"มีชัย" ยันชัด !! ไม่มีร่างรธน.สำรอง - เล็งปรับแก้ "สิทธิชุมชน" หลังถูกท้วงเยอะ

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

"มีชัย ฤชุพันธุ์" เล็งปรับแก้หมวดสิทธิชุมชน ตามความกังวลของผู้ทักท้วง และจะไม่มีร่างรัฐธรรมนูญสำรองแน่นอน - เชื่อถ้าปชช.ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องจะไม่มีปัญหาในการลงประชามติ แต่ไม่ใช่หลักประกันในการยอมรับร่างรธน.ฉบับนี้ ...

 

วันนี้ (10 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีข้อเสนอจากนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจะนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยมาปรับแก้โดยไม่ต้องทำประชามติอีก ว่า เป็นเรื่องของรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเป็นผู้พิจารณา ไม่ใช่หน้าที่ของ กรธ. ซึ่งตนไม่ทราบเรื่องนี้จึงต้องไปถามคนที่พูดเอง เพราะ กรธ.อยู่ในช่วงรับฟังและจะปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญให้ดีขึ้น เช่น กรณีสิทธิชุมชนที่มีความกังวล ทาง กรธ.ได้รับทราบแล้ว แต่จะปรับเปลี่ยนอย่างไรจะมีการพิจารณาอีกครั้ง ยืนยันว่า ไม่มีร่างรัฐธรรมนูญสำรอง เพราะสิ่งที่เคยพูดว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน เห็นของใหม่แล้วจะตกใจนั้น เป็นการเพียงการเปรียบเทียบให้เห็นว่า ไม่ว่าอย่างไรคนที่มาร่างก็จะต้องมีการกำหนดบทบัญญัติซึ่งอาจจะแรงกว่า ไม่ใช่มีการเตรียมรัฐธรรมนูญสำรองเอาไว้ ทั้งนี้ต้องให้ประชาชนดูเนื้อหา จะได้เกิดความร่วมมือ แต่หากไปเผื่อหนทางไว้ล่วงหน้า จะเกิดปัญหาที่ทำให้ประชาชนเกิดการชั่งน้ำหนัก กรธ.จึงไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้
         

 

นายมีชัย กล่าวต่อไปว่า มีความเป็นไปได้ที่อาจจะนำเอามาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 เกี่ยวกับเรื่องสิทธิชุมชนกลับมาบรรจุไว้ทั้งหมด หรืออาจจะปรับปรุงในบางส่วน ซึ่งต้องชั่งน้ำหนัก เพราะมีหลายด้าน แต่ยืนยันหลักคิดเกี่ยวกับการกำหนดเป็นหน้าที่ของรัฐ แทนที่จะกำหนดเป็นสิทธิของประชาชน เพราะคนเริ่มรู้แล้วว่าการกำหนดเป็นหน้าที่ของรัฐดีอย่างไร ทำให้มีคนขอให้แปลงหลายเรื่องมาเป็นหน้าที่ของรัฐ จน กรธ.กังวลว่าหากกำหนดเช่นนั้นหมด จะเท่ากับมัดมือรัฐ และ กรธ.คิดว่าการกำหนดเป็นหน้าที่รัฐให้หลักประกันกับประชาชนในเรื่องสิทธิมากกว่า และยืนยันว่าประชาชนยังมีสิทธิฟ้องรัฐ โดยในแต่ละส่วนจะมีกฎหมายรองรับอยู่แล้ว
         

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่มีเสียงท้วงติงว่าแม้ร่างรัฐธรรมนูญจะให้ความสำคัญปราบปรามการทุจริตแต่กลับให้ประธานรัฐสภา ซึ่งเป็นนักการเมืองใช้ดุลยพินิจในการตัดสินใจส่งศาลหรือไม่ กรณีสงสัยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ?

 


นายมีชัย กล่าวว่า ได้เห็นเนื้อหาส่วนนี้และบันทึกถึงข้อกังวลดังกล่าวไว้แล้ว รวมถึงมาตรา 265 ที่มีถ้อยคำขัดแย้งกันเองในเรื่องกรอบเวลาของการร่างมาตรฐานจริยธรรมขององค์กรอิสระ ซึ่งจะต้องมีการปรับแก้ใหม่
         

 

เมื่อถามถึงข้อห่วงใยเรื่องสิทธิชุมชน องค์กรผู้บริโภค สิทธิผู้พิการ รวมถึงมาตรา 190 ที่เคยบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 ?

 


นายมีชัย กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ กรธ.จะนำไปพิจารณา ซึ่งในส่วนมาตรา 190 เดิมมีอยู่แล้ว แต่เปลี่ยนมาตราไปเท่านั้น เชื่อว่าหากประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญจะไม่มีปัญหาในการทำประชามติ แต่ตนไม่เคยพูดว่า ผลจากการทำประชามติ จะเป็นหลักประกันให้กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพียงแต่บอกว่าร่างรัฐธรรมนูญจะมีผลบังคับใช้ มีเงื่อนไขว่าต้องผ่านประชามติ โดยหลังจากนี้จะทยอยให้ข้อมูลเกี่ยวกับการปรับปรุงเนื้อหา ก่อนจะถึงการกำหนดร่างสุดท้ายที่จะไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมได้อีกในวันที่ 29 มี.ค. แต่ไม่สามารถระบุได้ว่า จะรับฟังความเห็นจนถึงวันไหน ก่อนที่จะเห็นร่างสุดท้าย
         

 

ส่วนประเด็นระบบเลือกตั้ง นายมีชัย กล่าวว่า กรธ.ยังเห็นว่าการใชับัตรใบเดียวสะท้อนเลือก ส.ส.เขต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายกรัฐมนตรี เหมาะสมแล้ว เพราะมีการสำรวจความเห็นประชาชนมาแล้วต่างเห็นด้วย ส่วนที่มีการท้วงติงว่าจะทำให้เกิดการซื้อเสียงมากขึ้นนั้น ก็ต้องถามกลับว่ามีระบบใดที่จะทำให้ไม่เกิดการซื้อเสียง แต่เชื่อว่าผลจากระบบนี้จะทำให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งมากขึ้น เพราะเสียงของประชาชนมีความหมายมากขึ้นทำให้การซื้อเสียงเป็นไปได้ยากขึ้น และหลังจากร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วไม่มีความกังวลใจใดๆ เพราะได้พยายามทำให้ดีที่สุด รวมทั้งรับฟังความเห็นประชาชน จึงไม่ทุกข์