ก่อนจะบานปลาย!!!  ค้นกำเนิดโขนไทย - โขนเขมร แท้ๆ เป็นชิ้นมรดกเดียวกัน??

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ www.tnews.co.th

     จากกรณีที่หนุ่ม-สาว ชาวกัมพูชา ได้ร่วมกันโพสต์ภาพพร้อมข้อความป้ายคัดค้าน หลังไทยเตรียมยื่นยูเนสโกนำ “โขน” ขึ้นเป็นมรดกโลกด้านวัฒนธรรม โดยกล่าวว่า “โขน เป็นศิลปะของกัมพูชาแต่เพียงผู้เดียว ไม่ใช่ของไทย”

 

     ขณะที่การตรวจค้นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของการละเล่นโขนไทยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยทรงกล่าวไว้ว่า  การแสดงโขนเชื่อว่ามีมาแต่โบราณ  ประมาณกันว่าไทยมีการแสดงโขนมาก่อนพุทธศตวรรษที่ 16  โดยอาศัยหลักฐานจากการสันนิษฐานลายแกะสลักเรื่องรามายณะ    , จากแหล่งโบราณคดีหลายแหล่ง  และจากตำนานการแสดงโขนในกฎมณเฑียรบาล

 

     โดยโขนแต่เดิมมีเฉพาะโขนหลวงประจำราชสำนัก  และผู้ที่จะฝึกหัดโขนต้องเป็นผู้มีบรรดาศักดิ์  คนธรรมดาสามัญจะฝึกหัดโขนไม่ได้ จึงกลายเป็นประเพณีสืบต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ที่พวกที่ฝึกหัดโขนมักเป็นมหาดเล็กหรือบุตรหลานข้าราชการ

 

     ต่อมามีความนิยมที่ว่าการฝึกหัดโขนทำให้ชายหนุ่มที่ได้ฝึกหัดมีความคล่องแคล่วว่องไวในการรบหรือต่อสู้กับข้าศึก  จึงมีการพระราชทานอนุญาตให้เจ้านาย และขุนนางผู้ใหญ่ตลอดจนผู้ว่าราชการเมืองฝึกหัดโขนได้ โดยคงโปรดให้หัดไว้แต่โขนผู้ชายตามประเพณีเดิม เพราะโขน และละครของเจ้านายผู้สูงศักดิ์หรือข้าราชการก็ต้องเป็นผู้ชายทั้งนั้น ส่วนละครผู้หญิงจะมีได้แต่ของพระมหากษัตริย์ ด้วยเป็นประเพณีที่ยึดถือปฏิบัติมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา

 

     ภายหลังความนิยมโขนก็เริ่มเสื่อมลง เนื่องจากระยะหลังเจ้าของโขนมักเอาคนพวกลูกหมู่ และลูกทาสมาหัดโขน ทำให้ผู้คนเริ่มมองว่าผู้แสดงเหล่านั้นต่ำเกียรติ อีกเหตุผลหนึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงประเพณีโบราณในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่ทรงพระราชทานอนุญาตให้พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ผู้น้อยมีละครผู้หญิงได้ ทำให้เจ้าสำนักต่างๆ พากันเปลี่ยนผู้แสดงจากชายเป็นหญิงจำนวนมาก ยกเว้นบางสำนักที่นิยมศิลปะแบบโขน ทั้งยังมีครูบาอาจารย์ และศิลปินโขนอยู่ก็รักษาไว้สืบต่อมา

 

     ส่วนข้อมูลของต้นแบบโขนละคร ในราชสำนักกัมพูชา ถูกระบุว่าเริ่มมีหลัง พ.ศ. 1500โดยต้นแบบโขนละครของกัมพูชา มีชื่อเรียกว่า   “แสบกธม” (อ่านว่า สะ-แบก-ทม) มีร่องรอยการกำเนิดเกิดขึ้นในราชสำนักกัมพูชาตั้งแต่ราวหลัง พ.ศ. 1500  และมีข้อมูลระบุว่าก่อนระหว่าง พ.ศ. 1000-1500  ไม่พบหลักฐานว่ามีร่องรอยต้นแบบโขนละครในราชสำนักทวารวดี บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา  รวมถึงในช่วงพ.ศ. 1500 ก็ยังไม่พบหลักฐานกลุ่มชนเรียกตัวเองว่า “ไทย” เหมือนคนไทยทุกวันนี้ จะมีก็แต่คำว่า ไต, ไท หมายถึง คน, ชาว มีใช้ในทุกกลุ่มชาติพันธุ์ในสุวรรณภูมิ ไม่จำกัดว่าเป็นสมบัติของกลุ่มไหน

 

     หลังจากนี้อีกราว 100 ปี จะเริ่มพบคำว่า “สยาม” ในจารึกจามและเขมร แต่หมายถึงกลุ่มชนในดินแดนสยามเท่านั้น ซึ่งเป็นชาติพันธุ์อะไรก็ได้ โดยยังไม่เรียกตัวเองว่า “คนไทย”

     ที่น่าสนใจคือมีผู้รู้สรุปว่านาฏศิลป์กัมพูชาเรียกได้ว่าเป็นต้นแบบของศิลปะการร่ายรำชั้นสูงในแถบสุวรรณภูมิทั้งหมด สืบทอดมาตั้งแต่ในยุคที่อาณาจักรขอมรุ่งเรือง เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค แต่มีการขาดตอนไปในช่วงการปกครองของเขมรแดง ที่วัฒนธรรมชั้นสูงทุกอย่างถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง ตั้งแต่พระราชวังหลวง ไปจนถึงตำรับตำรานาฏศิลป์และหัวโขน รวมถึงชุดนางรำ เมื่อหมดยุคเขมรแดง ทางการกัมพูชาจึงต้องรื้อฟื้นศิลปะระบำหลวงขึ้นมาใหม่ทั้งหมดโดยอาศัยดูแบบอย่างจากไทย ซึ่งเปรียบเป็นบันทึกอารยธรรมเก่าแก่ของกัมพูชาที่ยังสมบูรณ์ที่สุด 

 

     ด้วยเหตุนี้จึงเรียกได้ว่าโขนไทยได้แบบอย่างจากกัมพูชา และโขนกัมพูชา ก็ได้แบบอย่างจากไทยไปเช่นกัน !!!