วาทะเผ็ดร้อน !! "ภัทระ" โต้เดือด "ดร.เดชรัต" ปมสิทธิชุมชน หายไปไหน

ติดตามข่าวสารข้อมูล www.tnews.co.th

 

"ภัทระ คำพิทักษ์" หนึ่งในกรธ.   ยัน..สิทธิประชาชน-ชุมชนไม่ได้หายไปไหน.. แต่ย้ายหมวดอยู่ในหมวดว่าด้วยหน้าที่ของรัฐ    -ด้าน "ดร.เดชรัต" ออกโรงโต้ "สิทธิชุมชน" ได้หายไป หลังจากที่ขึ้นอยู่กับกระบวนการในชั้นศาล

 


 
วันนี้ ( 1 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่นายภัทระ คำพิทักษ์ หนึ่งในคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน โพสต์ข้อความบนเฟชบุ๊คส่วนตัว หลังมีเสียงภาคประชาชนวิจารณ์ เนื้อหาในรัฐธรรมนูญร่างแรก โดยเฉพาะเรื่องสิทธิประชาชน สิทธิชุมชนที่หายไป (อ่านโดยนายภัทระยืนยันว่า สิทธิทั้งหมดยังคงอยู่แต่ได้ย้ายไปอยู่ในหมวดว่าด้วยหน้าที่ของรัฐ โดยกล่าวว่าเพื่อทำสิทธิเป็นสิทธิที่กินได้และจับต้องได้

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสข้อความโต้กลับ โดยแสดงความเห็นแย้ง กรณีอ้างว่า สิทธิของชุมชนได้ย้ายไปอยู่ในหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ มาตรา 53

“รัฐต้องอนุรักษ์ คุ้มครอง บำรุงรักษา ฟื้นฟู บริหารจัดการ และใช้หรือจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยต้องให้ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการดำเนินการและได้รับประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าวด้วยตามที่กฎหมายบัญญัติ"

คุณภัทระลองอ่านมาตรานี้ดูใหม่อีกครั้ง  คุณภัทระจะเห็นว่า ประชาชนและชุมชนมีสิทธิแค่ “มีส่วนร่วมในการดำเนินการและได้รับประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าว”

ประชาชนไม่มีสิทธิในการแสดงความเห็นที่จะปฏิเสธหรือไม่รับโครงการดังกล่าว ในรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2550 มาตรา 67 จะใช้คำว่า “จะดำเนินการมิได้ ... เว้นแต่ จะ...มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย...ก่อนการดำเนินโครงการ”

จะเห็นว่า ถ้อยคำสองอย่างนั้นต่างกันมาก เพราะในการรับฟังความเห็นตามรัฐธรรมนูญเดิม ประชาชนและชุมชนมีสิทธิที่จะเสนอความเห็นที่คัดค้านโครงการดังกล่าว แต่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับภัทระ ประชาชนจะสิทธิแค่ร่วมในการ “ดำเนินการ” และได้รับประโยชน์จากการดำเนินการเท่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้น ประชาชนอาจถูกกำหนดให้เข้าร่วมหลังโครงการดำเนินการไปแล้วก็ได้ ในร่างรัฐธรรมนูญมาตรานี้ ประชาชนไม่มีสิทธิแสดงความเห็นปฏิเสธเลย นี่คือสิ่งที่คุณภัทระไม่ได้ชี้แจง

ส่วนในมาตรา 54 ที่คุณภัทระอ้างว่าจะช่วยคุ้มครองสิทธิของประชาชน มาตรานี้เขียนว่า

“การดำเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการ ถ้าการนั้นอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสงบสุข วิถีชีวิตหรือสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน หรือสิ่งแวดล้อม รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาด้วยตามที่กฎหมายกำหนด”

ความเจ็บปวดในมาตรานี้มี 3 ประการ

ความเจ็บปวดประการแรก ก็คือ ในมาตรา 67 ของรธน. 50 ซึ่งเป็นหมวดสิทธิชุมชนจะเขียนไว้ชัดเจนว่า ถ้าจะดำเนินโครงการที่มีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ก็ต้องทำ (ก) การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ข) การรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย และ (ค) การให้ความเห็นประกอบขององค์การอิสระ

เห็นได้ชัดว่าในร่างรธน. ฉบับภัทระ ตัดส่วนที่เป็นการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และความเห็นประกอบขององค์การอิสระออกไป เหลือเพียงการรับฟังความเห็นของประชาชนที่เกี่ยวข้อง นี่คือสิทธิของชุมชนที่หายไปชัดๆ นะครับ

