สหรัฐยืนยันไม่รู้เห็นรัฐประหารตุรกี หรือว่า เออร์โดกัน ทำเอง? (มีคลิป)

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ www.tnews.co.th

นายจอห์น แคร์รี รมว.กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น เมื่อวันอาทิตย์ ว่ายังไม่ได้รับคำร้องอย่างเป็นทางการจากตุรกี เพื่อขอให้มีการเนรเทศนายเฟตฮุลเลาะห์ กูเลน นักการศาสนาและนักวิจารณ์การเมืองชาวเติร์ก ซึ่งเป็น "ศัตรูหมายเลขหนึ่ง" ของประธานาธิบดีเรเซปเทย์ยิปเออร์โดกัน ให้กลับไปรับโทษทตามกฎหมายที่ตุรกี ฐานอยู่เบื้องหลังความพยายามก่อการรัฐประหารล้มอำนาจรัฐที่มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 265 ศพ แต่ได้กำชับให้นายเมฟลุต คาวูโซกลู รมว.กระทรวงการต่างประเทศตุรกีแสดงหลักฐานที่ชัดเจนแล้ว โดยได้มีการสนทนากันทางโทรศัพท์ 3 ครั้งเมื่อช่วงสุดสัปดาห์

 

ประเด็นที่เออร์โดกันกล่าวหาว่ารัฐบาลสหรัฐ อยู่เบื้องหลังความพยายามยึดอำนาจที่เกิดขึ้นเมื่อคืนวันที่ 15 ก.ค. ที่ผ่านมา ด้วยการให้ความสนับสนุนกูเลน ซึ่งลี้ภัยอยู่ที่รัฐเพนซิลเวเนีบมาตั้งแต่ปี 2542 แคร์รียืนกรานปฏิเสธว่าเป็นคำกล่าวอ้างที่ไม่มีมูลความจริงโดยสิ้นเชิง และมีแต่จะยิ่งส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ พร้อมทั้งกล่าวถึงประเด็นที่ว่าผู้นำตุรกีอาจ "สร้างสถานการณ์" ขึ้นมาเองเพื่อขยายฐานอำนาจหรือไม่ เนื่องจากหลังเกิดเหตุมีรายงานผู้ถูกจับกุมมากกว่า 6,000 คน เกือบทั้งหมดเป็นทหาร และผู้พิพากษาถูกปลดออกจากตำแหน่งอีกไม่ต่ำกว่า 2,700 คน ซึ่งแคร์รีมองเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าวิตกกังวลอย่างยิ่งว่า เออร์โดกันใช้โอกาสนี้กวาดล้างฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองด้วย

 

ขณะเดียวกัน แคร์รีเผยว่ารัฐบาลตุรกีกลับมาเปิดฐานทัพอากาศอินเซอร์ลิคที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเพื่อให้กองทัพสหรัฐกลับมาปฏิบัติการทางทหารอีกครั้งแล้วในวันอาทิตย์ หลังปิดล้อมนานราว 24 ชั่วโมง โดยเป็นผลจากการเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งสองฝ่าย เพื่อให้ภารกิจในการปราบปรามกลุ่มไอเอสในซีเรียเดินหน้าได้ต่อไป

ทางด้านประธานาธิบดีเรเซปเทย์ยิปเออร์โดกัน ผู้นำตุรกี กล่าวระหว่างเข้าร่วมพิธีศพของตำรวจซึ่งเสียชีวิตจากเหตุรุนแรงที่เป็นผลจากความพยายามก่อการรัฐประหาร ในนครอิสตันบูล เมื่อวันอาทิตย์ ท่ามกลางเสียงเรียกร้องของประชาชนจำนวนมากให้มีการรื้อฟื้นบทลงโทษประหารชีวิต ว่าหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยคือการเคารพและปฏิบัติตามเสียงข้างมาก  ซึ่งรัฐบาลเห็นควรให้มีการหารือร่วมกับพรรคฝ่ายค้านในเรื่องนี้เป็นการด่วน เนื่องจากเป็นการตัดสินใจที่ไม่อาจพักไว้ก่อนได้ ท่ามกลางสถานการณ์ที่วุ่นวายและรุนแรงเช่นนี้ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังความพยายามก่อการรัฐประหารต้องได้รับบทลงโทษที่ "สาสม"...

 

ทั้งนี้ รัฐบาลตุรกี ยกเลิกบทลงโทษประหารชีวิตเมื่อปี 2548 ซึ่งเป็นไปตามมาตรการปฏิรูปประเทศเพื่อให้เข้าหลักเกณฑ์สำหรับการพิจารณาเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป ( อียู ) อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างอียูกับตุรกีนับจากนั้นดำเนินไปอย่างไม่ราบรื่นนักด้วยบริบทและปัจจัยหลายประการ ที่ล่าสุดคือวิกฤตการณ์ผู้อพยพและปัญหาการก่อการร้ายที่เพิ่มขึ้นในตุรกี

ขณะเดียวกัน เออร์โดกันเดินหน้าเรียกร้องให้ทางการสหรัฐเนรเทศ "คนแดนไกล" คือนายเฟตฮุลเลาะห์ กูเลน "ศัตรูหมายเลขหนึ่ง" ของรัฐบาลตุรกี ซึ่งลี้ภัยอยู่ที่รัฐเพนซิลเวเนีย โดยผู้นำตุรกีประณามว่ากูเลนและแนวร่วมคือ "กลุ่มก่อการร้าย"  และผู้ใดก็ตามที่สนับสนุนกลุ่มคนเหล่านี้เท่ากับประกาศตัวเป็นปรปักษ์ต่อกัน ซึ่งนายจอห์น แคร์รี รมว.กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ยืนยันว่ารัฐบาลสหรัฐไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความพยายามยึดอำนาจในตุรกี และการเนรเทศกูเลนจะเกิดขึ้นเมื่อเออร์โดกันสามารถแสดงหลักฐานที่ชัดเจนเพียงพอ ว่ากูเลนอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง

