จับตา DSI แถลงคดีรถเบนซ์หรู ชนักติดหลัง "สมเด็จช่วง" ดับฝันสังฆราช

จับตา DSI แถลงคดีรถเบนซ์หรู ชนักติดหลัง "สมเด็จช่วง" ดับฝันสังฆราช

ปมร้อนเรื่องของการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงง่ายๆ ซึ่งในวันพรุ่งนี้(15ก.ค.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ ก็จะมีการแถลงข่าวเกี่ยวกับความชัดเจนเกี่ยวกับคดีการครอบครองเบนซ์คลาสสิกผิดกฎหมายของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือสมเด็จช่วง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ

ซึ่งต้องรอติดตามกันว่ารายละเอียดจะออกมาเป็นอย่างไร แต่ถึงอย่างไรก็ตามการที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่ายังไม่มีการตั้งสมเด็จพระสังฆราชเกิดขึ้นก็ทำให้มีกลุ่มที่เคลื่อนไหวกดดัน จนกลายเป็นประเด็นการวิพากวิจารณ์ในสังคมว่าอาจจะเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมและจะผิดกฏหมายหรือไม่

ซึ่งในวันนี้(14ก.ค.) ก็เป็นอีกวันหนึ่งที่พระเมธีธรรมาจารย์ หรือ เจ้าคุณประสาร จนฺทสาโร เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก  ระบุถึงจุดยืนของตนเอง โดยระบุว่า จุดยืนพระเมธีธรรมาจารย์ ?

 

มีบางท่านบางคนสงสัยในจุดยืนของอาตมาว่าจะเอาอย่างไรกันแน่ เพราะ

 

1. ให้เวลานายกรัฐมนตรี 7 วัน ถ้าไม่ดำเนินการจะนำม็อบพระออกมาต้าน

 

2. พอนายกรัฐมนตรีออกมาพูดหนักแน่นว่าจะจับก็กลัว รีบแก้ตัวพัลวันว่า ไม่ได้มีความหมายแบบนั้น

ขอยืนยันกับทุกท่านว่า มติขององค์กรพุทธเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2559 นั้นยังคงเป็นมติที่อาตมาและคณะต้องปฏิบัติตาม  ใครจะพูด จะเข้าใจหรือต่อว่าต่อขานอย่างไร ก็ไม่มีปัญหา เพราะอาตมาได้อธิบายในรายละเอียดในมติทั้ง 5 ข้อนั้นแล้ว ว่าแต่ละข้อหมายถึงอะไร    อาตมาไม่เคยท้าทายใคร เป็นสงฆ์ต้องสงบ ไม่เบียดเบียนและไม่เคยกลับกลอกเพื่อเอาตัวรอด เพราะถ้าสิ่งไหนที่ได้ทำเพื่อคณะสงฆ์และพระพุทธศาสนาแล้วอาตมาไม่เคยถอยและไม่เคยหลบสายตาใคร ขอยืนยันกับทุกท่านว่าวันนี้ยังมีกำลังใจที่ดี มีจุดยืนที่มั่นคง พร้อมเดินหน้าเพื่อส่วนรวมต่อไป

 

ไม่เพียงเท่านั้น พระพุทธะอิสระยังได้โพสต์ข้อความพร้อมรูปภาพ  ถึงพระเมธีธรรมาจารย์ ระบุว่า มีสิทธิที่จะขอ ผู้อื่นก็มีสิทธิที่จะไม่ให้ โดยเฉพาะคำขอของเฮีย ที่แฝงไปด้วยถ้อยคำบิดเบือน ขี้เท็จ ไม่ตรงต่อหลักแห่งสัจจะธรรม ความจริงที่เกิดขึ้น

 

เช่น กรณี ที่บอกว่า ไม่มีการเมืองแอบแฝง อยากถามเหมือนกันว่า คำว่าการเมืองแอบแฝง หมายถึงอะไร หรือกำลังจะหมายถึง ตำแหน่งพระสังฆราช ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ต้องอาศัยอำนาจการเมือง เป็นแรงหนุนหรือหมายถึงว่าที่สังฆราช ฝักใฝ่การเมือง เลือกข้างหรือพวกเฮียกำลังจะหมายถึง พรรคการเมืองพรรคใด พรรคหนึ่ง คอยหนุนหลังว่าที่พระสังฆราชของเฮียหรือว่าเพราะพวกหนุนหลังพรรคการเมือง พรรคใดหรือกำลังจะหมายถึงท่านนายก กำลังจะหนุนหลังพรรคการเมือง พรรคไหนตอบให้เคลียร์นะเฮียอย่ามาทำตีขลุม

ขณะที่ เรื่องของคดีการครอบครองเบนซ์คลาสสิกผิดกฎหมายของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์   พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า ดีเอสไอได้รวบรวมพยานเอกสารและพยานแวดล้อมไว้ครบถ้วน ถือว่าสำนวนแล้วเสร็จไปกว่า 80% ที่ผ่านมาได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้เกี่ยวข้องในการนำเข้า การยื่นจดประกอบ และการยื่นชำระภาษีสรรพสามิต ภาษีศุลกากร ทั้งหมดแล้ว แต่การสอบสวนยังต้องรอหลักฐานชิ้นสำคัญจากต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาดีเอสไอพยายามเร่งรัดและติดตามความคืบหน้า แต่กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องความร่วมมือระหว่างประเทศ จึงไม่สามารถกำหนดกรอบเวลาในการทำงานได้

เพราะฉะนั้น ต่อจากนี้ต้องจับตาดูว่าหลังครบกำหนด 7 วันแล้วพระเมธีจะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป และรวมไปถึงสถานการณ์ของกรมสอบสวนคดีพิเศษในวันพรุ่งนี้(15-07-59) ว่าดีเอสไอจะมีการแถลงความคืบหน้าอย่างไรบ้าง

ซึ่งกรณีของการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชก็มีกลุ่มเคลื่อนไหวจำนวนหนึ่งที่พยายามจะโยงไปให้เชื่อมกับคดีของพระธัมมชโย ซึ่งก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ในขณะนี้ ซึ่งในวันนี้สำนักข่าวทีนวสฺจะนำเสนอรายงานพิเศษเกี่ยวกับลูกศิษย์วัดคนหนึ่ง ถือว่ามีบทบาทสำคัญกับวัดธรรมกาย ติดตามจากรายงาน

ส่วนกรณี ที่ อัยการเลื่อนสั่งคดีพระธัมมชโย จากวันที่ 13 ก.ค.เป็นวันที่วันที่ 30 ส.ค.นี้ รัฐมนตรียุติธรรมก็ออกมาย้ำว่า กรณีพระธัมมชโยเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม เมื่อพนักงานสอบสวนได้กล่าวหาใครก็ตามเป็นผู้ต้องหาแล้ว ไม่ได้หมายความว่าเรื่องจะยุติแค่ไหน เพราะจะต้องไปยุติที่ศาลยุติธรรม

พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีอัยการเลื่อนสั่งคดีพระธัมมชโย จากวันที่ 13 ก.ค.เป็นวันที่วันที่ 30 ส.ค.นี้ว่า ตนพูดตั้งแต่แรกเมื่อ 3-4 เดือนที่แล้ว ว่าการที่พนักงานสอบสวนดีเอสไอส่งสำนวนคดีพระธัมมชโย ให้พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ ซึ่งนัดฟังเพื่อพิจารณามีความเห็นสั่งฟ้องคดีนั้น เป็นอำนาจของอัยการและอัยการได้นัดสั่งคดี ไม่ได้หมายความเป็นการขีดเส้น

ส่วนเรื่องของการเข้าตรวจค้นวัดพระธรรมกายรอบ 2 สามารถทำได้ 2 อย่าง คือ 1.ดีเอสไอทำได้เอง เพราะมีหมายจับที่ศาลอนุมัติให้แล้ว 2 อัยการสั่งให้ดีเอสไอไปนำตัวผู้ต้องหามา

กรณีพระธัมมชโยตามกระบวนการยุติธรรม เมื่อพนักงานสอบสวนได้กล่าวหาใครก็ตามเป็นผู้ต้องหาแล้ว ไม่ได้หมายความว่าเรื่องจะยุติแค่ไหน เพราะจะต้องไปยุติที่ศาลยุติธรรม และตนก็เคยพูดแล้วว่าอัยการอาจจะยกฟ้องคดีหรือไม่ก็ได้ และก็จะเห็นได้ว่าวันนี้เมื่อส่งสำนวนไป ไม่ใช่อัยการจะเห็นพ้องกับพนักงานสอบสวนทั้งหมด ท้ายที่สุดอาจจะสั่งไม่ฟ้องหรือยกคดีก็ได้ แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าผู้ต้องหาทำให้คดีทั่วไปกลายเป็นเรื่องใหญ่โตไปเรื่อยๆ และก็ผูกพันเป็นเรื่องเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ถึงตอนนี้ก็เริ่มเกรงกลัวว่าจะไม่ให้ประกันตัว

ทั้งที่ตอนช่วงที่พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกก็บอกแล้วว่าให้มารับทราบข้อกล่าวหา และจะให้ประกันตัวไปต่อสู้ในชั้นศาลได้ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าทำไมพระธัมมชโยถึงได้กลัว ก็ต้องถามว่าท่านผิดจริงหรือไม่ ซึ่งถ้าท่านมั่นใจว่าไม่ผิดอย่างที่ได้สื่อกับสังคมก็ไม่ควรจะกลัวที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ขณะที่ นายพนม ศรศิลป์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินการกรณีวัดพระธรรมกายว่า ตนได้รับรายงานว่า พระเทพรัตนสุธี เจ้าอาวาสวัดเขียนเขต เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ได้เข้าพบพระราชภาวนาจารย์ หรือพระทัตตชีโว รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายแล้ว เพื่อหารือถึงกรณีคดีความต่างๆที่เกิดขึ้นในการหาทางออกร่วมกัน ซึ่งในเบื้องต้นทางวัดพระธรรมกายได้แจ้งว่า ขณะนี้ทางคณะสงฆ์ และศิษยานุศิษย์ ยังกังวลอาการอาพาธของพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโยอยู่ ส่วนเรื่องคดีความนั้น พระทัตตชีโว จะขอหารือกับคณะสงฆ์และคณะศิษยานุศิษย์อีกครั้งก่อน ซึ่งตนเชื่อว่า ทางวัดยังคงกังวลอาการอาพาธจริง ซึ่งในเร็วๆนี้ ตนจะประสานขอพบพระทัตตชีโว เพื่อขอเข้าเยี่ยมอาการอาพาธของ พระธัมมชโย เพื่อที่จะได้ให้ความกระจ่างต่อสังคมอีกทางหนึ่ง