16 พ.ค.2518 "นพ.เหวง"เป็นแกนนำนศ.ชุมนุมขับไล่USA...แต่วันนี้กลับเพิกเฉยที่USAแทรกแซงกิจการของไทย...(คลิ๊กเพื่ออ่านประวัติศาสตร์)

16 พฤษภาคม 2518 นพ.เหวง โตจิราการ ก็ได้ร่วมประท้วงไล่ฐานทัพอเมริกาด้วย แต่วันนี้กลับยืนข้างรัฐบาลที่กำลังเชิญอเมริกาเข้ามา เขายืนอยู่ได้อย่างไร ไม่ออกมาพูดถึงกรณีนี้เลย (จากภาพประกอบ) คนถือโทรโข่งคือ

16 พฤษภาคม 2518 นพ.เหวง โตจิราการ ก็ได้ร่วมประท้วงไล่ฐานทัพอเมริกาด้วย แต่วันนี้กลับยืนข้างรัฐบาลที่กำลังเชิญอเมริกาเข้ามา เขายืนอยู่ได้อย่างไร ไม่ออกมาพูดถึงกรณีนี้เลย (จากภาพประกอบ) คนถือโทรโข่งคือ “เหวง โตจิราการ” ส่วนคนอยู่ด้านซ้ายมือมีหนวดเครา คือ “เทิดภูมิ ใจดี”

ภาพเหตุการณ์ในครั้งนั้น สืบเนื่องจาก

“คนไทยขับไล่อเมริกา”

ในวันที่ 21 มีนาคม 2518 มีการเดินขบวนใหญ่ของนักศึกษาประชาชนนับแสนคน จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปยังสถานทูตสหรัฐซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนวิทยุ เพื่อกดดันให้สหรัฐถอนทหารและฐานทัพออกจากประเทศไทย กรณีนี้ได้กลายเป็นเหตุรุนแรงเมื่อคนร้ายโยนระเบิดใส่ขบวนแถวของประชาชน เมื่อเคลื่อนไปถึงหน้าบริเวณโรงภาพยนตร์สยาม ทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน

แต่ขบวนของนักศึกษาก็ยังเคลื่อนต่อไปจนถึงหน้าสถานทูตสหรัฐ เหตุการณ์ดังกล่าว เกี่ยวข้องโดยตรงการการเมืองไทยและทิศทางการเคลื่อนไหวทางการเมืองของขบวนการนักศึกษาหลังกรณี 14 ตุลาคม 2516

กล่าวคือ หลังชัยชนะในกรณี 14 ตุลาคม 2516 ทิศทางสำคัญอย่างหนึ่งของขบวนการนักศึกษา ก็คือการเคลื่อนไหวเรื่องปัญหาเอกราช โดยการเริ่มต่อต้านอิทธิพลต่างๆ ของสหรัฐอเมริกาที่มีอยู่ในประเทศไทย ปัญหาสืบเนื่องมาจาก สมัยรัฐบาลเผด็จการทหารได้ตกลงทำสัญญาร่วมมือเป็นพันธมิตรกับสหรัฐ ในการก่อการรุกรานเวียดนาม ยอมให้สหรัฐใช้ดินแดนประเทศไทยเป็นฐานทัพในการโจมตีเวียดนาม เพื่อแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์และเงินช่วยเหลือที่ฝ่ายสหรัฐสนองให้

ดังนั้น เมื่อถึง พ.ศ.2516 จึงมีฐานทัพอเมริกาในไทยถึง 12 แห่ง คือ ที่อู่ตะเภา ตาคลี อุบลราชธานี อุดรธานี นครพนม น้ำพอง สัตหีบ ลพบุรี เขื่อนน้ำพุง โคราช และ กาญจนบุรี โดยมีศูนย์บัญชาการใหญ่ และหน่วยจัสแม็ก ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ มีเครื่องบินสหรัฐประจำในไทยถึง 550 ลำ เพื่อใช้ในการทิ้งระเบิดในลาว เขมร และ เวียดนาม และมีทหารอเมริกันที่ประจำอยู่ในไทยนับแสนคน สำหรับหน่วยจัสแม็กในไทยก็มีหน้าที่โดยตรงในการส่งกำลังบำรุงให้ทหารอเมริกันในเวียดนาม

