ธรรมะจากพระโอษฐ์(5): "สมาธิ"เป็น "คุณธรรม" ที่มนุษย์ทุกคนมีอยู่แล้วในตัว

ธรรมะจากพระโอษฐ์ ตอนที่(5): "สมาธิ"เป็น "คุณธรรม" ที่มนุษย์ทุกคนมีอยู่แล้วในตัว

สมาธิเป็นคุณธรรมที่มนุษย์ทุกคนมีอยู่แล้วในตัว [1]

 

 

ธรรมะจากพระโอษฐ์(5): "สมาธิ"เป็น "คุณธรรม" ที่มนุษย์ทุกคนมีอยู่แล้วในตัว

... สมาธินั้นเราอาจจะได้เป็นเวลาเพียงครึ่งวินาที  นั่นก็เป็นสมาธิแล้ว  แต่ว่าเป็นสมาธิย่อที่อ่อนมาก  แต่ก็เป็นสมาธิ  ข้อสำคัญที่จะต้องได้อันนี้  ให้เป็นว่าสมาธิคืออะไร

โดยมาก คนเราเมื่อเป็นเด็กเป็นนักเรียน ท่านก็สอน  คือหมายความว่า ครูบาอาจารย์หรือพ่อแม่ก็สอนให้ตั้งจิตตั้งใจเรียน  ก็หมายความว่าทำสมาธินั้นเอง  แล้วเราก็เรียนว่า  ถ้าเราตั้งใจในสิ่งนั้นๆ ให้ดี มันก็ทำได้  เรียกว่ามีสมาธิ เพราะว่าจิตเราไปเพ่งอยู่อันเดียว

แต่คนเราถ้าไม่มีสมาธิเสียเลย  หมายความว่าเป็นคนฟุ้งซ่านจริงๆ  เป็นคนที่ไม่ได้เรื่อง  จะเรียนอะไรไม่ได้ จะอ่านหนังสือไม่ได้ จะพูดก็ไม่ได้  ไม่มีทางอะไรเลย

คือว่า ขึ้นชื่อว่าเป็นคนก็มีสมาธิ  ไม่ใช่ว่า คนเราเราเสียใจเหลือเกินว่าเรามันขาดสมาธิ  ถ้าคิดว่าเราขาดสมาธิ เท่ากับเรามีสมาธิอยู่แล้ว  เพราะรู้ว่ามีคำว่า “สมาธิ”  เราได้เรียนรู้แล้ว  ถ้าไม่มีสมาธิในตัวเลย หมายความว่าไม่มีความดีเลยในตัว ก็ไม่สามารถที่จะแม้จะคิดว่ามีคำว่า “สมาธิ”

ฉะนั้น  จุดเริ่มต้นของการปฏิบัติธรรมอยู่ที่ตัวสมาธินี้ ซึ่งเรามีทุกคน  เรามีความดีอยู่ในตัวทุกคน  มีแต่ให้เห็นว่านี้เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติธรรม  คือจากสมาธิที่เรามีธรรมดาๆ ที่เมื่อเด็กๆ ครูบาอาจารย์พ่อแม่ได้สั่งสอนบอกว่าต้องตั้งใจ  แค่นี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นของสมาธิ

 

[1] พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะผู้แทนพุทธสมาคมทั่วประเทศที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา  ณ ศาลาดุสิดาลัย  วันเสาร์ที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๓.

