"รธน.มีชัย" ชวนคาใจ !  “หมวดสิทธิและเสรีภาพ” ทำไมถูกลดทอนบทบาทลง

ติดตามข่าวสารข้อมูล www.tnews.co.th

 

"อิศรา"  ชำแหละร่างรธน.มีชัย  จากการสังเกตพบว่าไม่ให้ความสำคัญ   “หมวดสิทธิและเสรีภาพ”  ทำให้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนถูกริดรอน ทำให้หลักการถอยหลังไปประมาณ 20 ปี

 

 

วันนี้ ( 5 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  จากการศึกษาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช .... (ร่างเบื้องต้น) ฉบับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (ซึ่งในที่นี้จะเรียกว่า “ร่างรัฐธรรมนูญ 59”)เฉพาะหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย โดยการพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญนั้นอาจพิจารณาได้จาก 3 ส่วน กล่าวคือ ส่วนที่ 1 บททั่วไป ส่วนที่ 2 หมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย และ ส่วนที่ 3 สิทธิและเสรีภาพที่อยู่ในส่วนอื่นของรัฐธรรมนูญ ซึ่งในที่นี้จะพิจารณาเฉพาะในส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 เท่านั้น โดยมีข้อสังเกตดังนี้

 

 

 

1. “หมวด 1 บททั่วไป” ของร่างรัฐธรรมนูญ 59 ไม่ปรากฏความของมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญ 50 ที่บัญญัติว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง” ความมุ่งหมายของมาตราดังกล่าวซึ่งอยู่ในบททั่วไปอย่างน้อยมีความมุ่งหมาย 2 ประการ คือ ประการที่หนึ่ง เป็นเสมือนการประกาศอุดมการณ์ของรัฐในการที่จะคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคล ประการที่สอง ประกาศอุดมการณ์ของรัฐดังกล่าวอาจมีผลต่อการคุ้มครองบุคคลที่ไม่อยู่ในขอบเขตของบุคคลตาม หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย เพราะมักมีการตีความว่า “บุคคล” ในหมวด 3 หมายเฉพาะ “คนไทย” เท่านั้น

 

 

 

 

2. หมวด 3 “สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย” โดยทั่วไปแล้วสาระสำคัญในหมวดนี้ของรัฐธรรมนูญ 40 ก็ดี 50 ก็ดี จะมีสาระสำคัญอยู่ 2 ส่วน คือ ส่วนที่หนึ่งว่าด้วย “หลักประกันในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน” ส่วนที่สอง ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งในที่นี้มีข้อสังเกต ดังนี้

 

 

 

 

2.1“หลักประกันในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน” ในหมวดสิทธิและเสรีภาพส่วนนี้เป็นส่วนที่มีความสำคัญที่สุดของการบัญญัติสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เพราะเป็นส่วนที่เป็นหลักประกันจะทำให้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนบรรลุความมุ่งหมาย ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2540 ได้บัญญัติหลักในเรื่องดังกล่าวเป็นครั้งแรกของรัฐธรรมนูญไทย และต่อมารัฐธรรมนูญ 50 ได้ยืนยันและยังได้ปรับปรุงหลักดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น “หลักประกันในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน” มีหลักการสำคัญ 3 หลัก คือ (1) “หลักความผูกพันโดยตรงของสิทธิและเสรีภาพ” (2) “หลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพโดยองค์กรตุลาการ” และ (3) “หลักประกันในการตรากฎหมายจำกัดสิทธิ” จากการศึกษาร่างรัฐธรรมนูญ 59 ไม่ปรากฏ “หลักความผูกพันโดยตรงของสิทธิและเสรีภาพ” และ “หลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพโดยองค์กรตุลาการ” ในขณะที่ “หลักประกันในการตรากฎหมายจำกัดสิทธิ” ซึ่งประกอบด้วยหลักย่อยอีก 5 หลักนั้น ปรากฏว่าบัญญัติไม่ครบทั้ง 5 หลัก ซึ่งขาด “หลักการจำกัดสิทธิและเสรีภาพจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพมิได้” และ “หลักการระบุบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการตรากฎหมายจำกัดสิทธิ”

 

 

 

 

กล่าวโดยสรุป ร่างรัฐธรรมนูญ 59 หมวดสิทธิและเสรีภาพมิได้บัญญัติหลักการที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้หลักประกันในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนบรรลุความมุ่งหมาย ซึ่งหลักที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นศาลได้เคยมีคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาที่ยืนยันหลักดังกล่าวไว้เกือบทุกกรณี การที่ไม่บัญญัติหลักดังกล่าวย่อมส่งผลต่อการใช้และการตีความสิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากองค์กรตุลาการที่ขาดฐานของหลักดังกล่าวที่เคยปรากฏในรัฐธรรมนูญของไทยมาโดยตลอด