ยังรวยได้อีก!! CP ครองแชมป์เศรษฐีไทย 2 ปีซ้อน อู้ฟู้ 6.6 แสนล้าน ทักษิณรั้งอันดับ 10

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่ www.tnews.co.th

นิตยสารฟอร์บส์ เอเชีย และฟอร์บส์ ไทยแลนด์ ฉบับเดือน มิ.ย. ได้จัดอันดับมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดของประเทศไทย โดย 10 อันดับแรก ประกอบด้วย

 

อันดับ 1 คือ ครอบครัวเจียรวนนท์แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ถือครองทรัพย์สินรวม 18,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 666,000 ล้านบาท ครองอันดับ 1 ติดต่อกันจากปีที่แล้ว

 

อันดับ 2 นายเจริญ สิริวัฒนภักดี วัย 72 ปี ประธานกรรมการบริษัทไทยเบฟเวอเรจ เจ้าของบริษัทเบียร์ช้างและบริษัทในเครือ ถือครองทรัพย์สินรวม 13,700 ล้านดอลลาร์ หรือราว 493,200 ล้านบาท

 

อันดับ 3 ตระกูลจิราธิวัฒน์ ธุรกิจห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ถือครองทรัพย์สินรวม 13,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 468,000 ล้านบาท

 

อันดับ 4 นายเฉลิม อยู่วิทยา วัย 65 ปี เจ้าของกลุ่มบริษัทกระทิงแดง ทรัพย์สินรวม 9,700 ล้านดอลลาร์ หรือราว 349,200 ล้านบาท

 

อันดับ 5 นายวานิช ไชยวรรณ เจ้าของบริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด ทรัพย์สินรวม 4,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 144,000 ล้านบาท

อันดับ 6 นายกฤตย์ รัตนรักษ์ ประธานกรรมการสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ทรัพย์สินรวม 3,300 ล้านดอลลาร์ หรือราว 118,800 ล้านบาท

 

อันดับ 7 นายวิชัย ศรีวัฒนประภา ประธานกรรมการกลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ แท็กซ์ฟรี จำกัด ทรัพย์สินรวม 3,250 ล้านดอลลาร์ หรือราว 117,000 ล้านบาท

 

อันดับ 8 นพ.ประเสริฐ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด ทรัพย์สินรวม 3,200 ล้านดอลลาร์ หรือราว 115,200 ล้านบาท

 

อันดับ 9 นายสันติ ภิรมย์ภักดี แห่งบริษัทบุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด เจ้าของบริษัทเบียร์สิงห์และบริษัทในเครือ ถือครองทรัพย์สินรวม 2,400 ล้านดอลลาร์ หรือราว 86,400 ล้านบาท

 

และอันดับ 10 นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและนักลงทุน ถือครองทรัพย์สิน 1,650 ล้านบาท หรือราว 59,400 ล้านบาท

 

อย่างไรก็ดี นิตยสารฟอร์บส์ ระบุด้วยว่า แม้เศรษฐกิจไทยเฉลี่ยเติบโตเมื่อช่วงปี 2558 อยู่ที่ราว 2.8 เปอร์เซ็นต์ แต่หนี้สินประชาชนภาคครัวเรือนเฉลี่ยก็เพิ่มขึ้น ขณะที่เหล่าเศรษฐีหลายคนมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นและขยายการลงทุนธุรกิจขึ้นอีกมากมาย

 

 

ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุด เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาสแรกปี 2559 ว่า สถิติหนี้ครัวเรือนที่กู้ยืมผ่านสถาบันการเงิน ณ สิ้นปี 2558 มีมูลค่า 11 ล้านล้านบาท คิดเป็น 81.5% ของจีดีพีเพิ่มขึ้น 5.2% เมื่อเทียบกับปลายปี 2557 ขณะที่หนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนปี 2558 อยู่ที่ 156,770 บาท ลดลง 2% ต่อปี เมื่อเทียบกับปี 2556 ที่เพิ่มขึ้น 10% ต่อปี

       

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหนี้สินครัวเรือนในภาพรวมจะลดลง แต่ปรากฏว่าครัวเรือน 8.96 ล้านครัวเรือน หรือ 42% ของครัวเรือนทั้งหมด มีรายได้ต่ำกว่ารายจ่ายและหนี้สิน ขณะที่ครัวเรือนอีก 7.79 ล้านครัวเรือน หรือ 35.1% ของครัวเรือนทั้งหมด มีเงินเหลือจากการใช้จ่ายไม่ถึง 5,000 บาท

       

"หนี้สินครัวเรือนก้อนใหญ่ โดยเฉพาะครัวเรือนภาคเกษตรกรที่มีหนี้สินคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 15% ของหนี้สินครัวเรือนทั้งประเทศ หรือมูลค่า 1.6 ล้านล้านบาท ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นนักลงทุน" นายปรเมธี กล่าว