"ปริญญา" ชำแหละร่างรธน.เป็นฉากๆ !! หวั่นนายกคนนอก  ตามรอยวิกฤตปี 35

ติดตามข่าวสารข้อมูล www.tnews.co.th

 

"ปริญญา"  โผล่ชำแหละ "ร่างรธน.มีชัย" ทำให้พรรคการเมืองใหญ่ด้อยลง ส่วนรัฐบาลเข้มแข็ง ฝ่ายค้านอ่อนแอ  ต่างจากของบวรศักดิ์ ที่ได้รัฐบาลส่วนผสมที่อ่อนแอ  อำนาจต่อรองไปอยู่ที่พรรคร่วม  -ส่วนการขยายผลวันเลือกตั้งจาก 30 เป็น 60 วัน ถือว่าผิดพลาด  น่าจะประกาศผลไปเลย  เพื่อสอยคนทุจริต   -หวั่นปัญหาซ้ำรอยปี 35 ที่นายกไม่ได้มาจากเสียงของประชาชน
 

 

 


วันนี้ ( 4 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ร้าน dialogue coffee and gallery ถ.ราชดำเนิน จัดงานนิทรรศการภาพถ่าย "ประชาธิปไตยในอนุสาวรีย์" มีการสนทนาในหัวข้อ "ชำแหละร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย" โดยนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ว่า การเลือกตั้งในปี 2554 ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2550 มีปัญหาคือทำให้พรรคใหญ่ได้เปรียบ ได้สัดส่วน ส.ส.เกินจริง และรัฐบาลเข้มแข็งเกินจริง ฝ่ายค้านอ่อนแอ ส่วนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ซึ่งใช้ระบบเลือกตั้งสัดส่วนผสมแบบเยอรมัน จะทำให้ไม่มีพรรคใดที่ได้ ส.ส.มากเกินไป ถือว่าอยู่ในระดับกลางๆ แต่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยนั้น จะทำให้พรรคใหญ่จะได้ ส.ส.น้อยลง รัฐบาลจะเล็กกว่าความเป็นจริง ส่วนพรรคขนาดกลางจะได้ ส.ส.มากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่รัฐบาลผสมที่อ่อนแอ เนื่องจากพรรคขนาดกลางมีอำนาจต่อรองมากขึ้น อย่างไรก็ตาม โรดแมปไม่ควรจะยื่นออกไปอีก ร่างรัฐธรรมนูญควรจะผ่านประชามติ แต่ไม่ใช่ยอมให้ผ่านโดยบอกว่ารับไปแล้วค่อยมาแก้ทีหลัง เพราะฉบับนี้ร่างวิธีการแก้ไขยาก ดังนั้นเราพูดเพื่อให้เกิดการแก้ไขให้ประชาชนยอมรับ จะได้ผ่านประชามติตามโรดแมปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

 

 

 


          นายปริญญา กล่าวว่า ประเด็นการเลือกตั้งโดยใช้บัตรเดียวนั้นประหยัดทรัพยากรมาก ซึ่งในเยอรมันจะแยกส่วนให้เลือกทั้ง ส.ส.เขต และบัญชีรายชื่อในบัตรใบเดียว แต่วิธีของ กรธ. ให้เลือกลงคะแนนเดียวในบัตรเดียว ถ้าพรรคขนาดกลางและพรรคขนาดเล็กอยากได้ ส.ส.ต้องส่งผู้สมัครลงทุกเขต ซึ่งทำให้เสียเปรียบมาก ระบบนี้จะทำให้เกิดการเลือกตั้งที่ไม่หวังชนะ แต่ต้องลงสมัครเพื่อไปเอาคะแนนด้วยความจำเป็น ต้องใช้เงินมากขึ้นเนื่องจากผู้สมัครมากขึ้น จากเดิมที่แยกเป็นสองบัตรก็จบแล้ว ดังนั้นพรรคขนาดกลางและเล็กคงไม่เอา การเลือกได้อย่างเดียวประชาชนจะชอบหรือไม่ จริงอยู่ว่าในกรุงเทพฯ คนเลือก ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อพรรคมักจะเป็นทางเดียวกัน แต่คนต่างจังหวัดมีเยอะที่เลือกเขตกับพรรคไม่เหมือนกัน สิทธิตรงนี้ถูกตัดไปโดย กรธ. ถ้าประชาชนไม่ชอบจะไม่ผ่านประชามติ ตนเห็นว่าการแก้ปัญหาระบบเลือกตั้งในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ทำได้ดีกว่าเยอะ แต่มีจุดอ่อนที่เรื่องคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ส่วนที่ กรธ. อ้างว่าจะทำให้ง่ายขึ้น ที่ผ่านมาเราก็ใช้ระบบบัตรเลือกตั้งสองใบมานานแล้ว แบบนี้จะทำให้คนงงว่าคิดคะแนนยังไงมากกว่า ที่เคยแยกให้เลือกก็เลือกไม่ได้ จึงฟังไม่ขึ้น ตนเห็นว่าระบบที่ดีที่สุดต้องแฟร์ที่สุดเลือกอย่างไรต้องสะท้อนตามนั้น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์เรื่องระบบเลือกตั้งดีกว่าแน่นอน

