ไม่สะเด็ดน้ำ !! สนช.เชื่อ ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ไม่สนองความต้องการของปชช.

ติดตามข่าวสารข้อมูล www.tnews.co.th

 

"สนช." ขอร่วมประชุม รับฟังความเห็นเพื่อประกอบทำร่างรธน.   - โดย "ธานี" หนึ่งในสมาชิกสนช. ไม่เห็นด้วยเลือกตั้งกำหนดให้มี ส.ส.บัตรเดียว เนื่องจากไม่สามารถเลือกตามเจตนารมณ์ได้ เหมือนกินกระเพราะ แต่แถมแกงเขียวหวานเนื้อ แต่ไม่ชอบกิน จะให้ทำอย่างไร -ด้าน "สมเจตน์" ชี้ ยังไม่เห็นการปฏิรูปอย่งแท้จริง รธน.ทำให้สั้น  และหากพบล้มล้างการปกครอง ไม่น่าตัดสิทธิ์เหลือแค่ยื่นให้อสส.องค์กรเดียว เท่ากับตัดสิทธิ์ของประชาชนด้วย   

 

 

 

 

วันนี้ ( 5 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ครั้งที่ 8/ 2559 โดยมีระเบียบวาระการประชุม คือ การดำเนินการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อประกอบการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ของคณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธานในที่ประชุม ทั้งนี้ มี สนช. ที่ได้มีการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกของ กรธ. ทั้งหมด 22 คน

 

 

 


          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการอภิปรายเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยนางสุรางคณา วายุภาพ สนช.กล่าวว่า เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฯ ดูผิวเผินเหมือนสิทธิบางอย่างจะหายไปจากร่าง แต่หากอ่านในหมวด 5 หน้าที่ของรัฐจะเห็นว่าสิทธิไม่ได้หายไปไหน มิหนำซ้ำยังบังคับให้เป็นหน้าที่ของรัฐด้วยซ้ำ ส่วนการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องสิทธินั้นเห็นว่าเป็นเพราะความไม่ไว้วางใจรัฐบาลไม่ใช่รัฐซึ่งจะต้องแยกจากกัน ขณะที่เรื่องการปฏิรูปเห็นว่าควรจะใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน

 

 

 


          นายธานี อ่อนละเอียด สนช.กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับกำหนดให้เลือกตั้ง ส.ส.บัตรเดียว เพราะการเลือกตั้งเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชน หากเลือกใบเดียวจะไม่สามารเลือก ตามเจตนารมณ์ที่แท้จริง เหมือนจะกินกระเพราะ แต่แถมแกงเขียวหวานเนื้อ แต่ตนไม่กินเนื้อ อย่างนี้จะทำอย่างไร นอกจากนี้ เห็นควรให้ตัด บทเฉพาะกาล มาตรา 267 ที่กำหนดให้มีการปฏิรูปตำรวจออกไปและ ไปบัญญัติใส่ไว้ร่างมาตรา 269 เหมือนกับการปฏิรูปในเรื่องอื่นๆ

 

 

 


          พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สนช. กล่าวว่า ไม่พบเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญที่จะทำให้เกิดการปฏิรูป ซึ่งทาง กรธ. อย่าคิดเพียงแต่จะทำให้รัฐธรรมนูญสั้นเท่านั้น ฃ นอกจากนี้ สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญจากเดิมที่หากมีผู้ทราบการกระทำล้มล้างปกครองฯมีสิทธิยื่นให้อัยการสูงสุด (อสส.) หรือ ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่ร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 46 ระบุเพียงแค่ยื่นให้ อสส.เท่านั้น จึงเห็นว่าเป็นการตัดสิทธิประชาชน และควรสิทธิให้สามารถยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ นอกจากนี้ เห็นว่า การเลือกตั้งที่ใช้แบบบัตรเดียวทั้งพรรค ทั้งคนนั้น เห็นว่าสองบัตรจะตอบสนองความต้องการของประชาชนมากกว่า อีกทั้งเดิมรัฐธรรมนูญ 2550 ได้ระบุยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารฯ หากรู้เห็นเป็นใจการทุจริตเลือกตั้ง แต่คนยังไม่กลัว ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่มีเลือกการยุบพรรคตัดสิทธิแล้วการซื้อเสียงจะดีขึ้นอย่างไร นอกจากนี้ ที่มา ส.ว.ที่กำหนดให้แต่ละกลุ่มอาชีพเลือกไขว้ก็ไม่ตอบโจทย์เป็นเพียงแค่วิธีการใหม่ เห็นว่าการสรรหาดีกว่าแม้ที่ผ่านมาจะมีทั้งข้อดีและข้อเสียแต่มีข้อดีมากกว่า และ ส.ว.เลือกตั้งไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลได้

