"กรธ." คอนเฟิร์ม !! นำ "สิทธิเสรีภาพ-ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์" ยัดใส่ร่างรธน.แล้ว

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

"อุดม รัฐอมฤต" เผยกรธ.ได้นำเอา "สิทธิเสรีภาพ-ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์" ใส่ในร่างรัฐธรรมนูญตามฉบับปี 2550 - ยืนยันทุกความเห็นสำคัญเท่ากันหมด - ให้ศาลรธน.วินิจฉัย หากเกิดความขัดแย้งระหว่างองค์กรไม่จบสิ้น ...

 

วันนี้ (19 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่รัฐสภา นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงข่าวถึงความคืบหน้าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอแนะของทุกภาคส่วน ว่า ที่ประชุมได้ปรับหลักการเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ โดยให้มีการบัญญัติถ้อยคำว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การเพิ่มหลักประกันเรื่องสิทธิตามรัฐธรรมนูญในการต่อสู้คดี ในมาตรา 25 ในมาตรา 27 เกี่ยวกับการออกกฎหมายที่จำเป็นต้องจำกัดสิทธิประชาชน จากเดิมที่ให้คำนึงถึงหลักนิติธรรม เปลี่ยนเป็นไม่ขัดหลักนิติธรรม และเนื้อหาเกี่ยวกับความเสมอภาคของบุคคล การเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรมต่อบุคคลจะกระทำมิได้ ที่บัญญัติให้มีความละเอียดมากขึ้น ซึ่งในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แม้กรธ.จะเห็นด้วยในหลักการ และกำหนดในร่างรัฐธรรมนูญหลายส่วนแล้ว แต่เพื่อให้ ประชาชน ภาคประชาสังคม และภาควิชาการเกิดความสบายใจ กรธ. จะนำเอา เนื้อหาตาม มาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 ที่ครอบคลุมสิทธิเสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มาใส่ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญให้เหมือนฉบับที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็นำเอาเนื้อหาจากรัฐธรรมนูญ 2550 ในส่วนของการคุ้มครองสิทธิมาบัญญัติไว้ด้วย เพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิ สามารถนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการต่อสู้คดีตามกฎหมายได้อย่างสมบูรณ์ต่อไป ส่วนข้อเสนอต่อร่างแรกรัฐธรรมนูญของ ครม. ทั้ง 16 ข้อนั้น กรธ.ยังไม่ได้พิจารณา อำนาจจะพิจารณาปรับแก้ตามหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ กรธ. ยืนยันว่า ทุกความเห็นสำคัญเท่ากัน การพิจารณาขึ้นอยู่กับเหตุผลเป็นสำคัญ
         


นายอุดม แถลงต่อว่า ส่วนกรณีบทบัญญัติที่ระบุว่า "เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้การกระทำนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นเป็นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" จากเดิมที่บัญญัติไว้เป็นหน้าที่และอำนาจในหมวดศาลรัฐธรรมนูญ ที่ประชุม กรธ. ให้กลับมาบัญญัติไว้ในบททั่วไปเช่นเดิม ในมาตรา 5/1 โดยเพิ่มเติมด้วยว่า "ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการวินิจฉัยกรณีใดตามความในวรรคหนึ่งเกิดขึ้น ในวงงานของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ ให้สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ แล้วแต่กรณี เสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามหน้าที่และอำนาจต่อไป"
         


"ที่ประชุมมองว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติ มักจะเป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างองค์กร ซึ่งโดยทั่วไปหากแต่ละองค์กรสามารถวินิจฉัยในกรณีที่เกิดขึ้นและได้ข้อสรุป ก็ถือว่ายุติปัญหา แต่หากไม่ได้ข้อสรุประหว่างหรือมีปัญหาระหว่างองค์กร จึงค่อยเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยคำวินิจฉัยที่ออกมาจะถือว่ามีผลผูกพันทุกองค์กร ทั้งนี้ กรณีปัจเจกบุคคลหรือกรณีที่ไม่ได้เป็นมติองค์กรจะยื่นตีความตามมาตรานี้ไม่ได้ ซึ่งหากเป็นกรณีนี้ ก็มีช่องทางอื่นๆที่ยื่นร้องตีความได้ เช่นการยื่นผ่านองค์กรอิสระเพื่อตรวจสอบหากเห็นว่าไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ" นายอุดม กล่าว