การผูกพันเป็นมิตรกับสหรัฐอเมริกา ยังส่งผลต่อนโยบายต่างประเทศของไทย จากการที่รัฐบาลไทยดำเนินรอยตามนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาเสมอ และในทางเศรษฐกิจ บริษัทข้ามชาติของอเมริกาก็เข้ามามีส่วนครอบงำเศรษฐกิจไทยอย่างมาก ตั้งแต่สินค้าประจำวัน เช่น น้ำอัดลม ไปจนถึงยางรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และการขายอาวุธแก่กองทัพไทย นอกจากนี้ก็คือการครอบครองตลาดทรัพยากร คือ น้ำมัน ดีบุก และแร่ธาตุต่างๆ ซึ่งเป็นสินค้านำเข้าและสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย แต่ที่สำคัญไม่น้อยก็คือ การที่ฐานทัพอเมริกาได้รับสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเหนือดินแดนไทย เช่น ในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2516 กองทัพอเมริกาในประเทศไทยก็ใช้กฎอัยการศึกประหารชีวิตนายเทพ แก่นกล้า ซึ่งมีความผิดในข้อหาใช้ปืนยิงนายทหารอเมริกันเสียชีวิต โดยคดีนี้ไม่ได้ผ่านการพิจารณาของศาลไทยแต่อย่างใด

จากกรณีเช่นนี้ แนวคิดของขบวนการนักศึกษาไทยในช่วงหลัง 14 ตุลาคม 2516 จึงเห็นว่า ประเทศไทยไม่ได้มีเอกราชสมบูรณ์ หากแต่ต้องตกอยู่ในสถานะกึ่งเมืองขึ้น และถูกครอบงำโดยจักรพรรดินิยมอเมริกา ดังนั้น ทิศทางอันสำคัญยิ่งของขบวนการนักศึกษา นั้นก็คือ การต่อสู้เพื่อเอกราชสมบูรณ์ ซึ่งก็คือการต่อต้านจักรพรรดินิยมอเมริกา ซึ่งถือเป็นศัตรูสำคัญของประชาชนไทย ความจริง กระแสต่อต้านสหรัฐอเมริกา เริ่มต้นตั้งแต่ก่อนหน้านี้ ดังจะเห็นได้จาก การที่กลุ่มนักศึกษาก้าวหน้าได้ออกหนังสือชื่อ ภัยขาว เมื่อ พ.ศ.2514 วิพากษ์วิจารณ์บทบาทของสหรัฐอเมริกาในเอเชีย และโดยเฉพาะในสงครามเวียดนาม แต่ในขณะนั้น กระแสการเรียกร้องเอกราช ยังมิได้เป็นกระแสหลัก เมื่อเทียบกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพื่อคัดค้านรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ที่ยังคงใช้อำนาจเผด็จการ

เมื่อได้รับชัยชนะในกรณี 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ขบวนการนักศึกษาจึงมุ่งเน้นเป้าหมายไปยังการรณรงค์เพื่อเอกราชมากขึ้น โดยมุ่งที่จะคัดค้านและต่อต้านลัทธิจักรพรรดินิยมของสหรัฐอเมริกา เพื่อจะให้มีการถอนทหารและฐานทัพอเมริกาออกจากประเทศไทย นอกจากนี้ ก็คือการเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินนโยบายเป็นอิสระทางด้านการต่างประเทศ แทนที่จะใช้นโยบายตามหลังอเมริกาแต่เพียงอย่างเดียว และรวมทั้งขอให้เลิกสิทธิพิเศษต่างๆ แก่ฝ่ายอเมริกา เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง 14 ตุลาคม ดูเหมือนว่า ฝ่ายรัฐบาลสหรัฐเองก็จะตระหนักเช่นกันว่า สถานการณ์ในไทยอาจไม่เหมือนเดิมในยุคเผด็จการทหาร ดังนั้นในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2516 จึงได้ส่ง นายวิลเลียมอาร์. คินเนอร์ (William R. Kinner) มาเป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยคนใหม่ กลุ่มนักศึกษาได้ออกแถลงการณ์ในวันที่ 20 พฤศจิกายน มีใจความตอนหนึ่งว่า

ฉะนั้น ในโอกาสที่นายวิลเลียมอาร์คินเนอร์ เอกอัครราชทูตอเมริกันคนใหม่ประจำประเทศไทย เดินทางมารับตำแหน่งนี้ เราจึงขอวิงวอนให้ พ่อแม่ พี่น้อง ประชาชนชาวไทย ได้ให้ความสนใจต่อการมาของบุคคลผู้นี้ให้จงดี เพราะประวัติของบุคคลผู้นี้ มีข้อน่าสังเกตหลายประการคือ

