จับตา "ทีโอที-กสท." จะจบลงอย่างไร หลัง "พล.อ.ประยุทธ์" ฮึ่ม สหภาพ ตั้งบริษัทร่วมสู้เอกชน

จับตา "ทีโอที-กสท." จะจบลงอย่างไร หลัง "พล.อ.ประยุทธ์" ฮึ่ม สหภาพ ตั้งบริษัทร่วมสู้เอกชน

สถานภาพของรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่อย่าง บริษัท ทีโอที จำกัดมหาชน และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด กำลังอยู่ในสภาพที่ไม่มีความแน่นอนและกำลังจะเกิดการปฏิรูปครั้งใหญ่ขึ้น จนทำให้บรรดาสหภาพแรงงานเริ่มออกมาเคลื่อนไหวซึ่งก็ต้องมาจับตาดูว่าท้ายที่สุดนั้นการปฏิรูป ทีโอทีและกสท.จะลงเอยอย่างไร

กรณีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) คัดค้านมติของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ให้ กสท และทีโอที นำทรัพย์สินมารวมหน่วยธุรกิจและตั้งบริษัทลูกจำนวน 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์ภายในประเทศ บริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศ และบริษัท ศูนย์ข้อมูลอินเตอร์เน็ต

หากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ได้มีการหารือร่วมกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) และ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) ถึงแนวคิดตามมติของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ในประเด็นดังกล่าวว่ามาจากการรับฟังแนวคิดของทางผู้บริหารของทั้ง 2 หน่วยงาน ที่ต้องการความคล่องตัวในการประกอบธุรกิจหลักของตนเอง ซึ่งมีทางออกเดียวคือการตั้งบริษัทลูก ส่วนอีก 2 ทางเลือกคือการแปรรูปบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้เอกชนเข้ามาถึงหุ้น และการแก้ไขกฎหมายให้เฉพาะกสท และทีโอทีนั้น ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะแนวทางแรกจะกลายเป็นขายสมบัติชาติ ส่วนแนวทางหลังจะกลายเป็นว่ารัฐไม่เป็นธรรมกับรัฐวิสาหกิจอื่นๆ

พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ กล่าวว่า หากทางผู้บริหาร หรือ สหภาพฯของ กสท และ ทีโอที ไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว ก็ขอให้ทำแผนงานมาเสนอ แต่ต้องเป็นแผนงานที่ทำออกมาแล้วเห็นความเป็นไปได้ในการประกอบธุรกิจและไปรอดจริง ทั้งนี้ แผนงานหลังจากนี้ทางคณะทำงานพิจารณากลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหา กสท และ ทีโอที ที่ตนเป็นประธาน จะเดินหน้าประชุมต่อเนื่องสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งบริษัทลูกของทั้ง 2 หน่วยงานต่อไป

นายสังวรณ์ พุ่มเทียน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า สหภาพฯจะเดินหน้าคัดค้านการนำทรัพย์สินของกสท ไปจัดตั้งบริษัท 3 บริษัทต่อไป เพราะสหภาพฯมีความเห็นว่าการแก้ปัญหาของคณะทำงานชุดดังกล่าวแก้ไม่ตรงจุด แม้ว่านายพันธ์ศักดิ์จะมีเจตนาดีในการแก้ปัญหาก็ตาม

นายพงศ์ฐิติ พงศ์ศิลามณี ประธานแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า สหภาพฯ ทีโอทีไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการรวมหน่วยธุรกิจของ 2 บริษัท และให้มีการตั้งบริษัทลูกร่วมกัน เพราะทีโอทีเห็นว่าการที่ทีโอทีประสบปัญหาเรื่องผลประกอบการเวลานี้ มาจากการที่ไม่สามารถเลือกคนเก่งและดีมาบริหารได้ แต่กลับถูกครอบงำจากฝ่ายการเมืองและอำนาจภายนอก ทำให้ที่ผ่านมาทีโอทีต้องเจอกับปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างในลักษณะการเอื้อประโยชน์

คือได้ของแพงแต่ไม่มีคุณภาพ ซึ่งแนวคิดการตั้งบริษัทลูกอาจทำให้ความสำคัญของทีโอทีหมดลง และอาจเป็นข้ออ้างที่นำไปสู่การยุบองค์กรในอนาคตได้ รวมทั้งการตั้งบริษัทลูกยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีนโยบายและยุทธศาสตร์ไปในทางเดียวกันกับบริษัทแม่ ส่งผลให้ในอนาคตอาจไม่สามารถกำหนดการดำเนินงานของบริษัทลูกได้ และจะไม่ได้ผลประโยชน์ตอบแทนใดๆ กลับมาจากบริษัทลูกที่กำลังจะตั้งใหม่ได้

ขณะที่เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นากยกรัฐมนตรี และหัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาตินั้นก็ได้มีการพูดถึงปมปัญหาของบริษัท ทีโอที จำกัดมหาชน และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานในพิธีเปิดสถาบันพัฒนาบุคลากรด้านดิจิตอลภาครัฐ และเปิดการอบรมหลักสูตรรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริหารระดับสูง (รอส.) รุ่นที่ 3 พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "นโยบายการเตรียมความพร้อมของบุคลากรภาครัฐเพื่อรองรับการก้าวไปสู่ Digital Thailand" โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า 2 ปี ในการทำงานของรัฐบาล และ คสช. มีการพัฒนาก้าวหน้า ทุกคนในรัฐบาลทำงานหนัก โดยเฉพาะกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร อยู่ระหว่างการเปลี่ยนชื่อกระทรวง

จะต้องปรับเปลี่ยนใหม่ เดินหน้าทำงานก็มีคนดึงแข้งดึงขา ทำให้ประเทศเดินหน้าไปช้า การเป็นไทยแลนด์ 4.0 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ โดยมียุทธศาสตร์เพิ่มเติม เช่น การเพิ่มขีดความสามารถประเทศให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของโลก การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยดิจิตอล การปรับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ การพัฒนาหน่วยงานและบุคลากรของรัฐ และฝากไปถึง แคท

นอกจากนี้พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวต่อว่า รัฐบาลช่วยไม่ได้ รัฐวิสาหกิจอย่ามาประท้วง ถ้าประท้วงมีเรื่องกันแน่ หัวหน้านั่นแหละตัวดี ไม่ได้ขู่แต่เอาจริง รัฐวิสาหกิจจะล้มละลายอยู่แล้ว

ขณะที่ทางด้านนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า กรณีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (สร.กสท) และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) สร.ทีโอที คัดค้านนโยบายตามมติ คนร.นั้น เข้าใจว่าฝ่ายคัดค้านเป็นกังวลว่าจะถูกแปรรูป แต่หากดูในมติ คนร.จะพบว่ามติดังกล่าวได้กล่าวถึงการแปรรูปและสวัสดิการยังคงไปในแนวทางเดิมทั้งสิ้น แต่การให้แยกบริษัทลูกออกมาก็เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการทำงาน

นายอุตตมกล่าวต่อว่า อยากขอให้บุคลากรของ กสท และทีโอทีเข้าใจ และให้ความร่วมมือต่อการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ เพื่อจะได้ประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย ยังถือเป็นการช่วยให้องค์กรได้เติบโตอย่างยั่งยืน ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถแข่งขันกับเอกชนได้

นายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้เชิญผู้บริหารของ กสท และทีโอที มารับทราบนโยบาย คนร. ขณะเดียวก็ได้ถือโอกาสจัดประชุมคณะทำงานพิจารณากลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหา กสท และทีโอที ที่ตนเป็นประธานด้วย ในการประชุมครั้งนี้ได้หารือความคืบหน้าการจัดตั้งบริษัทลูกตามแผน คนร.ได้สั่งให้จัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาเรื่องการจัดตั้งให้เสร็จภายใน 3 เดือน ที่ผ่านมาได้พูดคุยในรายละเอียดนโยบายการจัดตั้งบริษัทลูกกับทั้ง 2 บริษัท ไปแล้วกว่า 90%

ส่วนกรณีมีผู้คัดค้าน เชื่อว่าหากท้ายที่สุดถ้าการตั้งบริษัทลูกไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ทั้ง 2 บริษัทก็จะต้องกลับไปทำธุรกิจแบบเดิมๆ ที่ผ่านมา ไม่มีอะไรแปลกใหม่และไม่นำไปสู่การพัฒนา การตั้งบริษัทลูกก็ยังไม่อาจรู้ผลลัพธ์ได้ว่าท้ายสุดจะดีขึ้นหรือแย่กว่าเดิม แม้ทางบริษัทที่ปรึกษาจะประเมินมาว่าดีขึ้นแน่นอนแล้วก็ตาม แต่หากไม่ทำอะไรเลยและยังอยู่แบบเดิม เห็นได้ว่าแนวโน้มการผล

นายสุรพันธ์ เมฆนาวิน กรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการ ใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในการเข้าพบกระทรวงไอซีที กสท มีประเด็นและข้อซักถามข้อกังวลและเป็นผลกระทบโดยตรง คือพนักงาน สิทธิประโยชน์ สภาพการจ้างงาน กรณีมีพนักงานมีสิทธิไปทำงาน สิทธิประโยชน์จะเป็นอย่างไร ส่วนพนักงานไม่ไปจะได้สิทธิประโยชน์หรือไม่ และองค์กรจะอยู่รอดได้จริงหรือไม่ หากแปรรูปหน่วยงาน 2 หน่วยงานนี้

ส่วนตัวคิดว่าการรวมกันทีโอทีและ กสท มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดี คือทำให้องค์กรมีการตื่นตัวให้เกิดการผลักดันองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ข้อเสียคือการทำให้ทีโอที และ กสท รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ 2 หน่วยงาน ที่มีวัฒนธรรมองค์กรต่างกัน การสื่อสารนโยบายว่าจะไปในทิศทางไหนจึงเป็นเรื่องยาก และควรให้มีความชัดเจนมากกว่านี้

สำหรับผลประกอบการย้อนหลังจากการเปิดเผยข้อมูลของ กสท และทีโอที ในปี 2556 กสท มีรายได้ 34,000 ล้านบาท กำไร 7,000 ล้านบาท ปี 2557 มีรายได้ 22,000 ล้านบาท กำไร 3,000 ล้านบาท ปี 2558 มีรายได้ 53,500 ล้านบาท กำไร 3,400 ล้านบาท และปี 2559 คาดการณ์ผลประกอบการจะเริ่มขาดทุน

ส่วนผลประกอบการทีโอที ในปี 2556 มีรายได้ 31,744 ล้านบาท ขาดทุน 5,000 ล้านบาท ปี 2557 มีรายได้ 42,000 ล้านบาท กำไร 1,000 ล้านบาท ปี 2558 มีรายได้ 32,000 ล้านบาท ขาดทุน 5,000 ล้านบาท และปี 2559 คาดการณ์ผลประกอบการจะขาดทุนประมาณ 4,500 ล้านบาท