"เสธ.อู้" แนะกรธ.แจงให้ชัดปม "บัตรลต.ใบเดียว-ส.ว." - เชื่อโรดแมปลากยาวถึงปี 61 !!

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

"พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช" เห็นด้วยกับระบบเลือกตั้งส.ส. เขตและปาร์ตี้ลิสต์ ควรบัญญัติที่มาส.ว.และควรระบุเหตุผลและข้อดีของบัตรเลือกตั้งใบเดียวให้ชัดเจน - เชื่อโรดแมปเลือกตั้งลากยาวถึงเดือนเมษายน 2561 ตั้งข้อสังเกต "สมัยการประชุมสภาฯ" 2 ครั้ง หวั่นออกกฎหมายล่าช้า ...

 

วันนี้ (9 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่รัฐสภา การประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดยมี ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท.เป็นประธานการประชุม มีวาระการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นวันที่ 2
         


โดย พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิก สปท.และอดีตโฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ชุดนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อภิปรายว่า ตนเห็นด้วยกับระบบเลือกตั้ง ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อ แต่อยากทราบข้อดีและเหตุผลของการใช้บัตรใบเดียว รวมถึงความง่ายและการประหยัดงบประมาณนั้น คุ้มค่ากับสิทธิที่จะเสียไปในการที่จะเลือกพรรคและเลือกคนในใบเดียวหรือไม่ และคนที่เสียประโยชน์มีมากน้อยแค่ไหน เท่าที่พบพรรคเล็กจะเสียประโยชน์มาก พรรคเหล่านี้จะไม่มีโอกาสได้คะแนนบัญชีรายชื่อจากคนที่สนับสนุนเลย ทั้งนี้ มาตรา 86 อนุ 4 จะมีปัญหาแน่นอนในการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากผู้มาใช้สิทธิ์ทั้งหมด เพราะหลักการคำนวณยังไม่ชัดเจนเพียงพอ
         


พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ระบบบัตรเลือกตั้งใบเดียว จะทำให้คนที่ได้เป็น ส.ส.ต้องอกสั่นขวัญหายในช่วง 1 ปี เพราะหากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แจกใบแดง ก็ต้องมาคิดคำนวณคะแนนในส่วนของพรรคที่ถูกใบแดงใหม่ อาจจะทำให้พรรคที่ถูกใบแดงเสียที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ ส่วนการได้มาซึ่ง ส.ว.อยากให้บัญญัติให้ชัดเจนกว่านี้ เพื่อป้องกันปัญหาช่วงของการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เนื่องจากขณะนี้ กรธ.ระบุวิธีการได้มาจากการเลือกกันเองและการเลือกไขว้ไว้เท่านั้น ขณะที่กระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ให้พรรคการเมืองเสนอชื่อล่วงหน้า 3 คนนั้น อยากฝากเพิ่มเติมคือ ในกรณีที่พรรคการเมืองเสนอชื่อคนเป็นนายกฯ ที่ไม่ใช่ ส.ส.ถ้าสภาฯ จะลงมติเลือกควรมีเสียง ส.ส.สนับสนุนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมดในสภา
         


พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับโรดแมปเลือกตั้ง ส่วนตัวมองว่าคงเลือกตั้งได้ในเดือน เม.ย.ปี 61 เพราะกระบวนการของ กรธ.ยืดยาวมาก ถ้าเขียนไม่กระชับจะไม่เป็นไปตามโรดแมปที่นายกฯพูด เพราะ กรธ.มีขั้นตอนทั้งการพิจารณากฎหมายลูก 10 ฉบับ ในเวลา 8 เดือน การส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาอีก 2 เดือน รวมทั้งการให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระถูกสอบความชอบธรรมของกฎหมาย ซึ่งอาจจะต้องส่งกลับไปให้ สนช.แก้กฎหมายอีก แค่ขั้นตอนการปรับแก้กฎหมายเลือกตั้งก็ใช้เวลากว่า 1 ปีแล้ว ส่วนการแก้รัฐธรรมนูญตามมาตรา 253 มีโอกาสเป็นศูนย์ เพราะโอกาสที่ฝ่ายค้านในประเทศไทยจะโหวตให้รัฐบาลไม่มีทาง จึงไม่มีโอกาสแก้รัฐธรรมนูญได้เลย อีกทั้งบางเรื่องจะแก้ไขได้ต้องผ่านการทำประชามติ จึงคิดว่าเมื่อรัฐธรรมนูญไม่ใช่ศิลาจารึก ก็ควรแก้ไขได้ตามความเหมาะสม และขอตั้งข้อสังเกตเรื่องสมัยการประชุมสภาฯ ที่ตามร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีเฉพาะสมัยประชุมสามัญปีละ 2 ครั้งเท่านั้น ไม่มีสมัยนิติบัญญัติเหมือนที่ผ่านมา จะทำให้การออกกฎหมายล่าช้า รวมถึงเรื่องหลักนิติธรรมในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเพียงแค่ 2 มาตราเท่านั้น ทั้งที่การทำงานของบ้านเมืองและหน่วยงานต่างๆ จะใช้คำว่าหลักนิติธรรมตลอด