1. เคยรับราชการในกองทัพบกอเมริกันเป็นเวลานาน (จาก 2483-2504)

2. เคยเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายต่างประเทศของ PU ซึ่งเป็นหน่วยงานของ CIA โดยตรง

3. เคยเขียนหนังสือ ร่วมกับกลุ่มที่วางแผนยุทธศาสตร์การปฏิบัติการรบ ในเอเชีย อาคเนย์ ซึ่งทำงานรับใช้กลุ่มนายทุนวอลสตรีท ซึ่งเป็นนักค้าสงคราม

ปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้นอย่างชัดเจนจากกรณีจดหมายปลอม ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2516 กล่าวคือ เจ้าหน้าที่ขององค์การสืบราชการลับกลางของสหรัฐ(ซี.ไอ.เอ.) ได้ปลอมว่า เป็นจดหมายของสหายจำรัส หรือ นายเปลื้อง วรรณศรี ซึ่งเป็นผู้นำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ส่งมาถึงรัฐบาลเพื่อขอเจรจาหยุดยิง ทำให้รัฐบาลไทยเตรียมการที่จะเจรจาหยุดยิงกับฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์เป็นเวลา 1 เดือน

ต่อมาในวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2517 องค์การซี.ไอ.เอ. ยอมรับว่า นั่นเป็นจดหมายปลอมและขอโทษต่อรัฐบาลไทย จากกรณีนี้เอง นายชวินทร์ สระคำ อดีต ส.ส.ร้อยเอ็ด ได้ร่วมกับ กระบี่ศักดิ์ และยอดธง ทับทิวไม้ เขียนหนังสือเรื่อง เปิดหน้ากากซี.ไอ.เอ. (2517) เพื่อชี้ให้เห็นถึงความชั่วร้ายของซี.ไอ.เอ.ในประเทศต่างๆ รวมทั้งในประเทศไทยด้วย

ชวินทร์ ย้ำว่า เขาเขียนเรื่องนี้ ด้วยจุดมุ่งหมายในการปกป้อง “ผืนแผ่นดินของคนไทยและชาติไทย” และกล่าวด้วยว่า การพิมพ์หนังสือนี้ เป็นอันตรายต่อชีวิตเขามาก แต่เขาก็ตัดสินใจทำ เพราะ “ถ้าจะให้ผมเลือกระหว่างการมีชีวิตอยู่อย่างไร้ความหมาย กับการตายเพื่อรักษาสัจจะนั้น ผมเลือกเอาอย่างหลัง” อาจจะเป็นด้วยเหตุนี้เอง ที่ทำให้ชวินทร์ สระคำ ถึงแก่กรรมอย่างมีเงื่อนงำด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ ในวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2517

ใน พ.ศ.2517 มีการตีพิมพ์ซ้ำหนังสือเรื่อง "โฉมหน้าจักรพรรดินิยม" ของมณี ศูทรวรรณ ซึ่งได้เขียนลงในหนังสือ นิติศาสตร์ ฉบับต้อนรับศตวรรษใหม่เมื่อ พ.ศ.2500 ในบทความนี้ ผู้เขียนได้ใช้ทฤษฎีของวลาดิมีร์เลนิน เรื่อง “จักรพรรดินิยม : ขั้นสูงสุดของทุนนิยม” มาเป็นหลักในการวิเคราะห์ โดยชี้ว่า จักรพรรดินิยม ก็คือ ขั้นผูกขาดของระบบทุนนิยม และได้อธิบายให้เห็นว่า สหรัฐอเมริกานั้น ได้เข้ามารุกรานไทยทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และ วัฒนธรรม จึงได้สรุปว่าภารกิจของประชาชนไทยนั้นจะต้อง “ร่วมมือกันผนึกกำลังให้สนิทแน่น เพื่อทำลายจักรพรรดินิยม และปลดเปลื้องพันธะ ที่ทำให้ไทยอยู่ในสภาพเมืองพึ่งและกึ่งเมืองขึ้นนี้ และร่วมมือกับกองทัพมหาชนคนงานทั่วโลก เพื่อทำลายลัทธิจักรพรรดินิยมระหว่างประเทศนี้เสีย

