"กรุงเทพโพลล์" ชี้ ปชช.ปลื้ม การทำงาน"นายกบิ๊กตู่"เพิ่ม แต่เสียงหนุนรัฐบาล ลดลง

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.Tnews.co.th

กรุงเทพโพล เปิดเผยผลสำรวจพบว่า  ประชาชน มีความพอใจการทำงานของตัวพล.อ.ประยุทธ์ในฐานะนายกฯช่วง 1 ปี 6 เดือน ด้วยคะแนน 7.24 จากเต็ม10 เพิ่มขึ้นจากการประเมินครั้งก่อน 0.13 คะแนน แต่เสียงสนับสนุนให้เป็นนายกลดลงจากครั้งก่อน 0.02 ขณะที่เสียงวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญของนักการเมืองและนักวิชาการ ส่งผลกระทบน้อยต่อการตัดสินใจลงประชามติ

 

วันนี้  (20 ก.พ.)  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง"ประเมินผลงาน 1 ปี 6 เดือน รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,189 คน จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ


      
พบว่า ประชาชนให้คะแนนความพึงพอใจในการบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วง 1 ปี 6 เดือน ที่ผ่านมา เฉลี่ย 5.92 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ซึ่งลดลงจากการประเมินการทำงานรอบ 1 ปี ที่ได้ 5.94 คะแนน และรอบ 6 เดือน ที่ได้ 6.20 คะแนน โดยการสำรวจครั้งนี้รัฐบาลได้คะแนนมากที่สุดในด้านความมั่นคงของประเทศ 7.10 คะแนน และได้คะแนนน้อยที่สุดในด้านเศรษฐกิจ 5.04 คะแนน


        สำหรับความพึงพอใจต่อการปฏิบัติหน้าที่ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วง 1 ปี 6 เดือน ที่ผ่านมา ได้คะแนนเฉลี่ย 7.24 คะแนน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการประเมินรอบ 1 ปี ที่ได้ 7.11 คะแนน โดยการสำรวจครั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้คะแนนเพิ่มขึ้นในทุกด้าน และได้คะแนนมากที่สุดในด้านความเด็ดขาดกล้าตัดสินใจ 7.95 คะแนน ส่วนด้านที่ได้คะแนนน้อยที่สุด คือ ด้านความสามารถสร้างสรรค์ผลงานหรือโครงการใหม่ ๆ ได้ 6.10 คะแนน อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากการเปลี่ยนแปลงพบว่าด้านนี้ได้คะแนนเพิ่มขึ้นสูงกว่าด้านอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน


      
ขณะที่ เมื่อถามว่า"หากวันนี้ ท่านมีสิทธิออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี ท่านจะออกเสียงสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่" พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 58.6 จะออกเสียงสนับสนุน ขณะที่ร้อยละ 21.8 จะไม่ออกเสียงสนับสนุน ที่เหลือร้อยละ 19.6 งดออกเสียง ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับการทำงานครบ 1 ปี รัฐบาล พบว่า เสียงสนับสนุนลดลงร้อยละ 4.5 และเป็นระดับเสียงสนับสนุนที่ต่ำสุดนับจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี


      
นอกจากนี้ เมื่อถามว่า นักการเมืองและนักวิชาการออกมาวิจารณ์ที่ออกมาวิจารณ์ต่อร่างรัฐธรรมนูญ ส่งผลต่อการตัดสินใจในการลงประชามติในระดับใด พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 65.9 ระบุว่าส่งผลน้อย ขณะที่ร้อยละ 34.1 ระบุว่า ส่งผลมาก