"สุวพันธุ์" ย้ำข้อเสนอครม.ไม่ใช่อำนาจพิเศษ - จ่อเดินสายถก "คณะสงฆ์" คลี่คลายศึกผ้าเหลือง !!

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

"สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ" เผยข้อเสนอแก้ไขร่างรธน.ของครม.นั้นไม่ถือเป็นอำนาจพิเศษ มุ่งให้ประเทศไม่หลุดไปวังวนเดิม พร้อมให้ประชาชนแสดงความเห็นหากติดขัด ปัดสงวนอำนาจครม. กรธ.พิจารณาหากมีเสียงต่อต้าน - ยันไม่ดีเบตคณะสงฆ์ แต่จะเดินสายลงไปคุยเอง วอนแยกแยะปม "รถหรู-องค์รวมพระพุทธศาสนา" แต่ดำเนินการทางกฎหมายต่อไป ...

 

วันนี้ (19 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่เมืองทองธานี นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีข้อเสนอของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ให้รัฐบาลปัจจุบันใช้อำนาจพิเศษครอบคลุมไปจนถึงหลังการเลือกตั้งและหลังตั้งรัฐบาลใหม่เพื่อป้องกันความแตกแยก ว่า ไม่ถือเป็นอำนาจพิเศษ ข้อเสนอสุดท้ายจะแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ ครม.เป็นห่วงเหตุการณ์ในอนาคตข้างหน้า ส่วนที่สองความเป็นห่วงนั้นอาจทำให้การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลต่อไปติดขัด และอาจทำให้การปฏิรูปประเทศล่าช้า การสร้างความสามัคคีปรองดองก็อาจจะสะดุดลง ส่วนที่สามความเห็นของครม.ที่เห็นควรว่าไทยควรจะมีสองช่วงเวลา คือช่วงแรกช่วงเฉพาะการ และหลังจากช่วงเฉพาะการจะกลับสู่ช่วงปกติ ซึ่งข้อจำกัดใดที่มีในช่วงเฉพาะการก็จะลดลงให้มากที่สุด แต่ทั้งสองช่วงอยู่บนหลักการสำคัญคือต้องมีการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมครม.ยังไม่ได้ลงรายละเอียด เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ด้านการเมือง จึงส่งไปที่กรธ. เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งความเห็นของครม.ถือเป็นส่วนหนึ่งที่กรธ.จะรับฟัง สังคมสามารถอภิปรายแสดงความคิดเห็นได้
         


เมื่อถามว่า มองว่าข้อเสนอดังกล่าวจะกลายเป็นรัฐธรรมนูญที่มีประชาธิปไตยครึ่งใบหรือไม่ ?

 

นายสุวพันธุ์ กล่าวว่า นี่คือวาทะกรรม เราต้องเข้าใจก่อนว่าความเห็นดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะครม.เป็นห่วงประเทศไม่อยากให้กลับไปอยู่ที่เดิม การเสนอข้อเสนอดังกล่าวเพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเดินหน้าต่อไปได้ มีความสามัคคีปรองดอง ทำให้เกิดการปฏิรูปประเทศ ยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวต้องรับฟังความเห็น โดยส่วนตัวตนเป็นคนมองโลกในแง่ดี หากคนไทยมองว่าประเทศไทยต้องการระยะเวลาการเปลี่ยนผ่านสักระยะหนึ่งหรือไม่ เราค่อยมาคิดร่วมกันว่าจะบริหารจัดการประเทศร่วมกันอย่างไร ทางออกนี้อาจจะดีสำหรับประเทศก็ได้

 


เมื่อถามย้ำว่า ข้อเสนอดังกล่าวจะเป็นการสงวนอำนาจไว้หรือไม่ ?

