"นักการเมือง" แห่ร่วมประชุม ภายหลัง "กกต." เปิดเวทีดีเบตร่างรธน.-กระบวนการประชามติ !!

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

เหล่านักการเมืองจากหลายพรรค แห่ร่วมประชุม "ร่างรัฐธรรมนูญ-กระบวนการทำประชามติ" ภายหลังที่ "กกต." ไฟเขียวเปิดดีเบต โดยได้ระดมความคิดจากนักการเมืองในแต่ละพรรค ที่แสดงความคิดเห็นเรื่องดังกล่าวทั้งก่อนและหลังการประชุม แบบจัดเต็ม !!

 

วันนี้ 19 พ.ค. - ที่สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดีรังสิต  สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้จัดการประชุมชี้แจงเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและกระบวนการประชามติ โดยเป็นการเปิดเวทีให้พรรคการเมืองแสดงความเห็นเกี่ยวกับการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ อาทิ พรรคเพื่อไทย ที่นำโดย นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรค, พรรคประชาธิปัตย์ ที่นำโดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค, และตัวแทนพรรคการเมืองอื่นๆ รวม 63 พรรค, รวมทั้งแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่มี นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนางธิดา ถาวรเศรษฐ แกนนำ นปช. เข้าร่วม แต่ไม่มีตัวแทนของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เข้าร่วม ส่วนผู้แทนคณะรัฐมนตรี (ครม.) มี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี, นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, ขณะที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มี นายอุดม รัฐอมฤต และ นายประพันธ์ นัยโกวิท เป็นตัวแทน, สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีตัวแทน คือ นายกล้านรงค์ จันทิก และนายสมชาย แสวงการ, ส่วนสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มี นายคำนูณ สิทธิสมาน และนายเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นตัวแทน โดยในการประชุมจะให้เวลาแต่ละฝ่ายแสดงความคิดเห็นฝ่ายละ 10-15 นาที โดยในการประชุมครั้งนี้ ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนนำเครื่องมือสื่อสารเข้าไปภายในห้องประชุม
         

 

โดย นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวก่อนการเข้าร่วมประชุมว่า วันนี้เราจะได้ฟังตัวแทนของแม่น้ำ 5 สาย จะได้แสดงความคิดเห็นของ นปช.ที่มีต่อการทำประชามติ ในเรื่องอุปสรรคความไม่เท่าเทียม ของฝ่ายรับร่างรัฐธรรมนูญ และฝ่ายไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ที่ตอนนี้มีพื้นที่สำหรับฝ่ายรับร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่เหลือพื้นที่ให้กับฝ่ายที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญกระทำการใดๆ ได้เลย

 


นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. กล่าวว่า ไม่ว่าเวทีนี้จะเปิดขึ้นด้วยเหตุผลใด จะถูกกดดันทุกทิศทาง หรือรัฐบาลตั้งใจจะจัดขึ้น จะไม่ยกมาพูดให้เสียบรรยากาศ เวทีนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ เป็นสัญญาณดี สำหรับการเปิดกว้าง ถ้ารัฐบาลตั้งใจใช้เวทีนี้ อธิบายกับสังคม ทั้งในและต่างประเทศ ว่านี่คือการเปิดกว้างในการทำประชามติแล้ว ตนว่าคงจะไม่ใช่ เวทีนี้ คนได้พูดมากที่สุดคือรัฐบาล ตนว่าพื้นที่สโมสรกองทัพบกก็ต้องเปิดกว้าง จะเป็นเช่นนั้นได้ ต่อเมื่อทบทวนปรับแก้ พ.ร.บ.ประชามติ ไม่ให้กฎหมายไปปิดปากประชาชน มั่นใจว่ารัฐบาลทำได้ถ้าตั้งใจจะทำ ถ้าจำเป็น มีมาตรา 44 นายกรัฐมนตรีก็สั่งการได้เลย เพื่อให้สนามประชามติเปิดกว้างทั้งประเทศ ไม่ใช่เฉพาะในรั้วสโมสรกองทัพบก
         

 

ขณะที่ นางธิดา ถาวรเศรษฐ แกนนำ นปช.กล่าวว่า เวทีนี้เป็นการแสดงหรือเปล่า ถ้าเป็นเพียงการแสดง เราก็เป็นตัวแสดงบางตัว ซึ่งมีสีสันหน่อย แม้จะรู้ว่าอาจจะเป็นเพียงเวทีการแสดง แต่เราก็ยินดีจะมาร่วมที่จะแสดงความจริงใจในนามประชาชน ที่ต้องการให้ประชามติเป็นของประชาชนจริงๆ ไม่ใช่เป็นเพียงของรัฐ หรือไม่ใช่เป็นมติของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เราไม่ได้ขัดขวางการทำประชามติ

 

 


ทั้งนี้ นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. ได้กล่าวเปิดการประชุมตอนหนึ่งว่า การออกเสียงประชามติจะเป็นไปด้วยความสุจริตเที่ยงธรรมและมีประสิทธิภาพหรือไม่นั้น เกิดจากการจัดการออกเสียงเพียงและการตัดสินใจออกเสียงของประชาชนอย่างอิสระ สิ่งสำคัญคือการให้ข้อมูลที่ถูกต้องต่อประชาชน เพื่อประกอบการตัดสินใจที่สามารถสะท้อนเจตนารมณ์ต่อร่างรัฐธรรมนูญได้  อย่างไรก็ตาม กกต.มุ่งมั่นในการควบคุมให้การออกเสียงประชามติเป็นไปอย่างบริสุทธิ์และเที่ยงธรรม โดยขอให้ประชาชนศึกษาเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญให้ครบถ้วน เพื่อประกอบการตัดสินใจออกเสียงประชามติ และขอให้พรรคการเมืองนำสิ่งที่ได้จากการประชุมวันนี้ (19 พ.ค.) ไปขยายผลให้ครบถ้วน
         

 

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารกิจการการเลือกตั้ง กล่าวว่า ตนเชื่อว่าพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองจะนำไปทำความเข้าใจกับคนที่เกี่ยวข้องต่อไป อาทิ สมาชิกพรรค สมาชิกในองค์กรต่างๆ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะทำให้ทุกฝ่ายได้รู้และเข้าใจตรงกัน แต่ไม่ได้เป็นเงื่อนไขว่าถ้ารู้แล้วต่อไปจะทำผิดไม่ได้ เพราะไม่มีใครอยากทำผิดกฎหมายอยู่แล้ว

 


นายอุดม รัฐอมฤต ตัวแทน กรธ. กล่าวว่า ภาพรวมในร่างนี้ไม่แตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ในเชิงปฏิบัติการ อาทิ หมวดสิทธิเสรีภาพซึ่งเราไม่มีสิทธิ์ไปเปลี่ยนแปลง จึงจะเหมือนร่างฯที่ผ่านมา เพราะการไปจำกัดสิทธิประชาชนนั้นทำไม่ได้ ซึ่งการเลือกตั้งใช้บัตรเดียว มุ่งเน้นให้พรรคการเมืองส่งระบบสัดส่วนด้วย ทุกคนที่สมัคร ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง เลือกทั้งคนทั้งพรรค กรธ.มองว่าหลักการไม่สอดคล้อง เลือกเสียงแตกต่างคะแนนเสียงตกน้ำ เราจะเน้นทุกคะแนนเสียงให้มีความหมาย รวมทั้ง ส.ว.เลือกจากประชาชนทุกภาคส่วนที่สนใจการเมือง เพื่อให้เป็นสภาที่มีมุมมองของภาคพลเรือน ไม่ใช่สภาพี่เลี้ยง ที่มาของ ส.ว.จะทำให้ภาคส่วนต่างๆ มีประสบการณ์เลือกกันเอง รวมทั้งเนื้อหาร่างฯนี้ให้ความสำคัญตรวจสอบนักการเมือง มีการกำหนดคุณสมบัติเข้มข้น

 


นายคำนูณ สิทธิสมาน ผู้แทน สปท. กล่าวว่า สปท.มีหน้าที่เสนอความเห็นให้สนช. ตัดสินใจประเด็นคำถามพ่วงประชามติรัฐธรรมนูญ หลังจากที่ได้เห็นร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ซึ่งคำถามพ่วงจะมีผลถ้าร่างผ่าน ถ้าไม่ผ่านตกไปทั้งหมด ซึ่งมาตราสำคัญที่ให้วุฒิสภามีที่มาแตกต่างจากร่างถาวร คือมีอำนาจหน้าที่ติดตามเสนอแนะเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ ให้สอดคล้องกับการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ที่กำหนดให้ ครม.ต้องชี้แจงต่อรัฐสภาทุก 3 เดือนถึงการบริหารตามแผนยุทธศาสตร์ชาติในช่วง 5 ปีแรก เพราะหัวใจของรัฐธรรมนูญนี้ให้ความสำคัญการปฏิรูปประเทศมาก และควรให้ ส.ว.เห็นชอบนายกรัฐมนตรีด้วย เพราะนายกฯเป็นผู้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่ง ส.ว.ไม่สามารถเสนอชื่อคนอื่นนอกเหนือจากพรรคการเมืองเสนอมาได้ นอกจากในที่ประชุมสองสภาไม่สามารถเลือกรายชื่อจากสามบัญชีไม่ได้ จึงต้องใช้มาตร 272 เลือกนายกรัฐมนตรีจากคนนอก
         

 

ขณะที่ นายวิษณุ กล่าวว่า ประเทศไทยไม่คุ้นการออกเสียงประชามติ ซึ่งขณะนี้ถึงเวลาที่จะออกเสียงประชามติครั้งที่ 2 ถ้าผ่าน เราคงจะชิน เพราะมีปัญหาหลายอย่างในอนาคตที่จะเกิดขึ้นซึ่งต้องมีการทำประชามติ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดสำคัญ เป็นต้น เพราะหากทำประชามติให้ชินทุกคนจะเข้าใจกัน มีระเบียบเข้าระเบียบเข้ารูปเข้ารอย ไม่สิ้นเปลืองงบประมาณ ทั้งนี้ในวันที่ 7 ส.ค.นี้ บทบาทของรัฐบาล คือ "3 ร." คือ 1.รักษาความสงบเรียบร้อยเพื่อเดินไปสู่การออกเสียงประชามติ เมื่อใดก็ตามการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจะมีความเห็นที่หลากหลาย ซึ่งจะสร้างความขัดแย้ง เป็นหน้าที่ของรัฐบาล ที่ต้องใช้ความแตกต่างให้ประโยชน์อย่างสร้างสรรค์ เพื่อทางคลี่คลาย ไม่ให้ความขัดแย้ง แตกแยก ร้าวฉาน ย้อนกลับมา เพราะมีเชื้ออยู่ก่อนแล้วและอย่าให้เรื่องการออกเสียงประชามติเป็นเหตุสำคัญ  2.ร่วมมือกับ กกต. ในเรื่องของงบประมาณ ประชาสัมพันธ์ และการรณรงค์ต่างๆ 3.โรดแม็ปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เราต้องเดินไปนั้น ซึ่งส่วนที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ คือ การทำประชามติ

 


โดยภายหลังการเข้าประชุม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ว่า อย่างน้อยที่ตั้งใจมาเสนอ 3 เรื่อง มีความคืบหน้า คือ1.ขอขอบคุณ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ให้ความชัดเจนในเรื่องความหวาดกลัว หรือความเข้าใจผิดในการชี้นำ หรือการรณรงค์ประชามติว่าจะผิดกฎหมายนั้น ไม่เป็นความจริง หากไม่มีความก้าวร้าว หยาบคายหรือการปลุกระดมข่มขู่ก็ไม่ผิดกฎหมาย สามารถทำได้ กระบวนการนี้จะทำให้มีความชอบธรรมมากยิ่งขึ้น และอยากเสนอแนะให้ที่ปรึกษากฎหมายของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นำเรื่องนี้เสนอต่อรัฐบาล เพื่อมอบเป็นนโยบายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และตำรวจปฏิบัติด้วย หากมีกรณีที่มีการแจ้งความเกี่ยวกับการทำผิดกฎหมายประชามติ ตำรวจก็จะส่งเรื่องให้ กกต.พิจารณาเพื่อกลั่นกรอง และจะได้เป็นมาตรฐานการบังคับใช้กฎหมายไปในทิศทางเดียวกันทั้งประเทศ ไม่ลักลั่น
         

 

2.กรณีที่รัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจะทำอย่างไร แม้วันนี้คำตอบจะยังไม่ชัดเจน 100% แต่รองนายกฯ วิษณุ ก็พูดในทำนองว่า จะทำให้กระบวนการนี้กระชับขึ้น โดยไม่มีการตั้งคณะกรรมาธิการอะไรขึ้นมาอีก ซึ่งจะทำให้การจัดตัดสินใจของประชาชน หรือจุดยืนของฝ่ายต่างๆ ต่อการทำประชามตืในร่างรัฐธรรมนูญสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และหวังว่าไม่จำเป็นต้องรอข่าวลือที่จะออกอะไรมา ในวันที่ 8 ส.ค.แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือต้องมีความชัดเจนให้ประชาชน

 

 

ด้านนายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย เปิดเผยว่า ได้เดินทางมาเข้าร่วมประชุมตามที่ได้รับเชิญจาก กกต.แต่ได้ออกจากห้องประชุมก่อนที่จะได้แสดงความคิดเห็น เมื่อเห็นว่าการจัดสรรเวลาและการเรียงลำดับให้แสดงความคิดเห็นไม่เป็นธรรมกับพรรคการเมืองขนาดเล็ก อีกทั้งทางคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ตัวแทนรัฐบาล และทาง กกต.ก็ใช้เวลาค่อนข้างมาก ทำให้กลายเป็นเพียงเวทีที่สื่อสารด้านเดียว เลือกที่จะชี้แจงมากกว่าจะรับฟังความคิดเห็นตามที่ได้ประกาศไว้
         

 

ยังเห็นด้วยว่า ทั้ง กกต.ในฐานะผู้จัดงาน และสื่อมวลชน ให้ความสำคัญเฉพาะกับพรรคการเมืองใหญ่ แต่ไม่สนใจพรรคการเมืองขนาดเล็กเท่าที่ควร จึงอยากยกพระราชดำรัสเมื่อปี 2512 ที่ระบุว่า "ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี..ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวาย" แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยทุกวันกลับตรงกันข้าม ไปให้ความสำคัญกับคนไม่ดี บ้านเมืองจึงมีแต่ปัญหา
         

 


เดิมทีอยากจะขอแสดงความคิดเห็นเรื่องมาตรา 98 (11) ในร่างรัฐธรรมนูญ ที่ระบุถึงคุณสมบัติข้อห้ามของผู้สมัคร ส.ส.และในส่วนของการแก้ไจเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในอนาคต ที่ต้องทำให้ได้ง่าย ปราศจากเงื่อนไขขัดขวางอย่างที่ระบุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ.แต่ก็ไม่มีโอกาส ทั้งนี้ อยากฝากไปถึงประชาชนให้ยึดหลัก 4 ป.ในการตัดสินใจออกเสียงประชามติ วันที่ 7 ส.ค.นี้ คือ 1.เปิดหู รับฟังข้อเท็จจริง 2.เปิดตา มองทุกส่วนอย่างรอบด้าน 3.เปิดใจ คิดรับฟังรับรู้อย่างมีสติ และ 4.เปิดปาก ประชาชนต้องกล้าที่จะพูดในสิ่งที่ถูกต้อง และกล้าที่จะติติงในสิ่งที่ไม่เหมาะสม หากทำได้ตามนี้ผลการลงประชามติก็จะสะท้อนความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

 

 

 

3.ที่เสนอให้มัการทบทวนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้น รองนายกฯ ได้รับไปถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี ซึ่งตนคิดว่าประเทศไทยต้องเดินต่อไปข้างหน้า สิ่งที่เรากลัวไม่ได้คือความเห็นที่แตกต่าง จึงต้องมาช่วยกันสร้างกระบวนการที่จะอยู่กับความแตกต่างได้อย่างสันติโดยเป็นประชาธิปไตยจะดีที่สุด จากนี้คงติองรอดูว่าจะมีการผ่อนคลาย หรือเปิดเวทีรับฟังเพราะยังมีเวลาอีก 80 วัน