วิกฤต BREXIT ทำเงินปอนด์ดิ่งเหว คนอียู ตีกันวุ่น

ติดตามข่าวสาร ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ www.tnews.co.th

สื่ออังกฤษรายงานค่าสกุลเงินปอนด์สเตอร์ลิงอังกฤษตกมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 1985 ต่ำกว่า 1.30 ดอลลาร์ในวันที่ 6 ก.คส่วนอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้รัฐบาลสหรัฐฯแตะต่ำสุดในรอบ 30 ปี ท่ามกลางความผันผวนต่อเนื่องหลังจากวิกฤต BREXIT ส่วนอิตาลี ยักษ์ใหญ่เศรษฐกิจอันดับ 3 ของยูโรโซนระส่ำจากวิกฤตสถาบันการเงินของประเทศ
 

เดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษรายงานวันที่ 6 ก.ค จากกระแส BREXIT และความวิตกกังวลต่อการไร้เสถียรภาพของกลุ่มสหภาพยุโรปทำให้การซื้อขายในช่วงเวลาหนึ่งพบว่า ค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงอังกฤษต่ำกว่า 1.2798 ดอลลาร์สหรัฐฯ และเมื่อเปรียบกับค่าสกุลเงินเยนที่แข็งแกร่ง พบว่าเงินปอนด์ตกไปลงถึง 128.81 เยน ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2012 เป็นต้นมา
 

ความวิตกต่อผลกระทบได้ส่งไปถึงตลาดสินค้าคอมโมดิตี หลังจากที่ราคาน้ำมันดิบตกไปกว่า 5% ในวันอังคาร(5 ก.ค)และในวันนี้(6 ก.ค)น้ำมันดิบเบรนท์ตกลงไปอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ 47.57 ดอลลาร์ พร้อมกับราคาน้ำมันดิบสหรัฐฯอยู่ที่ 46.21ดอลลาร์ในช่วงหนึ่งของการซื้อขาย
 

และทำให้บรรดานักลงทุนต้องหันหน้าเข้าหาตราสารหนี้รัฐบาลที่มีความมั่นคงแทน ทำให้ตลาดยิ่งอยู่ในภาวะผันผวนมากยิ่งขึ้น
 

นอกจากนี้ อัตราตอบแทน(yield)ของพันธบัตรสหรัฐฯซึ่งถือเป็นเบนช์มาร์กของตราสารหนี้ทั่วโลก พบว่าแตะต่ำสุดในรอบ 30 ปี โดยนักลงทุนต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ยให้ญี่ปุ่น 0.27% สำหรับเงินกู้จากแดนซากุระเป็นเวลา 10 ปี
       
“ยังไม่มีการคาดการณ์ไปถึงอัตราเงินเฟ้อ และไม่มีการเติบโตที่แข็งแกร่ง สิ่งที่เรามีอยู่ในเวลานี้คือความไม่แน่นอน” ฮิโรโกะอิวากิ(Hiroko Iwaki) นักวิเคราะห์ตราสารหนี้อาวุโสประจำสถาบันมิซูโฮ ซีคิวริตีส์(Mizuho Securities)ให้ความเห็น
       
แต่อย่างไรก็ตามเมื่อมองไปยังฝั่งญี่ปุ่น กลับพบความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดเมื่อตลาดหุ้นนิเคอิไต่สูงขึ้น 3% ในขณะที่ MSCI อินเด็กซ์ ซึ่งถือว่าเป็นดัชนีย์กว้างที่สุดของหุ้นแถบเอเชียแปซิฟิกนอกประเทศญี่ปุ่นตกลงไป 1.6%

 

เดอะการ์เดียนรายงานต่อว่า นักลงทุนต่างคาดหวังว่าธนาคารกลางประเทศใหญ่ๆทั่วโลกจะออกมาตรการมาเยียวยาหลังจากสหราชอาณาจักรอังกฤษมีประชามติช็อกโลก “ประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป”
 

