"วิษณุ" ยันชัด !! เลือกตั้งปีนี้เป็นไปได้ยาก - ปัดห้าม "ปู-ลิ่วล้อพท." ดอดพบยูเอ็น !!

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

"วิษณุ เครืองาม" เชื่อว่าเลือกตั้งปีนี้เป็นไปได้ยาก ซึ่งต้องเดินตามโรดแมปของรัฐบาล ขอบคุณ "พล.อ.ชวลิต" ที่เป็นห่วงชาติบ้านเมือง - ไม่ห้าม "ยิ่งลักษณ์-ชาวเพื่อไทย" เข้าพบยูเอ็น ซึ่งเป็นสิทธิของแต่ละคน ...

 


วันนี้ (26 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์บ้านเมืองต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งในปี 2559 ว่า เรื่องนี้ต้องถามนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. เนื่องจากตนอยู่ภายใต้โรดแมปของรัฐบาล
         

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการเลือกตั้งภายในปีนี้ ?

 

นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นไปได้ยาก เพราะเรายังมีด่านการทำประชามติอยู่ รวมถึงกติกา กฎหมายลูก ที่กำลังดำเนินการ ดังนั้นจะให้เลือกตั้งในปีนี้เป็นไปได้ยาก แต่จะให้เร็วขึ้นได้ เพราะโรดแมปของรัฐบาลไม่ได้กำหนดขึ้นส่งเดชแบบที่ว่ารัฐบาลอยากอยู่ยาว แต่รัฐบาลอาศัยความเป็นจริงของเวลา ที่ต้องเอามาคิดทบทวน ถามว่าข้อเสนอนี้เป็นไปได้หรือไม่ ก็ต้องบอกว่าเป็นไปได้ถ้าไม่ทำประชามติอย่างที่ประชาชนร่ำร้องอยากจะทำ ยืนยันว่าเวลานี้รัฐบาลต้องยึดโรดแมปเป็นหลัก
         

 

เมื่อถามว่า ยืนยันหรือไม่ว่าการเลือกตั้งจะเกิดในเดือนก.ค.2560 ?

 


นายวิษณุ กล่าวว่า ทุกคนในซีกของรัฐบาลต้องยึดโรดแมปที่นายกฯกำหนด ส่วนคนอื่นข้างนอกจะกำหนดอย่างไรก็ไม่เป็นไร เพราะไม่ได้ถูกบังคับด้วยโรดแมป คนของรัฐบาลจะไปพูดอย่างอื่นไม่ได้
         

 

"เมื่อนายกฯกำหนดโรดแมป ทุกคนในรัฐบาลต้องอยู่ภายใต้โรดแมป แต่พล.อ.ชวลิตไม่ได้อยู่ในรัฐบาล หากเสนออย่างอื่นก็คงไม่เป็นไร ถือเป็นสิ่งที่ดีเพราะท่านเป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมือง แต่ในฐานะรัฐบาลที่เป็นคนกำหนดโรดแมป ที่ผูกกับเงื่อนเวลาต่างๆ เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่จะให้สั้นลงได้เกือบปีหรือยาวออกไปอีกก็ทำไม่ได้ เพราะทุกอย่างเป็นไปตามความเป็นจริง ในเมื่อเรามองเห็นว่าตัวกำหนดโรดแมปคือประชามติที่ต้องทำภายใน 120 วัน หากจะเร็วกว่านั้นเดี๋ยวก็มาโวยกันอีกว่าทำประชามติจอมปลอม หลอกลวง หรือทำไม่ทั่วถึง ซึ่งเงื่อนเวลาจะเร็วกว่า 120 วันได้ เพราะกำหนดไว้ว่าภายใน 120 วัน จากนั้นต้องมาทำกฎหมายลูก" นายวิษณุ กล่าว
         

 

นายวิษณุ กล่าวต่อว่า มีหลายคนบอกว่าทำไมไม่ทำกฎหมายลูกก่อน ตนขอถามกลับว่าถ้ากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มัวแต่ไปทำกฎหมายลูก แล้วมีคนมาโจมตีร่างรัฐธรรมนูญใครจะเป็นคนทำความเข้าใจ เราต้องเห็นใจด้วย เพราะเขาก็ต้องการเวลา แล้วเราต้องห่วงเรื่องประเพณีโบราณ เรื่องการเขียนรัฐธรรมนูญ อาลักษณ์จะต้องเขียนจารึก ซึ่งตนเรียกเขามาสอบถามเกือบทุกวัน ว่าใช้เวลาเขียนกี่วัน วันละกี่หน้า แล้วใช้กี่คนเขียน รัฐบาลเช็คอยู่ตลอดว่าต้องใช้เวลาเท่าไหร่ ถ้าบอกว่าเขียนไปก่อนตอนนี้เลย แล้วหากกรธ.เปลี่ยนขึ้นมา หรือมีมติเพิ่มเติม แล้วมากระทบร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเราอาจจะเขียนไปได้บางส่วน เช่น หมวดที่ไม่มีใครไปยุ่ง อย่างหมวดพระมหากษัตริย์ หมวดสิทธิเสรีภาพ แล้วก็ต้องเผื่อเวลาให้สำนักราชเลขาตรวจสอบและนำความกราบบังคมทูล รวมถึงเผื่อเวลาในการบริหารจัดการเลือกตั้ง เช่นให้มีการตั้งพรรคการเมืองใหม่ได้ สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยตั้ง เพื่อป้องกันคนถูกต้อนเข้าพรรคเก่า
         