 

 

 


          นายปริญญา กล่าวต่อไปว่า ระยะเวลาประกาศผลการเลือกตั้งก็มีการขยายจากเดิม 30 วัน เป็น 60 วัน ถือว่าผิดพลาดมาก แนวคิดทั่วโลกเลือกตั้งเสร็จต้องประกาศผลเลย หากใครทุจริตสอยเป็นรายๆ ไป เป็นเรื่องของศาลที่จะตัดสิน ส่วนประเด็นที่มา ส.ว. พัฒนาการของที่มา ส.ว. ทั่วโลกจากเดิมแต่งตั้งหมดก็พัฒนาเป็นการเลือกตั้งหรือยกเลิก ส.ว.ไปเลย แต่ของเรากลับกัน ที่ กรธ.เรียกว่าเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม ถ้าอย่างในประเทศฝรั่งเศสใช้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ประชาชนเลือกมาเลือก ส.ว. แต่ของ กรธ. อ้อมเยอะมาก ทั้งยังให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ทำให้เรายังไม่รู้ว่าจะอ้อมยังไง น่าจะมีหลักที่ชัดกว่านี้ เห็นว่าจะเรียกเลือกตั้งทางอ้อมไม่ได้ เรียกว่าเป็นการสรรหาแบบมีส่วนร่วมมากกว่า ส่วนประเด็นนายกฯ ไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. นั้น กรธ. อธิบายว่าประชาชนจะรู้ก่อนพอฟังได้ ประชาชนเลือกก็ถือว่าประชาชนยอม แต่เป็นเรื่องที่ทำให้เกิดวิกฤตเมื่อปี 2535 จึงทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจ ปัญหาก็ไปอยู่ที่การเลือกตั้งที่ประชาชนต้องประเมินหมดทั้งแบบแบ่งเขต บัญชีรายชื่อ นายกฯ ทุกอย่างอยู่ในคะแนนเดียว การตัดสินใจจะเป็นการเลือกโดยจำใจ

 

 

 


          ส่วนประเด็นศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ นายปริญญา กล่าวว่า มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ 2540, 2550 เป็นรูปแบบของรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่เขียนไว้ครอบจักรวาล ซึ่งปกติฉบับถาวรไม่ควรเขียนไว้ ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยย้ายไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ตัดสิน เป็นการให้อำนาจศาลมากเกินไป เหมือนเอาศาลรัฐธรรมนูญแทนที่ คปป. ทั้งๆ ที่ศาลต้องได้รับความเชื่อถือไม่ให้เอนเอียง ส่วนองค์กรอิสระมีการทำให้คล่องตัวขึ้น มีข้อกังวลที่ผู้ให้ความเห็นชอบกรรมการองค์กรอิสระคือ ส.ว. ซึ่งที่มายังคลุมเคลือ ปัญหาของการให้ศาลมาสรรหาองค์กรอิสระ ทำให้องค์กรอิสระเป็นผู้ใช้อำนาจการเมืองด้วย เหมือนเอากรรมการมาเลือกนักฟุตบอล ความเชื่อถือจึงน้อยลง ดังนั้น การทำให้ศาลเป็นที่ยอมรับคือให้ศาลทำหน้าที่ศาลอย่างเดียว ไม่ต้องมาสรรหาบุคคลใดๆ เพื่อให้ศาลกลับมาได้รับความน่าเชื่อถือ

