ความอดทนมีจำกัด!!!"แอมเนสตี้ฯ"ยุโลกกดดันปล่อย8แอดมินเพจ..กล้ามั๊ยเข้ามาโผล่หน้าในไทย??

ติดตามรายละเอียด www.tnews.co.th

     ไม่ได้หยุดความพยายามแทรกแซงอธิปไตยผ่านกระบวนการยุติธรรมและบทบัญญัติทางกฎหมายไทย   แม้ว่าจะได้รับคำชี้แจงในหลายระดับแล้วก็ตาม    ล่าสุดมีรายยงานข่าวว่าสำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล  ได้เชิญชวนสมาชิกและผู้สนับสนุนให้ช่วยกันส่งจดหมายเรียกร้องทางการไทยให้ยกเลิกข้อหากับ  8  ผู้ต้องหาที่โดนจับและตั้งข้อหาจากการแสดงความเห็นบนเฟซบุ๊ก ประกอบด้วย    นายหฤษฎ์ มหาทน  , นายนพเก้า คงสุวรรณ , นายวรวิทย์ ศักดิ์สมุทรนันท์ , นายโยธิน มั่งคั่งสง่า , นายธนวรรธน์ บูรณศิริ  , นายศุภชัย สายบุตร ,นายกัณสิทธิ์ ตั้งบุญธินา และนางสาวณัฏฐิกา วรธัยวิชญ์   โดยการรณรงค์นี้จะมีจนถึงวันที่ 12 กรกฎาคม 2559

 

      นอกจากนี้ แอมเนสตี้ยังเรียกร้องให้มีการปล่อยตัว นายหฤษฎ์ และนางสาวณัฏฐิกา  2 ใน 8  ผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวซึ่งแจ้งข้อหาเพิ่มเติมเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นพระบรมราชานุภาพตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา  โดยอ้างว่าเป็นความพยายามของภาครัฐในการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพด้านการแสดงออกที่ละเมิดต่อหลักสิทธิมนุษยชน และผู้ใช้เฟซบุ๊กทั้ง 8 คนมีกำหนดรับการไต่สวนโดยศาลทหารในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ โดยหากถูกตัดสินว่ามีความผิดจริง อาจได้รับโทษจำคุกสูงสุดถึง 12 ปี

 

     แน่นอนว่าแนวทางการปฏิบัติของแอมเนสตี้ในฐานะองค์ระหว่างประเทศ ย่อมได้รับการต่อต้านจากประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ที่เห็นว่าการดำเนินการดังกล่าว นับวันจะเข้าข่ายการละเมิดกิจการภายในของไทยอย่างชัดเจนมากขึ้นเช่นกัน  เนื่องจากข้อมูลของหน่วยงานความมั่นคงของไทย    ยืนยันว่ามีประจักษ์พยานหลักฐานว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหา ไม่ใช่การกระทำในลักษณะของการแสดงความเห็นโดยเสรีภาพของตัวบุคคล  เหมือนคนไทยอีกหลายสิบล้านคนที่คงใช้ชีวิตและแสดงความเห็นได้อย่างปกติ

 

     แต่เป็นขบวนการที่มีความผิดชัดเจนในหลักฐานว่ามีเจตนาโพสต์ข้อความที่มีผลทางจิตวิทยาทำให้บุคคล องค์กร รัฐบาล เกิดความไม่น่าเชื่อถือ  และไม่ได้รับความไว้วางใจซึ่งขัดกับแนวทางการบริหารราชการ และรักษาความสงบของสังคมนำไปสู่การคล้อยตามการต่อต้านและทำให้เกิดการปลุกระดมประชาชนให้ลุกฮือต่อต้านอำนาจรัฐ    

 

อันเป็นมูลฐานความผิดที่ปรากฏตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์  มีสาระสำคัญตามมาตรา  14  ระบุว่าผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5  ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


(1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน


(2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน


(3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา


(4) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้


(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)

      ส่วนกฎหมายอาญา มาตรา 116   มีสาระสำคัญว่า    ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา   หนังสือ   หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต


(1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย


(2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน   หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน   ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร   หรือ


(3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน    ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี

 

     ขณะที่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 บัญญัติไว้ว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี “   

 

     และโดยเฉพาะกรณีของ นายหฤษฎ์ มหาทน   มีหลักฐานชัดเจนจากการพิสูจน์ทราบพฤติกรรม  ที่ปรากฏในคอมพิวเตอร์ส่วนตัว ทั้งการตัดต่อภาพและการนำเสนอข้อความที่ถือเป็นการล่วงละเมิด สถาบันเบื้องสูง  ซึ่งจำเป็นยิ่งต้องย้ำการรับรู้ให้ฝรั่งมังค่าอย่างแอมเนสตี้ฯต้องรับรู้และเข้าใจว่าประเทศไทยให้เสรีภาพการแสดงความเห็น แต่กรณีนี้ถือเป็นการแสดงความเห็นที่มีเจตนาแฝงยุยง ปลุกปั่นทางการเมือง  มิหนำซ้ำยังก้าวล่วงต่ององค์พระประมุขสูงสุดของประเทศที่คนไทยทุกคนมีหน้าที่จะต้องปกป้องอย่างถึงที่สุด !!!