"อ๋อย" สวมบทนักตวรจ  !! สับ "ข้อเสนอ ครม. บังคับ รธน. 2 ช่วง"  ชี้ วางอำนาจ "คสช." อยู่ยาวไปอีก 20 ปี

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติม www.tnews.co.th

"จาตุรนต์ ฉายแสง" วิจารณ์แหลก !! ข้อเสนอคณะรัฐมนตรีบังคับ "รัฐธรรมนูญ 2 ช่วง" เป็นการวางอำนาจในมือให้ "คสช." อยู่ยาวไปอีก 20 ปี ชี้ สิ่งเหล่าจะทำให้เกิดความขัดแย้ง

 

วันนี้(20 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงข้อเสนอที่ 16 ของคณะรัฐมนตรี(ครม.) ต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)ให้แบ่งช่วงบังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงเฉพาะกิจ โดยอ้างเหตุผลเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง และช่วงใช้รัฐธรรมนูญปกติว่า เดิมกรธ.ทำให้ในลักษณะได้คืบเอาศอกอยู่แล้ว คือให้คสช.ยังมีอำนาจเบ็ดเสร็จหลังรัฐธรรมนูญผ่านแล้ว ตอนนี้กำลังก้าวไปสู่อีกขั้น คือได้ศอกเอาวา ยังคงให้มีอำนาจเบ็ดเสร็จกำในมือยาวต่อไปอีก รวมกับความตั้งใจให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และมีแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี เท่ากับคณะผู้ที่มีอำนาจอยู่ในขณะนี้ กำกับควบคุมการบริหารปกปครองประเทศต่อไปเป็นเวลานานถึง 20 ปี นอกจาก คสช.อยู่ยาวแล้ว องค์กรอิสระต่างๆ หลายองค์กรก็คงจะเป็นผู้ที่คสช.และรัฐบาล มีส่วนตั้งไว้กว่าจะใช้รัฐธรรมนูญใหม่ เมื่อมาให้ช่วงพิเศษในการเลือกตั้ง รวมถึงการตั้งรัฐบาลก็ไม่เป็นไปตามปกติ มันจะทำให้ประชาชนไม่เหลืออำนาจอะไรเลย จะกลายเป็นวิฤกติอย่างมาก

 

"ตอนนี้ เหมือนกับว่ากรธ.ซึ่งรับงานมาจากคสช.และรัฐบาล กำลังเอาประชาธิปไตยใส่โรง จากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมกับข้อเสนอครม.เหมือนกับเอาโรงลงหลุมคอนกรีต ที่เรียกว่าทำให้ไม่สามารถฟื้นคืนมาได้อีกเลย ทางออกที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง ขอยืมวิธีของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ คือตั้งคำถามว่า หากรัฐธรรมนูญผ่าน จะให้คสช.มีอำนาจต่อไปหรือไม่  และถ้าไม่ผ่านประชามติควรจะให้มีการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใด"นายจาตุรนต์ กล่าว

 

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า การที่ผู้มีอำนาจทั้งหลาย กำลังวางแผนมีอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ต่อไปอีก 20 ปี แต่กำลังอ้างว่า โดยเฉพาะเรื่องที่บอกว่าให้มีอำนาจพิเศษอยู่ในช่วงภาวะไม่ปกติ โดยอ้างว่าถ้าปล่อยให้มีการเลือกตั้งปกติ ความขัดแย้งก็จะกลับมา ซึ่งเรื่องความขัดแย้งจะกลับมา มันก็เป็นความจริงอยู่เหมือนกัน เพราะว่าตั้งแต่ยึดอำนาจมาจนถึงวันนี้ ยังไม่ทบทวนปัญหาในอดีต และยังไม่มีการแก้ไขปัญหาที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในอดีต มีแต่การซ้ำเติมปัญหา เช่น คสช.ทำให้เกิดคู่ขัดแย้งเพิ่มขึ้น โดยคสช.เข้าไปเป็นฝ่ายหนึ่งของความขัดแย้ง ไม่มีความพยามยามที่จะเร่ิมต้นกระบวนการปรองดอง และที่สำคัญ จะทำให้ผลการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน แก้ปัญหาประเทศไม่ได้ และรัฐธรรมนูญนี้ก็แก้ไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ จะทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้นแน่ๆ เพราะฉะนั้น ทางออกไม่ใช่อำนาจพิเศษไว้ เพราะมีแต่ย่ิงเป็นปัญหา แต่ต้องคลายอำนาจคืนให้ประชาชน แล้วมาทบทวนปัญหาในอดีต

เมื่อถามว่า มองว่าทางกรธ.จะยอมรับข้อเสนอแนะของครม.หรือไม่ หลังมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงการสืบทอดอำนาจ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า การที่รัฐบาลมีข้อเสนอออกมา เขาต้องการให้กรธ.ร่างตามมากน้อยแค่ไหน เขาสามารถกระซิบพูดจากันได้อยู่แล้ว เขาคงประเมินสถานการณ์ก่อนให้กรธ.ร่างออกมาอย่างไร แต่ปัญหาคือ การมีข้อเสนอเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงเจตนาที่แท้จริงของผู้มีอำนาจว่าต้องการปกครองประเทศแบบเผด็จการยาวนานมาก อย่างไม่เคยมีมาก่อน และถ้าหากว่าสังคมไม่รู้เท่าทัน เขาก็จะร่วมมือกันทำให้ข้อเสนอเหล่านี้เป็นผลจริงๆ ได้

"เรื่องการทำให้รัฐธรรมนูญเป็น 2 ขยัก ที่อาจารย์มีชัย ฤชุพันธ์ุ ประธานกรธ.บอกยังไม่เข้าใจนั้น ความจริงอาจารย์มีชัย เคยมีประสบการณ์โดยตรง และมีส่วนร่วมโดยตรงกับการร่างรัฐธรรมนูญ 2 ขยักมาก่อนแล้ว เพราะฉะนั้น ตรงนี้อาจจะเป็นการไขสือไปก่อน ถ้าไม่มีเสียงคัดค้านมาก เกรงว่าจะเป็นการสมยอมกัน เพราะว่าเป็นเจตนาร่วมกันอยู่แล้ว และเรื่องนี้สมควรอย่างย่ิง ที่จะเปิดรับฟังอย่างกว้างขวาง เพียงแต่ว่าเวลานี้ รัฐบาลไม่ได้ส่งเสริม และยังหาทางสกัดกั้นความเห็นต่าง และยังพยายามทำให้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่านประชามติให้ได้ต่อไป"นายจาตุรนต์ กล่าว