหน้าที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติในพื้นที่

                 5.4 เจ้าหน้าที่มหาดไทยในพื้นที่

                 5.5 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินในพื้นที่เป็นผู้สังเกตการณ์

          ขั้นตอนการปฏิบัติในการรับซื้อยางพารา

          1. เกษตรกรนำน้ำยาง ยางก้อนถ้วย ยางแผ่นดิบ มาที่จุดรวมยาง

          2. แสดงบัตรขึ้นทะเบียนการยางแห่งประเทศไทย และบัตรประชาชน เพื่อลงทะเบียน

          3. ส่งมอบยางให้เจ้าหน้าที่เพื่อตรวจคุณภาพและชั่งน้ำหนัก

          4. เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลในระบบอิเล็กทรอนิกส์ (ปริมาณ ประเภทยาง จำนวนเงิน) และออกเอกสารเป็นหลักฐานให้เกษตรกร 1 ฉบับ

          5. เจ้าหน้าที่ส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ในการรับซื้อแต่ละวันให้แก่ธนาคารการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

          6. ธนาคารการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกรภายใน 2 วัน

                 7. จากจุดรวมยางไปยังผู้ประกอบการ บันทึกข้อมูลลงระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ทั้งปริมาณยาง ประเภทของยาง และสถานที่รับปลายทาง

                 8. ข้อมูลการปฏิบัติจะจัดทำ Application ให้ทุกคน download ได้ตลอดเวลา เพื่อร่วมกันติดตามโครงการและสร้างความโปร่งใส