นอกจากนี้ ยังได้มีการตีพิมพ์หนังสือเรื่อง อเมริกัน:อันตราย ของ พิรุณ ฉัตรวนิชกุล ซึ่งได้มีบทความชี้ชัดถึงการแทรกแซงของสหรัฐอเมริกาในประเทศไทย ปรากฏว่ากระแสกดดันนี้ เหล่านี้ ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายเช่นกัน เพราะเมื่อ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2518 ก็ได้แถลงนโยบายว่า จะดำเนินการให้มีการถอนทหารและฐานทัพสหรัฐออกจากประเทศไทย ภายใน 1 ปี ซึ่งกลายเป็นเงื่อนเวลาสำคัญในการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาต่อมา

กรณีสำคัญต่อมา คือการเคลื่อนไหวกรณี ”มายาเกวซ” ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่เรือสินค้าชื่อ มายาเกวซ ของสหรัฐถูกรัฐบาลเขมรแดงยึด ในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2518 รัฐบาลสหรัฐได้ลอบส่งนาวิกโยธิน 1,000 คน เข้ามาที่ฐานทัพอู่ตะเภา โดยไม่แจ้งให้รัฐบาลไทยทราบ และใช้การปฏิบัติการจากประเทศไทย โจมตีกองเรือของกัมพูชา บีบให้ทางการกัมพูชาคืนเรือมายาเกวซให้สหรัฐ ขบวนการนักศึกษาได้นัดชุมนุมครั้งใหญ่ในวันที่ 17 พฤษภาคม เพื่อประท้วงการที่สหรัฐละเมิดอำนาจอธิปไตยไทยเช่นนั้น จากนั้น ก็ได้มีการเดินขบวนประท้วงอเมริกา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปที่หน้าสถานทูตสหรัฐที่ถนนวิทยุ และชุมนุมกันอยู่ที่นั่น 3 วัน ในกรณีนี้ รัฐบาลไทยได้แสดงท่าทีแข็งกร้าวกับรัฐบาลสหรัฐเป็นครั้งแรก โดยการออกแถลงการณ์คัดค้านที่สหรัฐละเมิดอธิปไตย ดำเนินการอันไม่เป็นมิตรและเรียกตัวทูตไทยประจำสหรัฐกลับประเทศ จนกระทั่งรัฐบาลสหรัฐยอมแสดงความเสียใจกับรัฐบาลไทยอย่างเป็นทางการในวันที่ 19 พฤษภาคม ฝ่ายนักศึกษาจึงได้เดินขบวนกลับมายังอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยแล้วสลายตัว แต่ได้มีการประกาศว่า จะมีการต่อสู้ต่อไปจนกว่าสหรัฐจะถอนทหารและฐานทัพออกจากไทยทั้งหมด

จากนั้นในวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2518 ก็ได้มีการชุมนุมใหญ่ของฝ่ายนักศึกษาประชาชน เพื่อแสดงมติต่อต้านอเมริกาอีกครั้ง ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่การเคลื่อนไหวต่อต้านจักรพรรดินิยมอเมริกาครั้งใหญ่ที่สุด เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2519 ซึ่งเป็นวันกำหนดเส้นตายของรัฐบาลไทย ให้สหรัฐถอนทหารและฐานทัพออกจากประเทศไทย ได้มีการชุมนุมใหญ่ต่อต้านอเมริกาที่สนามหลวง ตรงข้ามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปรากฏว่า รัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ยืดกำหนดให้ฝ่ายสหรัฐอีก 4 เดือน เพื่อเก็บข้าวของออกจากประเทศ เมื่อนักศึกษาได้ทราบผลเช่นนั้น ก็ได้มีการประณามรัฐบาลว่าไม่จริงใจ และตกลงให้มีการเดินขบวนไปยังสถานทูตอเมริกาในวันรุ่งขึ้น เพื่อกดดันให้ฝ่ายสหรัฐให้ทำตามกำหนดเวลาในครั้งนี้ได้

ดังนั้นในวันที่ 21 มีนาคม จึงมีการเดินขบวนใหญ่ของนักศึกษาประชาชนนับแสนคน จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปยังสถานทูตสหรัฐที่ถนนวิทยุ กรณีนี้ได้กลายเป็นเหตุรุนแรงเมื่อคนร้ายโยนระเบิดใส่ขบวนแถวของประชาชน เมื่อเคลื่อนไปถึงหน้าบริเวณโรงภาพยนตร์สยาม ทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน แต่ขบวนของนักศึกษาก็ยังเคลื่อนต่อไปจนถึงหน้าสถานทูตสหรัฐ และนำโปสเตอร์ผ้า ประกาศเจตนารมณ์ 20 มีนาคม ไปประกาศไว้

ในวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2519 ได้มีการจัดนิทรรศการที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และฝ่ายเอกสารสิ่งพิมพ์ อมธ. ได้มีการออกหนังสือชื่อ"อเมริกัน อันธพาลโลก" นอกจากนี้ ก็ได้มีการการชุมนุมต่อต้านอเมริกาที่ประตูธรรมศาสตร์ด้านถนนพระอาทิตย์ เชิงสะพานพระปิ่นเกล้าฯ ซึ่งครั้งนี้เป็นการชุมนุมต่อต้านจักรพรรดินิยมเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะเกิดกรณีนองเลือดวันที่ 6 ตุลา เพราะการเคลื่อนไหวในวันที่ 20 กรกฎาคม ของขบวนการนักศึกษา ไม่ได้ใช้วิธีการชุมนุม แต่ใช้วิธีการส่งนิสิตนักศึกษาราว 3,000 คนจากทุกมหาวิทยาลัยออกเคาะประตูประชาชน เพื่อพูดคุยและรับฟังข้อเสนอของประชาชนต่อกรณีขับไล่จักรพรรดินิยมอเมริกา

ในท้ายที่สุดการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาก็ได้ผลพอสมควร เพราะหลังจาก พ.ศ.2519 สหรัฐก็ถอนทหารและฐานทัพทั้งหมดออกไปจากประเทศไทย หลังจากนั้นอิทธิพลการครอบงำของสหรัฐที่มีต่อไทยก็ลดลง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นการเสื่อมถอยอำนาจของสหรัฐในขอบเขตทั่วโลกอีกด้วย

การต่อต้านจักรพรรดินิยมอเมริกาของขบวนการนักศึกษา ส่วนหนึ่งเป็นอิทธิพลของลัทธิชาตินิยมซึ่งมีการตีความใหม่ เพราะในสายตาของรัฐบาลไทยในระยะก่อนหน้านี้ ศัตรูผู้ที่จะรุกรานประเทศไทยนั้น คือ คอมมิวนิสต์ ที่มุ่งจะแทรกซึมบ่อนทำลายความสงบสุขของประชาชาติไทย ความรักชาตินั้น หมายถึงการที่จะต้องรังเกียจชิงชัง และต่อต้านการรุกรานของคอมมิวนิสต์ ซึ่งโดยนัยมักจะหมายถึงคอมมิวนิสต์จีนและเวียดนามเหนือ ส่วนสหรัฐอเมริกาคือมหามิตรที่ทุ่มเทความช่วยเหลือประเทศไทยให้พ้นจากการรุกรานของคอมมิวนิสต์ ปรากฏว่าขบวนการนักศึกษาหลัง 14 ตุลาฯ ได้ตีความเสียใหม่ว่า ศัตรูที่รุกรานและครอบงำประเทศไทยอย่างแท้จริงนั้นคือสหรัฐอเมริกา ส่วนคอมมิวนิสต์นั้นเป็นเพียง ”ผี” ที่ปลุกขึ้นมาสร้างภาพให้ประชาชนหวาดกลัว เพราะไม่ได้ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจนเลยว่า มหาอำนาจคอมมิวนิสต์ คือ สหภาพโซเวียตและจีน จะก่อการรุกรานประเทศไทยในทางใด หากในประเทศไทยนั้นมีแต่ครอบครองของทหารและฐานทัพอเมริกา ราวกับว่าประเทศตกอยู่ภายใต้การยึดครอง นอกจากนี้สหรัฐอเมริกาคือผู้ก่อสงครามในอินโดจีน ทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์เป็นจำนวนมากต้องบาดเจ็บล้มตาย แต่ที่สำคัญก็คือ การครอบงำและรุกรานของสหรัฐอเมริกา ดำรงอยู่ได้ก็ด้วยความร่วมมือของชนชั้นปกครองไทย นั่นเอง

16 พ.ค.2518 "นพ.เหวง"เป็นแกนนำนศ.ชุมนุมขับไล่USA...แต่วันนี้กลับเพิกเฉยที่USAแทรกแซงกิจการของไทย...(คลิ๊กเพื่ออ่านประวัติศาสตร์)

 

16 พ.ค.2518 "นพ.เหวง"เป็นแกนนำนศ.ชุมนุมขับไล่USA...แต่วันนี้กลับเพิกเฉยที่USAแทรกแซงกิจการของไทย...(คลิ๊กเพื่ออ่านประวัติศาสตร์)