จากโผโยกย้ายฉาว ปฏิรูปตำรวจคงต้องรื้อกันตั้งแต่หัวยันหาง!!

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่ www.tnews.co.th

หนึ่งในความหวังที่ประชาชนคนไทยฝากเอาไว้กับ รัฐบาล คสช. นั่นก็คือการปฏิรูปองค์กรตำรวจ ให้กลับมาเป็นองค์กรที่ทำงานเพื่อพิทักษ์สันติราษฎร์อย่างแท้จริง ดังที่หลายต่อหลายคนได้เคยกล่าวเอาไว้ว่า ถ้าไม่สามารถทำให้สำเร็จในยุคนี้ ก็คงจะสิ้นหวังแล้วกับการปฏิรูปตำรวจไทย

 

 

แต่จนถึงขณะนี้ความหวังที่ว่าดูเหมือนจะเลือนรางลงทุกขณะ ตัวอย่างที่เห็นอยู่ตำตาในขณะนี้ คือปัญหาบัญชีแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับสารวัตร-รองผู้บังคับการ วาระประจำปี 2558 ที่กว่าจะเคาะรายชื่อกันออกมาได้ก็ยืดเยื้อวุ่นวายมากว่าครึ่งค่อนปี จน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช. ต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งฉบับที่ 21/2559 ให้อำนาจผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเพื่อให้ได้ข้อสรุป แต่สุดท้ายก็ไม่วายทำอับอายขายหน้ากับข้อผิดพลาดที่คาดไม่ถึงว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างไร??

 

 

จึงไม่น่าแปลกใจที่เรื่องนี้จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ถึงกับควันออกหู เมื่อสื่อมวลชนจี้ถามเกี่ยวกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอย่างมีอารมณ์ในบางช่วงบางตอนว่า “มันก็ผิดกันมาตั้งแต่ชาติที่แล้ว ผิดมาตลอด รองนายกฯ เขาก็กำลังแก้อยู่ การแต่งตั้งคนเป็นหมื่นคนมันตั้งได้ไหม ในเมื่อระบบไม่ได้เป็นแบบนี้ วันนี้เราต้องแก้อะไร แก้พนักงานสอบสวน ปรับโน่น ปรับนี่ วันนี้เราต้องแก้ทั้งหมด และไอ้นี่มันพร้อมหรือยัง ศูนย์เธอให้อะไรเขาบ้าง เครื่องมือมีหรือไม่ ไปดูให้ครบ วันนี้ผิด ก็ไม่หาว่ามันผิดตรงไหนอย่างไร บัญชีอันนั้นทำมาตั้งแต่เมื่อไหร่ และทุกครั้งปรับมาทีละขั้น วันนี้ทั้งหมดมัน มันติดหมดเพราะคนนี้ก็จะปฏิรูป คนนี้จะแก้ไอ้นี่ มันก็กองทั้งหมดขึ้นมาข้างบน แล้วมันจะทำในเวลาอันจำกัด ถามว่าเสร็จหรือยัง ก็เอาสิเร่งกันไปเรื่อยๆ ผมไม่ได้โทษใครหรอก ผมรับทั้งหมด ผมรับผิดชอบ ผิดก็คือคนรับผิดชอบ

เกี่ยวกับประเด็นนี้ นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ผู้อำนวยการสำนักข่าวทีนิวส์ มองว่า ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่สุดๆ จริง ๆ และถ้ายิ่งย้อนกลับไปดูคำสั่งก่อนหน้านี้ ที่มั่วแสนมั่ว คือ การโยกย้ายนายตำรวจที่เสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะประชาชนคนธรรมดา ตายไป ก็ต้องมีการออกใบมรณบัตร ต้องแทงจำหน่ายบัญชีออกไป เป็นข้าราชการมันต้องแทงบัญชีออกไป แต่กลับมาทำบัญชีโยกย้ายได้อย่างไร คนที่เซ็นคำสั่งไม่เท่าไหร่ แต่สิ่งที่สะท้อนออกมา ก็คือ ระบบของการโยกย้าย มีชื่อนี้มาใส่ได้อย่างไร นี่ไม่นับการโยกย้ายที่ซ้ำซ้อน

 

 