 

สำหรับจำนวนผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์วุ่นวายทางการเมืองในตุรกีเมื่อคืนวันที่ 15 ก.ค. เพิ่มเป็นอย่างน้อย 290 ศพแล้ว และมีผู้ถูกจับกุมจากหลากหลายสาขาอาชีพรวมแล้วมากกว่า 6,000 คน โดยส่วนใหญ่เป็นทหารและผู้พิพากษา

 

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากนครอิสตันบูล ประเทศตุรกี เมื่อวันที่ 18 ก.ค.โดยอ้างข้อมูลจากรายงานของหนังสือพิมพ์ "เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส" ว่าสหรัฐปฏิเสธคำร้องขอลี้ภัยของพลเอกจัตวาเบเคียร์เออร์แคน แวน ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารตุรกีประจำฐานทัพอากาศอินเซอร์ลิค ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกี ส่งผลให้พล.อ.จ.แวน พร้อมทหารยศต่ำลงมาอีก 11 นายที่หลบซ่อนตัวอยู่ภายในฐานทัพถูกจับกุมในเวลาต่อมา ฐานมีส่วนเกี่ยวข้องกับความพยายามก่อการรัฐประหาร

 

ขณะที่ "เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล" รายงานเพิ่มเติมว่า เครื่องบินขับไล่เอฟ-16 ที่ปฏิบัติการโจมตีพลเรือนในช่วงเกิดเหตุรุนแรงเมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา เข้ามาเติมน้ำมันที่ฐานทัพอากาศอินเซอร์ลิค สร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรงให้แก่รัฐบาลตุรกีถึงขั้นสั่งปิดล้อมฐานทัพและตัดระบบสาธารณูปโภคเมื่อวันเสาร์ แต่นายจอห์น แคร์รี รมว.กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ กล่าวกับสื่อหลายแห่งในประเทศเมื่อวันอาทิตย์ ว่ารัฐบาลสหรัฐสามารถเจรจาคลี่คลายสถานการณ์ในเรื่องนี้กับตุรกี ซึ่งกลับมาเปิดฐานทัพให้แล้ว

 

ด้านสำนักข่าวอนาโดลูของรัฐบาลตุรกีรายงานว่าหน่วยปฏิบัติการพิเศษต่อต้านการก่อการร้ายบุกจู่โจมตรวจค้นโรงเรียนนายเรืออากาศในนครอิสตันบูล เพื่อจับกุม "ผู้ต้องสงสัย" ร่วมวางแผนก่อการยึดอำนาจในครั้งนี้อีกจำนวนหนึ่ง ในเวลาเดียวกันมีการจับกุมพล.อ.เมห์เมตดิสลี ซึ่งอยู่เบื้องหลังการลักพาตัวพล.อ.ฮูลูซี อาการ์ ประธานคณะเสนาธิการทหาร ซึ่งหายตัวไปในช่วงของการเกิดความพยายามรัฐประหาร ก่อนที่พล.อ.อาการ์ได้รับการช่วยเหลือในเวลาต่อมา

 

นอกจากนี้ สำนักข่าวอนาโดลูยังรายงานด้วยว่า ประธานาธิบดีเรเซปเทย์ยิปเออร์โดกัน สั่งการให้เครื่องบินเอฟ-16 ของกองทัพ บินลาดตระเวนทุกคืนหลังผ่านพ้นเหตุนองเลือดจากความยายามยึดอำนาจ ที่มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 290 ศพ และได้รับบาดเจ็บอีกราว 1,440 คน และมีคำสั่งโยกย้ายตำรวจ 8,000 นายทั่วประเทศ ฐานอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับความพยายามรัฐประหาร ที่เออร์โดกันเชื่อว่ามาจากการสั่งการของนายเฟตฮุลเลาะห์ กูเลน ศาสนาจารย์และนักวิจารณ์การเมืองซึ่งลี้ภัยอยู่ในสหรัฐมาตั้งแต่ปี 2542 ซึ่งเป็นอดีตพันธมิตรกันมาก่อน แต่แตกคอกันและผู้นำตุรกีเชื่อว่ากูเลนพยายามสถาปนา "รัฐคู่ขนาน" ขณะที่มีผู้ถูกจับกุมนอกเหนือจากนี้อีกมากกว่า 6,000 คน ส่วนใหญ่เป็นทหารและผู้พิพากษา ท่ามกลางความกังวลของหลายฝ่ายว่าจะกลายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่

 

กูเลนยืนกรานปฏิเสธมีส่วนเกี่ยวข้อง โดยกล่าวหาว่าเออร์โดกันสร้างสถานการณ์ขึ้นมาเอง เช่นเดียวกับรัฐบาลสหรัฐ ที่ปฏิเสธอยู่เบื้องหลังอีกชั้น และเรียกร้องให้ตุรกีแสดงหลักฐานว่ากูเลนเกี่ยวข้องจริง แล้วจะเนรเทศตัวกลับไปให้รับโทษตามกฎหมายของรัฐบาลตุรกี

 

การรัฐประหารครั้งนี้ ขณะนี้กลายเป็นว่าหลายฝ่ายมาองว่า เออร์โดกัน เป็น เป็นผู้กระทำเพื่อที่จะสร้างสถานการณ์และทำการกำจัดฝ่ายตรงข้าม ทางการเมือง นั่นเอง