 

 

 


          นายปริญญา กล่าวถึงประเด็นสิทธิเสรีภาพในร่างรัฐธรรมนูญว่า มีการระบุข้อยกเว้นให้ต้องไม่ขัดต่อความมั่นคงของรัฐ มีปัญหาว่าใครจะตีความ การวิจารณ์ คสช. เข้าข่ายหรือไม่ และต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยซึ่งเป็นคำที่กว้างมาก ซึ่ง 2 คำนี้ไม่เคยปรากฏในรัฐธรรมนูญเลย ทั้งยังมีคำที่คลุมเคลือและตีความได้อย่างมากมาย จะทำให้การต่อสู้กับกฎหมายที่ขัดสิทธิเสรีภาพจะทำได้ยากขึ้น ทำให้อำนาจรัฐกระทบต่อสิทธิเสรีภาพได้ จึงแย่กว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา กรธ. ควรบอกประชาชนตรงๆ ว่าอะไรเคยมีแล้วหายไป เราอยากฟังเหตุผลว่าเอาออกไปทำไม อะไรที่เคยมีแล้วไม่มีต้องได้รับการยอมรับพอสมควร เราไม่เริ่มต้นจากศูนย์ นี่ไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับแรก เราต้องรู้ว่ามันเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

 

 

 


          นายปริญญา กล่าวถึงบทเฉพาะกาลว่า มาตราสุดท้ายของร่างฯ เป็นการให้อำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 44 จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีใหม่ ถือเป็นครั้งแรกที่การกลับสู่ประชาธิปไตย คณะผู้ยึดอำนาจจะมีอำนาจเต็มก่อนมีคณะรัฐมนตรีใหม่ ทั้งยังมีกระบวนการที่อาจทำให้โรดแมปอาจจะยืดไปมากกว่า 6-4-8-5 ตนเห็นว่าโรดแมปเป็นอย่างไรควรเป็นไปตามนั้น ถ้าประชามติร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะทำอย่างไรก็ไม่เขียนไว้ ส่วนตัวเห็นว่ามี 3 ทาง คือ ร่างใหม่ หยิบเอาฉบับใดฉบับหนึ่งกลับมาใช้ หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวใช้แทน ซึ่งถ้าไม่ผ่านปัญหาทางการเมืองจะอยู่กับ คสช. จะอ้างว่าเป็นเรื่องของ กรธ.ไม่ได้ เพราะท่านแต่งตั้งมา หากต้องร่างใหม่รอบที่สามถือว่าแย่ที่สุด ดีที่สุดต้องช่วยบอกกับประชาชนว่าจะเลือกทางไหน ด้วยการแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ประชาชนควรจะมีสิทธิรู้ว่าจะได้อะไร ถ้าไม่เห็นเลยว่าเลือกแล้วจะได้อะไร เข้าข่ายมัดมือชกประชาชน ประเด็นเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิหรือผู้ใช้สิทธิก็ยังคลุมเครือ ทั้งนี้ ขอความกรุณา กรธ.ว่าอย่างเพิ่งโกรธและด่วนตีความเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เพราะถ้าแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนพอใจก็จะผ่านประชามติ

 

 

 


          นายปริญญา กล่าวทิ้งท้ายว่า ดัชนีวัดความเป็นประชาธิปไตยเมื่อปี 2557 ซึ่งประเมินจากปี 2556 อยู่ที่อันดับ 63 ซึ่งดีกว่าอันดับฟุตบอลทีมชาติ แต่ปัจจุบันมีการประเมินว่าไม่มีประชาธิปไตยให้วัดแล้ว ที่ผ่านมาแม้มีปัญหาเราก็ยังถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง ถ้าเข้าใจว่าต้องมีคนมาห้ามทัพก็แค่ช่วงสั้นๆ แต่ช่วงนี้ชักยาวไปเรื่อยๆ แล้วเกิดความกังวลว่าเมื่อกลับสู่ประชาธิปไตยแล้วจะแย่กว่า ตนจึงพูดด้วยความปรารถนาดีให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติในแบบที่ให้คนรับได้ อย่าให้ประชาธิปไตยเหลือแค่ในอนุสาวรีย์