"สกศ." จับมือ "ทีดีอาร์ไอ" ดูข้อมูลผลิตคนตรงตลาดแรงงาน

ติดตามข่าวสารที่ www.tnews.co.th

 

"สกศ." จับมือ "ทีดีอาร์ไอ" ดูข้อมูลผลิตคนตรงตลาดแรงงาน เพื่อวางแผนผลิตทรัพยากรมนุษย์ เผยจบปริญญาตรีว่างงานมากสุด

 

 

วันนี้ (9 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร. กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา เผยว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดทำโครงการศึกษาทบทวนความต้องการกำลังคน เพื่อใช้วางแผนการผลิตและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ เนื่องจากประเทศไทยมีปัญหาความไม่สอดคล้องระหว่างความต้องการกำลังคน และการผลิตกำลังคนในเชิงปริมาณและคุณภาพ หากไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจัง ในเชิงปริมาณจะเกิดปัญหาการว่างงาน และปัญหาการขาดแคลนกำลังคน ในขณะที่ด้านคุณภาพ ความต้องการกำลังคนทุกระดับมีปัญหาในเรื่องสมรรถนะหลัก (Core competency) เพราะการจัดการศึกษาส่วนใหญ่เป็นไปตามความต้องการของสถานศึกษา มากกว่าความต้องการของตลาดแรงงาน หรือทิศทางการพัฒนาของประเทศ โดยแบ่งการศึกษาแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรก เป็นการทบทวนเชิงสังเคราะห์นโยบายและแผนด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนและทิศ ทางเศรษฐกิจของประเทศไทย และระยะ 2 เป็นการพยากรณ์ความต้องการและการผลิตกำลังคนสู่ตลาดแรงงานทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อเป็นฐานข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้กำลังคนจะนำไปใช้ในการดำเนินงานวางแผนผลิตและพัฒนากำลังคนต่อไป

 

ด้าน รศ.ดร. ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ผลการศึกษาระยะแรกพบว่า การจัดลำดับ ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยอยู่ในอันดับที่ 31 จาก 144 ประเทศในเวทีเศรษฐกิจโลก หรือ WEF และสูงเป็นอันดับที่ 6 ของอาเซียน สถานการณ์แรงงานของประเทศไทย มีกำลังแรงงานประมาณ 39 ล้านคน มีผู้ว่างงาน 3.26แสนคน หรือ ร้อยละ 0.84 โดยเฉพาะระดับปริญญาตรี มีผู้ว่างงานมากที่สุดจำนวนประมาณ 9 หมื่นคน รองลงมาคือ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 8หมื่นคน และระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่า 7 หมื่นคน

 

รศ.ดร. ยงยุทธ กล่าวต่อไปว่า สำหรับภาคเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ ภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตร พบว่า ผู้มีทำงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคบริการจำนวน 16 ล้านคน รองลงมาเป็นภาคเกษตร จำนวน 13 ล้านคน และภาคอุตสาหกรรม 9 ล้านคน จะเห็นว่า ภาคบริการมีความต้องการแรงงานเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ผลการประมาณการความต้องการกำลังคนจำแนกตามรายสาขาเศรษฐกิจเฉพาะกรุงเทพฯ พบว่า สาขาโรงแรมและภัตตาคาร 5.5หมื่นคน การขายส่ง การขายปลีก และขนส่ง-สถานที่เก็บสินค้า 2.9 หมื่นคน และการคมนาคม 2.2 หมื่นคน ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรม คือ สาขาปิโตรเคมีและเคมี สาขายานยนต์และชิ้นส่วน 4.5 พันคน ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง 4.4 พันคน และผลิตภัณฑ์พลาสติก 4.0 พันคน ส่วนภาคเกษตร คือ การเกษตร 2.3 พันคน และการเลี้ยงสัตว์ฯ 219 คน เป็นต้น

 

ภาพ : www.uasean.com