 

 

 


          ด้าน น.พ. เจตน์ ศิรธรานนท์ อภิปรายว่า การเลือกตั้ง ส.ส. ที่ กรธ. กำหนดให้เลือกบัตรใบเดียวนั้น ตนกังวลว่า จะมีการทุ่มซื้อเสียงอย่างมโหฬาร อีกทั้ง เป็นการบีบบังคับให้ประชาชน เลือกคนและพรรคการเมืองไปในคราวเดียวกันเป็นการขัดกับหลักการพื้นฐานในการเลือกของประชาชน ส่วน ส.ว. ที่มีการเลือกกลุ่มอาชีพ โดยดำเนินการเลือกไขว้กลุ่มกันนั้น ตนเห็นว่า มีความยุ่งยาก และไม่สามารถขจัดปัญหาการบล็อกโหวตได้ รวมทั้งจะได้ ส.ว. ที่ไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน ดังนั้น จึงควรให้มีระบบสรรหา โดยเพิ่มคุณสมบัติของ ส.ว. และเพิ่มคณะกรรมการสรรหาที่เป็นบุคคลที่ยอมรับต่อสังคม เพื่อให้ ส.ว. ที่เหมาะสมกับการทำหน้าที่มากขึ้น

 

 

 

 


          ส่วนนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สนช. แสดงความเห็นว่า ในร่างแรกนั้น ไม่ปรากฏการบัญญัติในเรื่องของ การคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชนภายใต้รัฐธรรมนูญ ในบททั่วไป เหมือนกับรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ดังนั้น จึงขอให้ทาง กรธ. นำเนื้อหาเหล่านี้กลับไปใส่ดังเดิม รวมทั้ง กำหนดให้คืนเนื้อหาเกี่ยวกับสิทธิชุมชนกลับมา เนื่องจากเห็นว่า หากตัดสิทธิดังกล่าว โดยโอนไปเป็นหน้าที่ของรัฐ จะให้ชุมชนขาดความเข้มแข็งในการดำเนินงานเพื่อชุมชนของตนเอง ส่วนเรื่องของ ส.ว.นั้น ตนมองว่า การเลือกตั้งจากกลุ่มอาชีพแบบไขว้นั้น อาจจะมีข้อกังขาได้ ดังนั้น เพื่อการแก้ปัญหาในอดีตของ ส.ว. ที่ถูกโจมตีว่า ไม่ยึดโยงกับประชาชน หรือยึดโยงกับฐานการเมืองมากเกินไปนั้น ตนจึงเสนอว่า ขอให้มีกระบวนการสรรหา ส.ว. โดยให้มีคณะกรรมการจากฝ่ายการเมือง 3 คน คือ นายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และจากฝ่ายตุลาการ 3 คน คือ ประธานศาลฎีกา ประธานปกครอง ประธานศาลรัฐธรรมนูญ โดยทั้งหมดต้องไปดำเนินการทาบทามผู้ทรงคุณวุฒิ มาเป็นประธานคณะกรรมการสรรหา เพื่อดำเนินการสรรหา ส.ว. ให้ได้จำนวน 2 เท่าของจำนวน ส.ว. ในสภา คือ 400 คน แล้วให้ประชาชนทั้งประเทศ เลือกตั้ง ส.ว. ที่ผ่านการสรรหามาแล้ว ให้เหลือ 200 คน น่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาความไม่ยึดโยงกับประชาชนได้

 

 

 

 


          นายกล้าณรงค์ จันทิก สนช. กล่าววว่า แม้การเลือกตั้งโดยใช้บัตรใบเดียว จะเป็นการส่งเสริมให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง แต่เห็นว่าสังคมยังไม่พร้อมควรเลือกแบบบัตรสองใบ พรรคกับคนจะสะท้อนคามต้องการของประชาชนมากกว่า ขณะที่การสรรหา ส.ว.ที่ให้เลือกไขว้นั้นควรเป็นการสรรหา พร้อมขยายฐานการสรรหาให้ใหญ่ขึ้นเพื่อแก้ปัญหาที่ผ่านมา เพราะการเลือกไขว้ไม่แก้ปัญหาบล็อกโหวตหรือทำให้ได้คนดี ซึ่งสิ่งที่ตนเสนอไม่ได้โจมตีรัฐธรรมนูญแต่ต้องการให้รัฐธรรมนูญดีที่สุด

 

 

 


          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังที่มีการอภิปรายร่างฯ จาก สนช. กว่า 5 ชั่วโมงแล้ว จากนั้น นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. ได้สั่งปิดประชุมเมื่อเวลา 17. 52 น. ทั้งนี้ ความเห็นทั้งหมด คณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะและรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญจะทำหน้าที่รวบรวมเพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอส่งไปให้ กรธ.ต่อไป