แต่ทว่าบรรดานักวิเคราะห์และธนาคารต่างๆออกคำเตือนว่า อย่าได้คาดหวังมากนัก เพราะเชื่อว่า การเคลื่อนไหวจะอยู่แต่ในวงจำกัด “ดูเหมือนว่าตลาดการเงินต่างๆจะสามารถมองภาพจากความเป็นจริงถึงความซับซ้อนและไม่แน่นอนของปัญหาที่มีการเมืองอยู่เบื้องหลัง และผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ชะลอการเติบโตเศรษฐกิจโลก” นักวิเคราะห์ประจำANZแถลง และยังกล่าวต่อว่า “และนี่ทำให้ชี้ไปในทิศทางว่า สงครามระหว่างการสนับสนุนจากธนาคารกลางและปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจจะยิ่งเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น และจะยิ่งทำให้ตลาดแปรปรวนหนักมากขึ้น”
 

สื่ออังกฤษรายงานต่อว่า และพบว่าค่าเงินปอนด์ของอังกฤษต่อสกุลเงินเยนญี่ปุ่นต่ำกว่า 131 เยนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปลายปี 2012 ในขณะที่ค่าสกุลเงินยูโรสูงขึ้น 85.30 เพนนี ในรอบ 2 ปีครึ่ง วึ่งเป็นที่เข้าใจได้ว่าในขณะนี้สกุลเงินเยนได้กลายเป็นแหล่งหลบภัยชั้นดีของนักลงทุนทั่วโลกไปแล้ว โดยพบว่าเมื่อเปรียบเทียบกับสกุลเงินดออลาร์สหรัฐฯ เงินเยนไต่ขึ้นถึง 100.94 ดอลลาร์ สอดคล้องกับราคาทองคำโลกที่ได้ไต่ขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่ต้นปี 2014 อยู่ที่ 1,370.60 ดอลลาร์
 

ซึ่งนักค้าต่างกล่าวว่าไม่มีเหตุใดอยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลง แต่เป็นการเกิดมาจากปัจจัยลบต่างๆที่เกิดขึ้นมากกว่า
 

นอกจากนี้ยังพบว่า กองทุนรวมคอมเมอร์เชียลพร็อพเพอร์ตี้ของบริษัทอังกฤษ 3 แห่งที่มีมูลค่านับหมื่นล้านปอนด์ต้องหยุดการซื้อขายชั่วคราวเนื่องมาจากราคารูดลงอย่างหนัก ในขณะที่ธนาคารอังกฤษต้องเข้ามาแทรกแซงเพื่อที่จะทำให้แน่ใจว่าธนาคารในอังกฤษยังคงเปิดให้มีการปล่อยกู้ตามปกติ
       
เดอะการ์เดียนชี้ต่อว่า และเมื่อมองข้ามช่องแคบอังกฤษเข้าไปยังทวีปยุโรป พบว่า อิตาลีที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของเขตยูโรโซนกำลังอยู่ในช่วงความผันผวนอย่างหนักในเวลานี้ “อิตาลีกำลังเผชิญกับวิกฤตอย่างสาหัส ที่ไม่ใช่เป็นการเกิดขึ้นอย่างเป็นขั้นตอนหรือการเป็นเส้นตรง” ฟรานเซสโก กาเลียตติ( Francesco Galietti) ผู้บริหารประจำบริษัทที่ปรึกษาจัดการความเสี่ยง โพไลซี โซนาร์(Policy Sonar)ในกรุงโรม และอดีตเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการคลังอิตาลีให้ความเห็น พร้อมกล่าวต่อว่า “ปัจจัยซึ่งหน้าที่ทำให้เกิดขึ้นคือวิกฤตธนาคารสถาบันการเงิน”

ทางด้าน ฌอง-โคลด จุงเกอร์ ประธานของคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งก็คือองค์กรบริหารของอียู กล่าววิพากษ์วิจารณ์แรงๆ ใส่นักการเมืองอังกฤษอย่าง ไนเจลฟาราจ และ บอริส จอห์นสัน ว่าเป็น “วีรบุรุษผู้เลวร้าย” ของ “เบร็กซิต” เพราะพากันถอยหนีไม่ยอมเข้าแบกรับภาระนำพาอังกฤษ ในการเดินทางออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปตามที่พวกเขารณรงค์เรียกร้อง
 

“เหล่าวีรบุรุษของเบร็กซิตเมื่อวานนี้ ตอนนี้กลับกลายเป็นวีรบุรุษผู้เลวร้ายของวันนี้ไปเสียแล้ว” จุงเกอร์กล่าวขณะแถลงต่อรัฐสภายุโรป ซึ่งตั้งที่ทำการอยู่ในเมืองสตราสบูร์ก ประเทศฝรั่งเศส
 

