"สนช." ไฟเขียว !! รับหลักการร่างรธน.ฉบับชั่วคราวปี 57 แล้ว

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

"สนช." ลงมติ 194 เสียง รับหลักการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราวปี 2557 แล้ว เตรียมพิจารณาในวาระที่ 2 ต่อไป ...

 

 

วันนี้ (10 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ที่อาคารรัฐสภา การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 16/ 2559 โดยมี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประธานในที่ประชุม โดยมีระเบียบวาระเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พุทธศักราช .... คณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้เสนอ โดยมีตัวแทนจากทาง คสช.และ ครม.คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ และ นายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ชี้แจง
         

 

โดย นายวิษณุ เครืองาม ได้ชี้แจงว่า หลักการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ เป็นการแก้ไขส่วนของการลงประชามติ เหตุผลเนื่องจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) พ.ศ.2557 และที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับแรกปี พ.ศ.2558 นั้น อาจจะมีบทบัญญัติเหมาะสม ที่จะมีการทำประชามติในขณะนั้น แต่ปรากฏว่าไม่เกิดขึ้นเนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญถูกตีตกในชั้นของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งถ้าใช้บทบัญญัติเดิม ก็ไม่สอดคล้องสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป จึงต้องมีการแก้เป็นครั้งที่ 2 ซึ่งในครั้งนี้ ถึงแม้ว่าจะแก้เพียงมาตรา 39/1 เพียงมาตราเดียว แต่เป็นการยกเลิกของเก่า และเพิ่มวรรคใหม่จำนวน 9 วรรค เพื่อทำให้ยืดยาวและละเอียดชัดเจน จนสามารถทำประชามติได้ราบรื่น โดยมีการแก้ในหลายประเด็น คือ การยึดคะแนนเสียงข้างมากของผู้ใช้สิทธิ์ออกเสียงประชามติ อายุของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงประชามติ การแจกจ่ายและเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญให้กับประชาชนโดยวิธีการอื่นๆ ตามคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้ สนช.สามารถกำหนดประเด็นคำถามให้ประชาชนตัดสินใจพร้อมกับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และให้ ครม.เสนอกฎหมายเกี่ยวกับการทำประชามติ โดยให้ทาง สนช.เป็นผู้พิจารณา ซึ่งคาดว่า จะมีทั้งหมด 60 มาตรา โดยจะมีการเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีภายในวันอังคารนี้ ก่อนที่จะเสนอมายัง สนช.ต่อไป
         

 

หลังจากนั้น ได้มีสมาชิก สนช.ได้อภิปรายต่อร่างรัฐธรรมนูญฯ จำนวน 13 คน โดยต่างสนับสนุนในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นดังกล่าว แต่ก็ได้มีการแสดงถึงความกังวลภายหลังจากการทำประชามติ ว่าจะกลับไปสู่ความแตกแยกและวิกฤตทางการเมืองในแบบเดิมอีกครั้ง และได้เสนอให้ทาง กรธ.กำหนดรูปแบบเพื่อให้มีกลไกเพื่อสืบทอดการทำงานในเรื่องการปฏิรูปในระยะเปลี่ยนผ่าน และเสนอให้ สนช.มีการตั้งคำถามในเกี่ยวกับแนวทางในช่วงเปลี่ยนผ่านประเทศ พ่วงไปกับการทำประชามติด้วย
         

 

โดย นายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล ได้อภิปรายว่า ตนมีข้อสังเกตว่า หากเกิดบางคนไม่ไปใช่สิทธิ์ออกเสียงประชามติ โดยไม่มีเหตุอันควรจะทำอย่างไร เพราะในข้อกำหนดของการเลือกตั้งที่ผ่านมา หากไม่มีเหตุโดยอันควรนั้น ก็จะเสียสิทธิ์ทางการเมืองบางประการ ซึ่งหากมีผู้ไม่ไปใช้สิทธิ์ในการออกเสียงประชามติแล้ว จะสามารถตัดสิทธิ์ได้แบบเดิมหรือไม่ ผู้ที่ดำเนินการรณรงค์ไม่ให้รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยบิดเบือนข้อมูลข้อเท็จจริงนั้น จะมีมาตรการป้องกันอย่างไร และเสนอให้มีการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญผ่านทางสถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์ เพราะเป็นสื่อที่เข้าถึงทุกครัวเรือน แต่ก็ยังกังวลว่า ในพื้นที่ชนบทส่วนใหญ่ หัวคะแนนยังมีอิทธิพลในการตัดสินใจของประชาชน ดังนั้น จึงขอให้ภาครัฐ ใช้เครื่องมือของทุกภาคส่วนดำเนินการรณรงค์ให้ประชาชนทราบถึงสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญด้วย
         

 

ด้าน นายมณเฑียร บุญตัน เสนอให้มีการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ โดยคำนึงถึงความหลากหลายของภาษา วัฒนธรรม และระดับการศึกษา เพื่อให้เข้าถึงง่าย และเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจในการออกเสียงประชามติ อีกทั้ง ในขณะนี้ยังมีเส้นแบ่งบางๆ ระหว่าง ผู้ที่ดำเนินการขัดขวางทำลาย กับผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญอย่างมีเหตุผล ดังนั้น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประชามติที่กำลังจะออกมาตามหลังนั้น ข้อให้มีมาตราที่สามารถส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวางและได้รับความคุ้มครองด้วย
         

 

ขณะที่ นายตวง อันทะไชย กล่าวสนับสนุนให้มีกลไกควบคุม เพื่อให้ประเทศเดินหน้าตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ในระยะเปลี่ยนผ่าน และไม่ได้มองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ แต่มองว่าทำให้การเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น
         

 

หลังจากนั้น ได้มีการลงมติโดยวิธีเปิดเผยด้วยขานชื่อสมาชิก ซึ่งผลปรากฏว่า มีมติรับหลักการ 194 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ดังนั้น ทาง สนช.ได้มีมติรับหลักการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พุทธศักราช .... และจะมีการพิจารณาในวาระที่ 2 ต่อไป