"พรเพชร" เล็งแก้รธน.ชั่วคราว หากไม่ผ่านประชามติ - ปัดยกยอ-ตำหนิ "กรธ."

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

"พรเพชร วิชิตชลชัย" หนุนให้ร่างรธน.ผ่านประชามติ ปัดยกยอ-ตำหนิ "กรธ." เน้นความเป็นสากล - เล็งแก้รธน.ชั่วคราว หากไม่ผ่านประชามติ หรือ อาจนำฉบับปี 40-50 มาปรับปรุง ถ้าคะแนนห่างกันเล็กน้อย ...

 

วันนี้ (5 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงถึงการอภิปรายความคิดเห็นของ สนช.ต่อร่างแรกรัฐธรรมนูญ ว่า สนช.มีวัตถุประสงค์สนับสนุนให้ร่างนี้ผ่านประชามติ เพื่อให้เดินไปตามโรดแมปที่นายกรัฐมนตรีให้ไว้ว่า จะมีการเลือกตั้งกลางปี 2560 การอภิปรายของที่ประชุมไม่ได้มีเจตนาตำหนิหรือยกยอคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แต่ทำไปเพื่อให้เห็นว่า เราทำหน้าที่ประโยชน์ของชาติ หวังให้ร่างรัฐธรรมนูญมีความสอดคล้องหลักสากล และบริบทของประเทศไทย จนผ่านประชามติ
         

 

นายพรเพชร กล่าวต่อว่า การอภิปรายของเราก็หยิบมาจากข้อสังเกตของสังคม ทั้งสื่อและนักการเมือง หาก กรธ.เห็นว่ามีเหตุผล ก็เชื่อว่าจะแก้ไข เพราะตนทราบว่า กรธ.ไม่ได้มีธงจะไม่ยอมปรับเปลี่ยนแปลงแก้ไข แต่หากไม่แก้ กรธ.ก็ต้องตอบข้อสงสัยแก่สังคม ส่วนประเด็นเรื่องถ้อยความที่สุ่มเสี่ยงจะมีปัญหาการตีความภายหลัง สนช.ก็จะทำหนังสือไปให้ อีกทั้ง สนช.จะประสานงานกับ กรธ.ตลอดเวลา เพื่อร่วมกันทำกฎหมายลูก
         

 

นายพรเพชร กล่าวต่อไปว่า ส่วนข้อถกเถียงเรื่องการลงคะแนนเสียงประชามติ ตนเห็นว่าเสียงชี้ขาดจะใช้เกินหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ ไม่ใช่ผู้มีสิทธิ แต่ก็ยังคงมีคนเห็นต่างอยู่ เนื่องจากในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 เขียนว่าให้ใช้เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ ขณะนี้ตนก็ได้ทำการหารือกับ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย มีแนวโน้มว่าน่าจะต้องทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อให้เกิดความชัดเจน มากกว่าจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ
         

 

"หากประชามติไม่ผ่านนั้น นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.บอกว่าใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวต่อไปก่อน ซึ่งจะต้องมีการกำหนดกลไกต่อไปว่าจะทำอย่างไร เชื่อว่าผู้มีอำนาจคิดไว้เสร็จสรรพแล้ว เพื่อให้มีการเลือกตั้งกลางปี 2560 แต่ยังไม่บอกตอนนี้ ประเด็นทางออกหากทำประชามติไม่ผ่าน ผมเห็นว่าอาจจะแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวหลังผ่านการทำประชามติไปแล้วได้ว่าจะทำอย่างไรต่อ ส่วนตัวคิดว่า หากไม่ผ่านด้วยคะแนนห่างกันเล็กน้อย ก็อาจจะนำมาศึกษา ทำโพลล์ ปรับปรุงต่อไปให้ถูกใจประชาชน หรืออาจหยิบฉบับ 2540 และ 2550 ที่เสนอกันมาปรับปรุงก็ได้ แต่หากแพ้เยอะ ต้องร่างใหม่ทั้งฉบับก็ต้องทำ" นายพรเพชร กล่าว
         

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า แนวโน้มการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องแก้ 2 ครั้ง สำหรับเกณฑ์คะแนนประชามติ และทางออกหากไม่ผ่าน ใช่หรือไม่ ?

 


นายพรเพชร กล่าวว่า ใช่ ก่อนประชามติต้องทำแน่ คือ เรื่องของเสียงประชามติที่ค่อนข้างยุติแล้ว ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้เร็วๆ นี้ ส่วนทางออกจะทำด้วยเลยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)