“พวกที่มีส่วนสำคัญซึ่งก่อให้เกิดสถานการณ์ในอังกฤษต่างพากันลาออกแล้ว ทั้งจอห์นสัน, ฟาราจ และคนอื่นๆ พวกเขาทำตัวเหมือนกับเป็นเพียงนักชาตินิยมย้อนยุค พวกเขาไม่ได้เป็นผู้รักชาติเลย” จุงเกอร์บอก
 

“ผู้รักชาตินั้นไม่ลาออกหรอกเมื่อสิ่งต่างๆ ตกอยู่ในความยากลำบาก พวกเขาจะยืนหยัดอยู่ต่อไป” เขากล่าว

จุงเกอร์กำลังรายงานให้สมาชิกรัฐสภายุโรปทราบถึงผลการประชุมซัมมิตผู้นำอียูครั้งประวัติศาสตร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน ของอังกฤษ เข้าร่วมแค่เพียงในวันแรก เพื่อแจ้งให้ผู้นำรัฐสมาชิกอียูคนอื่นๆ ทราบผลการลงประชามติในอังกฤษที่ตัดสินให้ถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป

ภายหลังทราบผลประชามติ คาเมรอนประกาศจะลาออกจากตำแหน่งภายในเดือนตุลาคมนี้ แต่ปรากฏว่า จอห์นสัน ซึ่งเป็นตัวเก็งว่าจะก้าวขึ้นแทนที่คาเมรอน กลับตัดสินใจไม่ลงแข่งขันชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟคนใหม่ที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนต่อไป ขณะที่ ฟาราจ ก็แถลงในวันจันทร์ (4 ก.ค.) ว่าตัดสินใจก้าวลงจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคยูเค อินดีเพนเดนซ์ ปาร์ตี้ (UKIP)
 

จุงเกอร์ยังแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์พวกที่รณรงค์ให้อังกฤษถอนตัวออกจากอียู ว่ากำลังล้มเหลวเพราะไม่ทราบกันเลยว่าพวกเขาต้องการจะทำอะไรกันต่อไป และอังกฤษก็กำลังชะลอการแจ้งขอออกจากสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการ
 

“แทนที่จะกำลังช่วยกันจัดทำแผนการ พวกเขากลับกำลังกระโดดหนีออกจากเรือ” จุงเกอร์เหน็บ
 

ทางด้าน กีย์เวอร์โฮฟสตัดต์ สมาชิกรัฐสภายุโรประดับอาวุโสในกลุ่มที่มีแนวคิดเสรีนิยม ก็โจมตีเล่นงานฟาราจและจอห์นสัน
 

“พวกรณรงค์เรียกร้องเบร็กซิตพวกนี้ ทำให้ผมนึกไปถึงพวกหนูที่กำลังผละหนีออกจากเรือที่กำลังจะจม” เวอร์โฮฟสตัดต์กล่าว “พวกคุณกำลังรออะไรกันอยู่ล่ะ การลงประชามติครั้งต่อไปในฝรั่งเศสหรือ หรือบางทีอาจจะมีขึ้นในอิตาลีก็ได้นะ”

 

ขณะนี้ยุโรปขาดเสถียรภาพอย่างหนัก หลังจากที่ทางสหราชอาณาจักร ได้มีการลงประชามติ ออกจากอียูไป  ซึ่งแน่นอนว่า มีทั้งกลุ่มประเทศที่เป็นพันธมิตรกับอังกฤษ ก็ยังคงสนับสนุนในการเดินหน้าของอังกฤษต่อไป แต่กลุ่มที่ต้องการให้อังกฤษดำเนินเรื่องต่าง ๆ ให้เสร็จสิ้นเร็วที่สุดก็กดดันอย่างหนัก แม้แต่ในสหราชอาณาจักรเองก็ มีปัญหา จากแคว้นต่าง ๆ ที่เห็นต่าง ซึ่งตรงนี้เอง อาจจะทำให้ หลังจากนี้ เศรษฐกิจของยุโรป ที่แย่อยู่แล้ว จะกลับแย่มากไปกว่าเดิม