แต่ที่เกินบรรยายจริงๆ คือ คำสั่งย้าย พ.ต.ท.ธนบัตร ประเสริฐวิทย์ ซึ่งเป็นระดับรองผู้กำกับ นายตำรวจคนนี้ โดนออกหมายจับกระทำความผิด ตามมาตรา 112 ซึ่งวันที่ 2 ธ.ค.2558 ที่ผ่านมา พล.ต.อ.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา ที่ปรึกษา สบ.10 ในฐานะ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้แถลงเองชัดๆ ว่ามีการออกหมายจับ พ.ต.ท.ธนบัตร แล้ว แต่วันนี้ยังมาอยู่ในบัญชีโยกย้าย อีแบบนี้ ประชาชนจะเอาความหวังอะไรไปไว้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติครับ และอย่ามาอ้างข้างๆ คู ๆ ว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังไม่ได้สั่งให้ออกจากราชการ คนถูกหมายจับ มาตรา 112 ยังไม่สั่งออกจากข้าราชตำรวจ ก็ยิ่งสุดจะบรรยายเข้าไปอีก ก็ต้องเรียนไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ละครับว่าเรื่องนี้ ขอให้ท่านได้พิจารณาประสิทธิภาพของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ตั้งเป้าจะปฏิรูปให้เสร็จภายใน 1 ปี ซึ่งถูกต้องที่สุด แต่ให้ดูถึงประสิทธิภาพ ของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องหน่อยเถอะครับ

 

ขณะเดียวกัน เกี่ยวกับงานปฏิรูปที่อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มี อ.มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ล่าสุดได้วางแนวทางการปฏิรูปตำรวจไว้ในหมวดปฏิรูปประเทศในร่างรัฐธรรมนูญ โดยแบ่งรูปแบบของการปฏิรูปออกเป็น 3 แนวทาง ประกอบด้วย

 

 

1.การปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญาให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการอย่างเหมาะสม กำหนดระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ให้ชัดเจนเพื่อมิให้คดีขาดอายุความ

 

2.การสอบสวนคดีต้องใช้ประโยชน์จากนิติวิทยาศาสตร์ และจัดให้มีบริการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์มากกว่าหนึ่งหน่วยงานที่มีอิสระจากกัน เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างมีทางเลือก

 

 และ 3.ให้มีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมาดำเนินการปฏิรูปให้เสร็จภายใน 1 ปี

         

ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการ ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีมุมมองต่อเรื่องนี้ว่า กรอบระยะเวลา 1 ปี ไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะต้องเปลี่ยนแปลงได้ทั้งหมด เพียงแต่ว่ากลไกในทุกด้านของตำรวจ ทั้งองค์กร หลักการการทำงาน การปฏิบัติหน้าที่ และสิ่งสำคัญคือพฤติกรรมของตำรวจไทยจะต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงให้ได้ภายใน 1 ปีข้างหน้านี้

         

"แน่นอนว่าตำรวจเป็นองค์กรต้นน้ำที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรมในสังคมเมืองไทย เมื่อต้นน้ำมีปัญหา การเปลี่ยนแปลงจึงต้องเกิดขึ้นและต้องกระทำให้ได้ ส่วนกรอบเวลาเป็นเรื่องของแนวทางที่ต้องเริ่มต้นปฏิรูปกันได้เสียที เพื่อให้อนาคตเป็นไปตามเป้าหมาย"

      

นายเสรี ระบุอีกด้วยว่า สิ่งที่ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองกังวลเกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจ คือ เรื่องพฤติกรรมของตำรวจเอง เพราะต้องยอมรับว่าตำรวจทุกวันนี้ใช้อาชีพผู้พิทักษ์สันติราษฎร์เป็นช่องทางหากิน หาผลประโยชน์ให้กับตัวเอง แต่เรื่องพฤติกรรมเป็นอะไรที่เปลี่ยนแปลงได้ยากที่สุด หากมีกฎหมายมากำหนดบังคับวิธีการปฏิบัติหน้าที่ หลักการตรงนี้เองก็จะเปลี่ยนพฤติกรรมของตำรวจให้ถูกต้องขึ้นมาได้

        

"ความเคยชินของตำรวจคืออุปสรรคของการปฏิรูป สภาพของตำรวจเมืองไทยทุกวันนี้เราต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่ก็หาผลประโยชน์ให้กับตัวเอง เราปฏิเสธเรื่องนี้ไม่ได้ ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องวิ่งเต้นโยกย้ายเท่านั้น แต่ตำรวจส่วนหนึ่งจะหาทุกช่องทางที่จะเรียกรับผลประโยชน์ อีกทั้งอาชีพนี้มีช่องโหว่ให้ทุจริตได้ง่าย และก็เรียกผลประโยชน์ได้เยอะ ดังนั้นจะต้องเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ ไม่เช่นนั้นชาวบ้านก็เดือดร้อน เพราะตำรวจแทนที่จะบำรุงความยุติธรรมให้กับสังคม แต่กลับเอาเวลาไปหาเงินให้ตัวเอง ซึ่งที่ผ่านมามันไม่ถูกต้อง" นายเสรี กล่าว