 

"ขอให้เอาความเป็นห่วงของพล.อ.ชวลิตขึ้นมาตั้งจะดีกว่า ส่วนที่บอกให้เลือกตั้งปี 59 ถือเป็นข้อเสนอ ผมในฐานะรัฐบาลขอขอบพระคุณ และดีใจที่มีคนเป็นห่วง เพราะถึงอย่างไร ความเป็นห่วงยังดีกว่าสมน้ำหน้า ส่วนที่ให้เลือกตั้งในปีนี้ขอให้เป็นตัวอย่างของความเป็นห่วงเท่านั้น เหมือนกับข้อเป็นห่วงเรื่องรถเข็นจันทร์โอชา ซึ่งพล.อ.ชวลิตไม่ต้องการให้เอาเป็นเอาตายอะไรขนาดนั้น" นายวิษณุ กล่าว
         

 

ผู้สื่อข่าวถามถึงคำตัดพ้อของนายมีชัย ที่บอกว่าตัวเองเคราะห์ร้ายที่ต้องมาร่างรัฐธรรมนูญในช่วงที่ประเทศมีความขัดแย้ง ?

 


นายวิษณุ กล่าวว่า ต้องเข้าใจนายมีชัย เพราะท่านอายุ 70 กว่าปีแล้วยังไม่เคยเจออะไรแบบนี้ ส่วนที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เสนอให้ทำประชามติเปรียบเทียบร่างรัฐธรรมนูญระหว่างฉบับนายมีชัยกับฉบับของตนเอง ว่าฉบับไหนดีกว่ากันนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องนี้ตนไม่มีความเห็น ใครมีความเห็นอย่างไรก็เสนอมา ความจริงแล้วเรื่องนี้ยากต่อการบริหารจัดการ แค่นึกภาพว่าประชาชนเข้าคูหากาบัตร นั่นแปลว่าจะต้องอ่านรัฐธรรมนูญมาแล้ว 2 ฉบับเป็นอย่างน้อย ยิ่งหากมี 3 ประเด็น เช่นว่าจะเอาฉบับนายบวรศักดิ์หรือฉบับนายมีชัย หรือจะเอาฉบับปี 2540 ประชาชนก็ต้องอ่านกันถึง 3 ฉบับ แบบนั้นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะต้องพิมพ์ถึง 3 ฉบับให้ประชาชนอ่าน รวมถึงต้องทำความเข้าใจใหม่ด้วย บางคนลืมฉบับของนายบวรศักดิ์ไปแล้ว ซึ่งก็ดูดีอยู่ แต่เมื่อจำได้ใหม่ก็เกิดปัญหาขึ้นมาอีก เพราะอาจไปสะกิดแผลเก่าขึ้นมา
         

 

เมื่อถามว่า รัฐบาลได้พูดคุยกับทุกฝ่ายเรื่องร่างรัฐธรรมนูญลงตัวหมดแล้วหรือไม่ ?

 


นายวิษณุ กล่าวว่า ถือว่าลงตัว แต่ไม่ใช่ตัวเดียวกัน ไม่มีมติเอกฉันท์ เพราะถือว่าคุยกับกกต.เรื่องการทำประชามติ คุยกับนายมีชัยเรื่องข้อเสนอ 16 ข้อ ซึ่งนายมีชัยระบุว่า 13 ข้อแรก กรธ.รับได้ ส่วนถ้อยคำต้องไปปรับอีกที ส่วนหมวดปฏิรูปก็มีความเป็นไปได้ แต่ต้องไปดูว่าเอาอะไรมาใส่ในเนื้อหาว่าจะปฏิรูปอะไร เท่าที่นายมีชัยนึกออกคือการปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูปตำรวจ อาจจะเพิ่มการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และทำความเข้าใจประเด็นโรดแมปไม่ให้ยาวนานเกินไป ซึ่งนายมีชัยระบุว่าก็ไม่ต้องทำกฎหมายลูกทั้งหมด 10 ฉบับ ทำเพียง 3-4 ฉบับก่อน แบบนั้นจะทำให้โรดแมปเร็วขึ้น แต่ถึงจะเร็วอย่างไรก็ไม่ถึงขนาดเลือกตั้งปีนี้แน่นอน
         

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ดูเหมือนว่าหลายฝ่ายจะนัดกันออกมาแสดงความห่วงใยรัฐบาล ?

 


นายวิษณุ กล่าวติดตลกว่า คงเพราะดาวมฤตยูย้ายมั้ง ส่วนที่ถามว่าเป็นห่วงเยอะเกินไปหรือไม่ ตนคงไม่ไปต่อปากต่อคำกับใคร ความจริงตนแสดงความเห็นเรื่องนี้ได้ แต่เดี๋ยวจะตีความกลายเป็นว่าตนไปต่อปากต่อคำด้วย
         

 

เมื่อถามถึงกรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ พูดคุยกับผู้ช่วยเลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ฝ่ายการเมือง นายวิษณุ กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้ห้ามปราม ส่วนที่เขาจะมาพบใครนั้น ก็เป็นสิทธิของเขา ซึ่งเขาก็มาพบคนของรัฐบาลด้วย ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร