“ท่านบวชกับผู้ใด เทวทัตต์ หรือ พระพุทธเจ้า???” คำถามจี้ใจหลวงปู่ขาว!

“ท่านบวชกับผู้ใด พระเทวทัตต์บวชกับพระพุทธเจ้า ไม่ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า ตายไปก็ลงอเวจี ... ท่านจะลงอเวจีเหมือนพระเทวทัตต์หรือ”

หลังจากหลวงปู่ขาวปลีกวิเวกเพื่อปฏิบัติธรรมบนภูเขาพอสมควรแล้วก็ได้ติดตามหาหลวงปู่มั่นจนพบที่ดอยจอมแจ้ง อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ซึ่งท่านได้พักจำพรรษาที่นี่เพื่อฟังธรรมปฏิบัติจากอาจารย์ใหญ่  แต่กลับปรากฏว่าไม่ได้เป็นอย่างที่ใจคิด เพราะหลวงปู่ขาวล้มป่วยอยู่ตลอด บางวันก็นอนซมด้วยพิษไข้ ทำให้ไม่ได้นั่งสมาธิภาวนาหรือเดินจงกรม

 

เรื่องนี้ทราบไปถึงหลวงปู่มั่นที่เฝ้าดูท่าทีของลูกศิษย์  เมื่อเห็นว่าไม่มีความก้าวหน้าเกิดขึ้น ท่านจึงกล่าวเสียงดัง ทั้งเตือนทั้งสอนด้วยความเป็นห่วงและให้กำลังใจว่า

 

“พิจารณาเข้าซี... จะนอนให้เป็นไข้อยู่เฉยๆ อย่างนี้ได้อย่างไร  ความไข้มันเป็นอริยสัจของจริง จะหลีกหนีตายให้พ้นทุกคนไม่ได้ เขาเป็นอย่างนั้นอยู่ทั่วโลก  ลุกขึ้นมาเดินจงกรมให้เส้นสายมันได้เหยียดออกเสียบ้าง  นอนมากเลือดลมไม่เดิน เส้นเอ็นมันขอดงอ มันหด มันจะตายซ้ำอีก”

หลวงปู่มั่นเทศน์อบรมหลวงปู่ขาวไปก็พลางหยิบยก “ปมในใจ” เกี่ยวกับอดีตชาติของหลวงปู่ขาวที่เคยเป็นพระภิกษุผู้หลงเชื่อพระเทวทัตต์มาก่อน ทำให้พลาดโอกาสบรรลุธรรมในช่วงพุทธกาล  เรื่องนี้เองเป็นจุดพลิกผันที่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ต้องการพ้นทุกข์อย่างถึงที่สุด  หลวงปู่มั่นกล่าวต่อไปว่า

“ท่านบวชกับผู้ใด  พระเทวทัตต์บวชกับพระพุทธเจ้า ไม่ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า ตายไปก็ลงอเวจี
... ท่านจะลงอเวจีเหมือนพระเทวทัตต์หรือ”

“ท่านบวชกับผู้ใด เทวทัตต์ หรือ พระพุทธเจ้า???” คำถามจี้ใจหลวงปู่ขาว!

เทวทัตต์

 

หลังจากจี้ใจหลวงปู่ขาวแล้ว หลวงปู่มั่นก็เมตตาให้ข้อธรรมในการพิจารณาต่อไปว่า

“เฉพาะพระธุดงคกรรมฐานซึ่งพร้อมทุกอย่างแล้วในการดำเนินและเดินก้าวเข้าสู่ความเป็นจริงที่ประกาศอยู่กับตัวตลอดเวลา  ถ้าท่านเป็นเลือดนักรบสมนามที่ศาสดาขนานให้ว่า ‘ศากยบุตรพุทธชิโนรส’ จริงๆ แล้ว ท่านจงพิจารณาอย่างโจ่งแจ้งเปิดเผยในกายในใจท่านเวลานี้  อย่าปล่อยให้ทุกขเวทนาเหยียบย่ำทำลายและกาลเวลาผ่านไปเปล่าๆ

ขอให้ยึดความจริงจากทุกขเวทนาขึ้นสู่สติปัญญา และตีตราประกาศฝังใจลงอย่างแน่นหนาแต่บัดนี้เป็นต้นไปว่า  ความจริง ๔ อย่าง (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) ที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศตลอดมานั้น บัดนี้ ทุกขสัจได้แจ้งประจักษ์กับสติปัญญาเราแล้ว ไม่สงสัย นอกจากจะพยายามเจริญให้ความจริงนั้นๆ เจริญยิ่งขึ้นโดยลำดับจนหายสงสัยโดยสิ้นเชิงเท่านั้น

ถ้าท่านพยายามดังที่ผมสั่งสอนนี้ แม้ไข้ในกายท่านจะกำเริบรุนแรงเพียงไร ท่านเองจะเป็นเหมือนคนมิได้เป็นอะไร  คือ  ใจท่านไม่หวั่นไหวสั่นสะเทือนไปตามอาการแห่งความสุขความทุกข์ที่เกิดขึ้นในกายนั่นเอง  มีแต่ความภาคภูมิใจที่สัมผัสกับความที่ได้รู้แล้วเห็นแล้วโดยสม่ำเสมอ  ไม่แสดงอาการลุ่มๆ ดอนๆ เพราะไข้กำเริบหรือไข้สงบตัวลงแต่อย่างใด

นี่แลคือการเรียนธรรมเพื่อความจริง  ปราชญ์ท่านเรียนกันอย่างนี้  ท่านมิได้ปรุงแต่งเวทนาต่างๆ ให้เป็นไปตามความต้องการ เช่น อยากให้เป็นอย่างนั้น อยากให้เป็นอย่างนี้ตามชอบใจ ซึ่งเป็นการสั่งสมสมุทัยให้กำเริบรุนแรงขึ้น  แทนที่จะให้เป็นไปตามใจชอบ ท่านจงจำไว้ให้ถึงใจ พิจารณาให้ถึงอรรถถึงธรรม คือ ความจริงที่มีอยู่กับท่านเอง

ผมเป็นเพียงผู้แนะอุบายให้เท่านั้น  ส่วนความเก่งกาจอาจหาญหรือล้มเหลวใดๆ นั้น ขึ้นอยู่กับผู้พิจารณาโดยเฉพาะ  ผู้อื่นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย”

พอให้โอวาทเสร็จ หลวงปู่มั่นก็กลับทันที  ขณะที่หลวงปู่ขาวได้ฟังเทศนาเสียงดังดุเดือดของหลวงปู่มั่นแล้วก็รู้สึกซาบซึ้งในความกรุณาและปัญญาของครูบาอาจารย์ที่ชี้แนะข้อธรรมให้ตรงกับใจจนเกิดปีติ ตัวแทบจะลอย

หลังจากที่หลวงปู่มั่นคล้อยสายตาไป หลวงปู่ขาวก็น้อมนำเอาอุบายธรรมเข้ามาพิจารณาแยกขันธ์ ๕ ของกายใจที่เจ็บป่วย  ท่านบอกว่า  ตอนนั้นที่อยากรู้มากคือเรื่อง “ทุกขสัจ” ว่าเป็นอะไรกันแน่ ทำไมถึงมีอำนาจมากและสามารถทำให้จิตใจของสัตว์สะเทือนหวั่นไหวโดยไม่ยกเว้นว่าเป็นใคร จึงน้อมจิตเอากายที่เจ็บป่วยเข้ามาพิจารณา ...

“ขณะพิจารณานั้นได้พยายามแยกทุกข์ออกเป็นขันธ์ๆ คือ  แยกกายและอาการต่างๆ ของร่างกายออกเป็นขันธ์หนึ่ง  แยกสัญญาที่คอยมั่นหมายหลอกลวงเราออกเป็นขันธ์หนึ่ง  แยกสังขารคือความคิดปรุงต่างๆ ออกเป็นขันธ์หนึ่ง  และแยกจิตออกเป็นพิเศษส่วนหนึ่ง  แล้วพิจารณาเทียบเคียงหาเหตุผลต้นปลายของตัวทุกข์ที่กำลังแสดงอยู่ในกายอย่างชุลมุนวุ่นวาย โดยมิได้มีกำหนดว่า ทุกข์จะดับ เราจะหาย หรือทุกข์จะกำเริบ เราตาย  แต่สิ่งหมายมั่นปั้นมือจะให้รู้ตามความมุ่งหมายเวลานั้นคือ ความจริงของสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น โดยเดินจิตพิจารณาขันธ์ ๕ ว่าประกอบด้วย กาย-เวทนา-สัญญา-สังขาร-วิญญาณ  ที่เกิดขึ้นเป็นจิตได้ไหม  ถ้าเป็นไม่ได้ ทำไมเราจึงเหมาเอาทุกขเวทนาว่าเป็นเราทุกข์  เราจริงๆ คือทุกข์นี้ล่ะหรือ ... ต้องให้ทราบความจริงกันในวันนี้”

เมื่อจิตของหลวงปู่ขาวเริ่มตั้งมั่นมีกำลังก็ได้ตั้งอธิษฐานว่า

“เราไม่รู้แจ้งทุกขเวทนาด้วยสติปัญญาอย่างจริงใจ  แม้จะตายไปกับที่นั่งภาวนานี้เราก็ยอม แต่จะไม่ยอมลุกจากที่ให้ทุกขเวทนาหัวเราะเย้ยหยันเป็นอันขาด”

หลวงปู่ขาวเล่าว่า  นับตั้งแต่วินาทีนั้นได้เกิดสงครามระหว่าง “จิต” กับ “ทุกขเวทนา” ที่ต่อสู้กัน กินเวลาราว ๕ ชั่วโมง จึงได้รู้เวทนาขันธ์อย่างชัดเจนด้วยปัญญา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของเวทนาขันธ์ที่จิตเสวยทุกข์สุขซึ่งเกิดจากการปรุงแต่งของกายกับจิต  เมื่อจิตรวมลงถึงฐานสมาธิเพราะอำนาจการพิจารณาแล้ว ทุกขเวทนาก็ดับลงในทันทีที่พิจารณารอบตัวเต็มที่ ไข้หายมลายสิ้นอย่างน่าอัศจรรย์

 

เรียบเรียงโดย เธียรนันท์ จาก หนังสือ วินาทีบรรลุธรรม อรหันต์มีจริง เล่ม1

“ท่านบวชกับผู้ใด เทวทัตต์ หรือ พระพุทธเจ้า???” คำถามจี้ใจหลวงปู่ขาว!