 

นายสุวพันธุ์ กล่าวปฏิเสธว่า ไม่ถือเป็นการสงวนอำนาจ เรื่องดังกล่าวต้องใช้คำพูดที่ตรงกับความตั้งใจของครม. ตนยอมรับว่าเป็นคนหนึ่งที่เสนอเช่นกัน จึงอยากให้ลองพิจารณากันดู และอยากให้มีการหารือร่วมกัน อย่างไรก็ตามกรอบดังกล่าวยังไม่ได้กำหนดเวลาที่แน่นอน อาจจะเป็น 3-5 ปี แต่ในข้อเสนอเขียนไว้ว่าจะต้องไม่นานเกินไป

 


เมื่อถามว่า ข้อเสนอดังกล่าวจะทำให้รัฐบาลใหม่บริหารประเทศไม่เต็มที่หรือไม่ ?

 

นายสุวพันธุ์ กล่าวว่า ไม่ใช่แบบนั้น ตนเชื่อว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคตทุกอย่างต้องเกิดจากความเห็นส่วนใหญ่ของสังคม หากไม่เกิดจากเสียงส่วนใหญ่มันก็เดินไปไม่ได้ ส่วนหากมีเสียงต่อต้านข้อเสนอนี้ก็ขึ้นอยู่กับกรธ.ที่จะพิจารณา
         

 

นายสุวพันธุ์ กล่าวถึงกรณีความขัดแย้งของคณะสงฆ์ว่า คงจะไม่มีการดีเบตระหว่างกันแต่จะเป็นการพูดคุยในหลายรูปแบบกับฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น พระผู้ใหญ่ ผู้ที่ดูแลการปกครอง ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกิจการสงฆ์และองค์กรชาวพุทธ ที่มีทั้งคณะสงฆ์และฆราวาส ซึ่งตนและนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี อาจจะไปพบเองหรือมอบหมายสำนักพุทธศาสนา หรือให้คณะสงฆ์คุยกันเองก็ได้ เพื่อหารือถึงสภาพการณ์ปัญหา แนวทางวิธีการและข้อเสนอแนะในการแก้ไข เพื่อให้คณะสงฆ์เข้าใจรับรู้ภาพรวมทั้งหมด ไม่เพียงเฉพาะประเด็นความขัดแย้ง รวมถึงประเด็นการปฏิรูปในอนาคตด้วย ส่วนจะกรอบเวลาในหารือยังไม่สามารถระบุเวลาชัดเจนได้ แต่เบื้องต้นได้มีการพูดคุยกับบางส่วนไปแล้ว
         


นายสุวพันธุ์ กล่าวว่า ในเสนอรายชื่อแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายตนรับผิดชอบเรื่องดังกล่าว โดยจะปรึกษากับนายวิษณุ และพยายามเดินหน้าต่อไปให้ได้ พร้อมขอให้แยกแยะเรื่องคดีรถหรูที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ได้ชี้มูลความผิดไปแล้ว แยกออกจากเรื่ององค์รวมของศาสนา แม้ว่าอาจจะมีความเชื่อมโยงกัน ซึ่งในเรื่องข้อกฏหมายจะต้องดำเนินการต่อไป หากมีความจำเป็นต้องทำความเข้าใจเพิ่มเติมก็จะทำ พร้อมกันนี้ยังปฏิเสธกล่าวถึงหลักเกณฑ์การเสนอชื่อพระสังฆราชที่ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์ เนื่องจากขอดูกระบวนการที่เกี่ยวข้องก่อน อย่างไรตาม ยังยืนยันว่าตนไม่กดดันเพราะทำตามหน้าที่ที่รับผิดชอบ
         


นายสุวพันธุ์ กล่าวด้วยว่า ขอให้ลองยืนนิ่งๆดูบทบาทของเราทั้งประชาชน คณะสงฆ์ ดูบทบาทที่ดีที่สุดที่ส่งผลให้พระพุทธศาสนาเจริญได้ควรจะเป็นอย่างไร ขณะที่มีข้อมูลหลากหลายและควรบริโภคด้วยสติ ไม่มีอคติ ซึ่งส่วนตัวมองว่า หากใช้วิธีการสร้างสรรค์ก็สามารถแก้ไขปัญหาได้ทุกเรื่อง