ความเจ็บปวดประการที่สอง ในมาตรา 67 ของรธน. 50 จะกำกับไว้ว่า การดำเนินการตามสามข้อข้างต้นจะต้องดำเนินการให้ครบถ้วน “ก่อนดำเนินโครงการ”

แต่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับภัทระกลับตัดส่วนนี้ออกไป แล้วจะเป็นไปได้หรือไม่? ที่ “การดำเนินการให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วม” ตามที่คุณภัทระร่าง จะเกิดขึ้น หลังจากเริ่มดำเนินโครงการไปบางส่วนแล้ว คำตอบที่ชัดเจนก็คงอยู่ที่คำว่า “ตามที่กฎหมายบัญญัติ”

ซึ่งก็มาถึงความเจ็บปวดประการที่สุดท้าย ตรงคำ “ตามที่กฎหมายบัญญัติ” (ทั้งมาตรา 53 และมาตรา 54) คุณภัทระยังจำได้ รัฐธรรมนูญพ.ศ. 2540 ก็เขียนห้อยท้ายไว้อย่างนี้ แล้วสุดท้ายเป็นไง จวบจนรัฐธรรมนูญถูกฉีกไปในปี พ.ศ. 2549 กฎหมายที่ว่าก็ไม่เคยถูกบัญญัติขึ้นเลย

พอร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 จึงมีการเขียนกำกับไว้ในวรรค 3 ของมาตรา 67 ว่า “สิทธิของประชาชนฟ้องร้องหน่วยงานรัฐเพื่อให้ดำเนินการตามมาตรานี้ย่อมได้รับความคุ้มครอง” เมื่อนั้นแหละครับ ประชาชนจึงไปฟ้องร้อง แล้วรัฐบาลจึงออกหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายบัญญัติมาในปลายปี พ.ศ. 2552 รวมเวลา 12 ปี กว่าที่จะออกมาเป็นกฎหมาย คุณภัทระยังจำได้มั้ยครับ แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับภัทระกลับตัดวรรค 3 ของมาตรา 67 แห่งรธน. 50 ทิ้งไป ขณะเดียวกัน ก็มิได้กำหนดเงื่อนเวลาการร่างกฎหมายฉบับนี้ไว้แน่ชัดในร่างรธน. นี่คือสิทธิของชุมชนที่หายไปจากร่างรธน. ฉบับภัทระ และคุณภัทระก็ไม่ได้ชี้แจงไว้ด้วย

กล่าวโดยสรุปสิ่งที่หายไปเห็นๆ ในเบื้องต้นมี 3 ประการคือ หนึ่ง การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ สอง ความเห็นประกอบขององค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และสาม ความมั่นใจว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนจะต้องดำเนินการให้เรียบร้อยก่อนที่จะดำเนินโครงการ ส่วนที่ยังต้องลุ้นต่อไปคือ กฎหมายที่บัญญัติจะบัญญัติขึ้นเมื่อไร และอย่างไร จะเป็นธรรมกลับพี่น้องประชาชนมากเพียงใด นั่นแหละ สิทธิชุมชนที่หายไป ไม่ใช่แค่ชื่อหมวด

คราวนี้มาถึงประเด็นสำคัญคือ การวางตำแหน่งแห่งที่ของสิทธิชุมชน ในรธน. 40 และ 50 จะระบุไว้ในสิทธิชุมชนไว้ในหมวดแห่ง “สิทธิ” เพราะฉะนั้น เมื่อประชาชนหรือชุมชนฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ประชาชนจะอ้างถึงสิทธิที่ตนถูกละเมิดหรือเพื่อรักษาสิทธิของตนไว้ (ไม่ว่าจะมีกฎหมายบัญญัติเป็นการเฉพาะหรือไม่ก็ตาม)

แต่พอมาถึงร่างรธน. ฉบับภัทระ กลับย้ายไปไว้ในหมดหน้าที่ของรัฐ แปลว่า ต่อไป (หากร่างรธน. ผ่าน) ประชาชนต้องฟ้องร้องต่อศาลปกครองว่ารัฐไม่ทำหน้าที่ ซึ่งรัฐก็จะชี้แจงว่าได้ทำแล้วตามที่กฎหมายบัญญัติ (ซึ่งอาจบัญญัติแบบง่ายๆ ลวกๆ ก็ได้) หรือเจ็บปวดกว่านั้น รัฐอาจว่า “ก็อยากทำเหมือนกัน แต่ยังไม่มีกฎหมายบัญญัติ (เพราะยังร่างไม่เสร็จ)” แล้วประชาชนจะทำอย่างไรครับ? คุณภัทระ

