"วัฒนา" เหน็บกรธ.ต้มชาวไทยปม "ข้อเสนอคสช." - ชี้เอาอำนาจปชช.ยื่นให้เผด็จการ !!

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

"วัฒนา เมืองสุข" โพสต์เฟซฯ เหน็บกรธ.ต้มชาวไทยทั้งประเทศ อย่าอ้าง "ข้อเสนอแม่น้ำ 4 สาย" เพื่อปกป้องระบอบประชาธิปไตย เปรียบเอาอำนาจประชาชนไปมอบให้กับตัวแทนเผด็จการ - 7 ส.ค.นี้ เชื่อว่าประชาชนจะทำประชามติเพื่อปกป้องสิทธิตนเอง ...

 


วันนี้ (23 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรมช.พาณิชย์ โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊ค "Watana Muangsook" แสดงความคิดเห็นภายหลังที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้ข้อสรุปแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของแม่น้ำ 4 สาย ว่า

 

"จะต้มคนไทยไปทำไม"

 

คนที่ติดตามผลการพิจารณาบทเฉพาะกาลของ กรธ. คงคิดเหมือนผมว่า กรธ. จะมาต้มคนไทยไปเพื่ออะไร ถ้า กรธ. แถลงอย่างลูกผู้ชายว่า กรธ. ต้องทำตามข้อเสนอของ คสช. เพราะเป็นคนตั้งพวกเค้ามา ผมก็คงจะให้อภัยเพราะเผด็จการตั้งท่านท่านก็ย่อมรับใช้เผด็จการ แต่การที่ กรธ. มาแถลงโดยอ้างเหตุผลที่ต้องทำเพื่อ "ป้องกันไม่ให้ระบอบประชาธิปไตยและความมั่นคงของชาติล้มครืนลง" นั้น เป็นสิ่งที่ผมรับไม่ได้ โดยเฉพาะคำว่า "ประชาธิปไตย" แปลว่าประชาชนเป็นใหญ่หรืออำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน จึงไม่คู่ควรที่ กรธ. จะเอ่ยอ้างคำนี้ให้แปดเปื้อน

 

คสช. เสนอขอปรับปรุงบทเฉพาะกาลมา 3 เรื่อง เลยกรอบระยะเวลาที่ กรธ. กำหนดถึงเกือบหนึ่งเดือน แต่ กรธ. กลับรับไว้ดำเนินการให้ทั้งที่ผิดเงื่อนไข ส่วนผลการพิจารณาผมมีความเห็นดังนี้

 

(1) การที่ กรธ. ยืนยันวิธีการเลือก ส.ส. ให้เป็นไปตามเดิม ไม่ได้เป็นการคุ้มครองสิทธิประชาชนเพราะรูปแบบการเลือกตั้งที่ กรธ. กำหนดไว้แต่แรกนั้นก็คือการจำกัดสิทธิประชาชนอยู่แล้ว

 

(2) การให้มี ส.ว. จากการสรรหาจำนวน 250 คน คือการทำตามข้อเสนอทั้งหมด ส่วนที่อ้างว่า 50 คนขอให้มาจากสาขาวิชาชีพที่ กรธ. กำหนดก็ไม่ได้ทำให้มีผลเปลี่ยนแปลง เพราะสุดท้ายก็คือ ส.ว. มาจากการสรรหาทั้ง 250 คน สำหรับ 6 คนที่ยกเว้นให้เป็นข้าราชการประจำได้ก็คือ 6 ตำแหน่งที่ขอไว้ให้ ผบ. เหล่าทัพนั่นเอง ส่วนที่อ้างว่าไม่ได้ให้อำนาจ ส.ว. เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจและลงมติ ก็ไม่ได้ทำให้ ส.ว. สรรหามีอำนาจน้อยลง เพราะยังมีอำนาจผลักดันกฎหมายการปฏิรูปที่ตีความได้กว้างขวางมาก มีสิทธิลงมติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อรวมกับอำนาจที่มีในร่างเดิมแล้วสามารถขัดขวางการทำงานของตัวแทนที่มาจากประชาชนได้ทุกเรื่อง

 

(3) ส่วนเงื่อนไขที่กำหนดว่า การเลือกนายกจากบุคคลที่ไม่เคยถูกพรรคการเมืองเสนอชื่อต้องใช้เสียง 2/3 ของรัฐสภาคือ 500 คน จึงจะเปิดประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ได้ นั้น ฝ่าย คสช. มี ส.ว. สรรหาที่พร้อมจะยกมือทันที 250 คน เมื่อรวมกับพรรคอื่นๆ ที่พร้อมจะร่วมจัดตั้งรัฐบาล ก็มีเสียงเกิน 500 คน สามารถเรียกประชุมได้แล้ว ส่วนการยกมือเลือกนายกที่อยากมีอำนาจแต่ขี้ขลาดไม่กล้าแสดงตัว ใช้เสียงเพียงเกินกึ่งหนึ่งหรือ 251 เสียงเท่านั้น จึงแย่เสียยิ่งกว่าร่างของนายบวรศักดิ์ที่กำหนดให้ต้องได้รับเสียงสนับสนุน 2/3 ของ ส.ส. ทั้งหมด

 

ผมไม่มีความเห็นกับข้อเสนอของ คสช. เพราะเป็นเผด็จการที่ยึดอำนาจมาจากประชาชน ก็ย่อมต้องทำทุกทางเพื่อปกป้องอำนาจของตน แต่สิ่งที่ กรธ. ดำเนินการมานั้นคือการเอาอำนาจของประชาชนไปมอบให้กับตัวแทนของเผด็จการ ส่วนผมเป็นนักการเมืองที่มาจากประชาชนมีหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์เพื่อสนองคุณข้าวแดงแกงร้อนของประชาชน จากนี้ไปจึงเหลือทางเดียวคือประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจจะต้องออกมาปกป้องสิทธิของตนเองด้วยการออกเสียงลงประชามติ ซึ่งทุกคนต้องยอมรับการตัดสินใจของประชาชน วันที่ 7 สิงหาคม 2559 เป็นวันออกเสียงลงประชามติ มาพิสูจน์กันว่าเผด็จการที่ใหนในโลกไม่มีทางใหญ่กว่าประชาชน "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ"