รัฐบาล"ประยุทธ์"พลิกเกมส์สู้"ค่าโง่"คลองด่านทวงเงินคืนแผ่นดิน

ติดตามข่าวสานเพิ่มเติมได้ที่www.tnews.co.th.

          บ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน เป็นบทเรียนอันเจ็บของภาครัฐที่ต้องจ่าย "ค่าโง่" เฉียด 1 หมื่นล้านบาท กับ ซากโครงการ อันเป็นผลพวงการทุจริตของนักการเมืองชั่วในอดีต
          ต้องขอบคุณ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ มีมติ ครม. เมื่อ 16 พ.ค.2559  เห็นชอบให้ กระทรวงการคลัง รื้อคดีร้องต่อศาลปกครองสูงสุด ให้ชะลอการชำระค่าเสียหาย ในงวดที่ 2  และ งวดที่ 3 ให้กลุ่ม กิจการร่วมค้า NVPSKG
          "เท่าที่หารือเบื้องต้นยืนยันว่ากระทรวงการคลังสามารถยื่นหนังสือถึงศาลปกครองเพื่อให้พิจารณาทบทวนคดีดังกล่าวใหม่ได้ ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องเปิดช่องไว้ ดังนั้น เมื่อ ครม. มอบหมายให้กระทรวงการคลังดำเนินการ เพราะเห็นว่าเราเป็น ผู้ดูแลเงิน ก็มีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ ได้รับมอบหมายมา "
          เป็นความเห็นของ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง โดย ระบุว่า ขณะนี้ อยู่ระหว่างประสานงานกับอัยการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปราม การทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อร่างหนังสือให้กระทรวงการคลังนำ ไปยื่นให้ศาลปกครองให้พิจารณาทบทวนคดีคลองด่าน ตามมติ ครม.
        ประเด็นสำคัญ ที่ เป็นจุดหักเห ในการต่อสู้คดี คือ  มีหลักฐานเพิ่มเติม ที่ เป็น "ข้อมูลใหม่" จากคำตัดสินของศาลอาญาเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2558 ที่ป.ป.ช.เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง จำเลยที่เกี่ยว 3 รายคือ 1.นายปกิต กิระวานิช อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ 2.นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และ 3.นางยุวรี อินนา อดีตนักวิชาการสิ่งแวดล้อม 7
          บุญญาบารมีของ พระสยามเทวาธิราช โดยแท้จริง ที่ช่วยดลบันดาลให้ ศาลอาญามีคำพิพากษาดังนี้
          ศาลอาญามีคำพิพากษาคดีอาญา หมายเลขแดงที่ อ.4197/2558 ลงวันที่ 17 ธันวาคม 2558 จำเลย 3 คน ประกอบด้วย ปกิต กิระวานิช อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ, ศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และ ยุวรี อินนา อดีตนักวิชาการสิ่งแวดล้อม 7 จำเลยที่ 1-3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 ให้ลงโทษจำคุกคนละ 20 ปี
        ประเด็น ที่ เป็น หัวใจหลักให้ รัฐบาล "พล.อ.ประยุทธ์" สามารถต่อสู้กับ "ค่าโง่คลองด่าน"ก็ คือ คำพิพากษาที่ระบุว่า  ....สัญญาดังกล่าวเกิดขึ้นจากการทุจริตของอธิบดีและเจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษในขณะนั้น สมคบกับกิจการร่วมค้าในทุกขั้นตอน เอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มเอกชนได้เข้ามาเป็นคู่สัญญา จึงเป็นสัญญาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ซึ่งมีผลในทางกฎหมายให้สัญญาดังกล่าวเสียเปล่ามาตั้งแต่ต้น
        ขอย้ำอีกครั้ง นั่นหมายความว่า ศาลเชื่อว่า มีการสมคบกับกิจการร่วมค้า NVPSKG ในทุกขั้นตอน เอื้อประโยชน์ให้แก้กลุ่มเอกชนได้เข้ามาเป็นคู่สัญญา.....เป็นประโยคทองที่ต้องขีดเส้นใต้ให้เห็นชัดเจน
         ก่อนหน้านี้่  มติ ครม.เมื่อ 17 พ.ย.58 ใน รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ สั่งให้ สำนักงบประมาณ จ่ายเงินจำนวน  9,891,060,901.10 บาท ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำไปชำระแก่กลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG ตามคำพิพากษาของศาลปกครอง
          แบ่งชำระ 3 งวด งวดแรก วันที่ 21 พ.ย.58  จำนวน 3,174 ล้านบาท  งวดที่ 2  วันที่ 21 พ.ค. 2559 จำนวน 2,380 ล้านบาท และ งวดสุดท้าย  วันที่ 21 พ.ย. 2559  จำนวน  2,380 ล้านบาท
        แต่เมื่อ ศาลอาญามีคำพิพากษา เมื่อ 17 ธ.ค.2558 ออกมา ทุกอย่าง มีผลพลิกกลับ ทันที  และ ทั้ง 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ ปปช. สตง. และ ปปง. ก็เริ่ม กระบวนการต่อสู้ ค่าโง่คลองด่าน ดังนี้
       ป.ป.ช. ได้มีหนังสือลงวันที่ 27 เม.ย. 2559 ส่งข้อมูลกรณีเจ้าหน้าที่รัฐทุจริตต่อหน้าที่มายัง ปปง. และ สตง. มีหนังสือลงวันที่ 27 เม.ย. 2559 ขอให้ ปปง.ใช้อำนาจยึด หรือ อายัดผู้ร่วมกระทำความผิดคดีคลองด่าน โดย ปปง. มีคำสั่งไปยังกรมควบคุมมลพิษ ว่าไม่ต้องจ่ายเงินให้กับกลุ่มการค้า NVPSKG ไม่ใช่เรื่องที่รัฐผิดสัญญา เพราะกระบวนการได้มาเพื่อนำเงินมาจ่ายกลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG เป็นสัญญาโดยมิชอบ เป็นสัญญาผิดกฎหมายตั้งแต่แรก ทำให้ ปปง. ต้องอายัดทรัพย์สิน
       และ เมื่อเป็น ดังนี้ กลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG ต้องมาชี้แจงต่อ ปปง. ภายใน 30 วัน หลังได้รับหนังสือว่าเงินที่ได้มาสุจริตหรือไม่ สัญญาที่ทำกันไว้ถูกกฎหมายหรือไม่ เพื่อหักคำพิพากษาของศาลอาญา ถ้าสามารถชี้แจงได้ก็เพิกถอนคำสั่ง หากชี้แจงไม่ได้ 
      ต้องส่งเรื่องให้ศาลแพ่งดำเนินการพิจารณาทวงคืนเงินค่าเสียหาย ที่จ่ายงวดแรก 3,174 ล้านบาท กลับคืนสู่แผ่นดินด้วย !