ขอย้ำว่า ถ้าสิทธิชุมชนอยู่ที่เดิม รัฐจะร่างกฎหมายลูกเสร็จหรือไม่ หรือจะร่างดีหรือไม่ดีเพียงใด “สิทธิชุมชน” ยังคงอยู่ และล่วงละเมิดไม่ได้ ชุมชนยังสามารถนำคดีขึ้นสู่ศาลได้ทั้งสิ้น แต่เมื่อย้ายหมวดแล้ว สิทธิชุมชนก็ไม่ใช่ประเด็นในการนำคดีขึ้นร้องขอความเป็นธรรมต่อศาลอีกต่อไป

นี่คือ สิทธิชุมชนที่หายไปจากร่างรธน.ฉบับภัทระ

มาถึงคำชี้แจงของคุณภัทระในสำนักข่าวอิศราที่บอกว่า “สิ่งที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งสวยงามแต่ที่ทราบกันทั่วไปว่า มีปัญหาในทางปฏิบัติอย่างมาก โดยเฉพาะการทำอีไอเอและเอชไอเอ มีนอกมีใน หาคนทำไม่ได้ คนทำเป็นหน้าเดิมๆ หรือมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องและไม่เป็นอิสระอย่างแท้จริง เป็นต้น”

ผมทราบดีครับว่าระบบอีไอเอและเอชไอเอมีปัญหาอุปสรรค เวลาสมาคมนักข่าวฯ (ที่คุณภัทระเคยสังกัด) จัดเวทีเรื่องนี้ ก็มักเชิญผมไปเป็นวิทยากรครับ ในประเด็นนี้ขอถามคุณภัทระสองข้อว่า ประการแรก “สภาปฏิรูปแห่งชาติ” เสนอให้ตัดเรื่องการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพออกไปหรือครับ? ประการที่สอง ถ้าไม่ใช่ ใครเป็นคนเสนอครับ? เพราะเท่าที่ผมรับฟังฝ่ายราชการ ฝ่ายบริษัทที่ปรึกษา และฝ่ายประชาชน ยังไม่เห็นว่าจะมีฝ่ายใดเสนอให้ตัดออกครับ มีแต่เสนอให้ปรับปรุง/เปลี่ยนแปลง หรือทั้งหมดเป็นข้อเสนอที่มาจากคุณภัทระเองใช่มั้ยครับ?

ส่วนอีกคำชี้แจงหนึ่งที่คุณภัทระ “ที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อมีปัญหาขึ้นโรงขึ้นศาล แม้รัฐธรรมนูญจะให้สิทธิชุมชนในการฟ้องร้องหน่วยงานรัฐแค่การกล่าวอ้าง ในศาลเรื่องสิทธิชุมชนนั้นอ่อนกว่าการใช้สถานะความเป็นบุคคลชนิดคนละเรื่องกันเลย”
ผมอยากถามคุณภัทระว่า คดี 76 โครงการมาบตาพุด (หวังว่าคุณภัทระยังจำได้) ประชาชนใช้สิทธิอะไร ในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตราใด? แล้วยังคดีอื่นๆ อีกที่ประชาชนชนะคดีด้วยมาตรา 67 ของรธน. 2550 คุณภัทระลืมไปแล้วเหรอครับ? แล้วการที่คุณภัทระสรุปเช่นนั้น คุณภัทระได้สอบถามความเห็นอย่างเป็นทางการจากศาลปกครองแล้วยังครับ ถ้าถามแล้วช่วยนำความเห็นจากศาลมาให้ประชาชนได้ศึกษาด้วย หรือถ้าคุณภัทระสรุปเอาเองรบกวนช่วยแจ้งด้วยนะครับ ผมจะได้สอบถามไปยังศาลปกครองต่อไป

ผมยินดีอย่างยิ่งที่จะได้รับความเห็นและคำชี้แจงจากคุณภัทระอีกครับ

แต่ ณ ขณะนี้ ผมขอใช้สิทธิของผมที่จะปฏิเสธร่างรัฐธรรมนูญฉบับภัทระ ด้วยเหตุผลที่ชี้แจงมาข้างต้นครับ

ที่มา .isranews.org