เพราะเหตุว่า การที่จะปัดกวาดสิ่งที่ปิดกั้นสมาธิที่ท่านเรียกว่า “นิวรณ์”  การปิดกั้นนี้เราจะเอาออก มันต้องมีสมาธิ

อันนี้  พวกเราที่อยากจะศึกษาสมาธิและศึกษาการปฏิบัติธรรมติดอยู่ตรงนี้  เพราะว่าเราไปหาอาจารย์  ท่านบอกว่าต้องทำสมาธิ  มีนิวรณ์ ๕ อย่างนั้นๆ  มีสิ่งที่ปิดกั้น  การที่จะทำให้สิ่งที่ปิดกั้นนั้นออกจะต้องตั้งใจ ต้องมีสมาธิ เพื่อที่จะเอาเครื่องปิดกั้นนี้ออก  เราก็งงแล้ว

โดยมาก ไม่มีที่ไหนที่จะสอนให้ทำสมาธิโดยไม่ได้บอกว่าให้เอาเครื่องปิดกั้นนี้ออก  บอกว่าต้องระงับนิวรณ์ทั้งนั้น  ก็หมายความว่า การระงับนิวรณ์นี้ต้องใช้อะไร  ก็ต้องใช้สมาธิ  จะทำอย่างไร  ไก่มาก่อนไข่ หรือไข่มาก่อนไก่

ความจริงใช้สมาธิระงับนิวรณ์จริงๆ  ท่านไม่ได้พูดผิด  แต่ว่าเรามันไม่เข้าใจ  ไม่เข้าใจว่าเราต้องการสมาธิ แล้วเราต้องใช้สมาธิเพื่อระงับนิวรณ์ซึ่งเป็นสิ่งที่ปิดกั้นสมาธิ  เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้

แต่ว่าถ้าเข้าใจแล้วว่า สมาธิเรามีอยู่ทุกคน  มิฉะนั้น เราไม่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์  ถ้าเราไม่มีสมาธิหรือไม่มีทุนเดิม เราไม่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์  ไม่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ที่มีความฉลาด  มากหรือน้อยก็แล้วแต่  แต่ว่ามีความฉลาด มีความดี มีวาสนาทุกคน  ทุกคนมีมากหรือน้อยเท่านั้นเอง หรือดีหรือชั่วเท่านั้นเอง  แต่เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์ ก็เป็นสิ่งที่ประเสริฐยิ่งแล้ว  เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เราทำสมาธิได้ เพราะเหตุว่าเราได้ทำมาแล้ว  เราทำมาถึงเกิดมาเป็นมนุษย์

เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์ก็มีความดีอยู่ในตัว ความชั่วมี  แล้วก็โดยมาก ใครๆ ก็ว่ามนุษย์มีกิเลส มีความชั่วเลวทรามต่างๆ ต้องขัดเกลา  เราก็หัวหดเลย  แต่ว่าความจริงไม่เป็นเช่นนั้น  คือความจริงทั้งหมดที่ครบถ้วนไม่เป็นเช่นนั้น

ความจริงเรามีความเลวความชั่วในตัวทุกคน  มากหรือน้อย  โดยมากก็มาก  แต่ว่าเรามีความดี  เรามีความดีทุกคน  มากหรือน้อย  แต่โดยมากก็น้อย  อย่างไรก็ตาม  มีน้อยๆ นี่มันเป็นทุนเดิมทั้งนั้น  ไม่ใช่ว่าเราไม่มี  ทุกคนสามารถที่จะปฏิบัติงานของธรรมนี้ได้ทุกๆ คน  ไม่เว้นทุกคน  แต่ว่าจะต้องหาหรือขุดความดีที่เรามีเป็นทุนเดิมนี้มาทำให้เกิดความดีเพิ่มขึ้น

ฉะนั้น ก็ใช้สมาธิที่มีอยู่เดิม อาจจะสมาธิแย่ๆ ก็ได้ แต่ว่าเป็นสมาธิ มากระตุ้นทำให้เกิดสมาธิที่ดีขึ้น  ฉะนั้น  สมาธิที่ดีขึ้นนั้นก็มีได้ทุกคน  ก็อาศัยความเพียรความอดทนที่อาจมีสมาธินี้

ก็เปรียบเทียบไว้กับไฟฉายเล็กๆ หรือไม้ขีดไฟริบหรี่  ไฟริบหรี่นั้นก็สามารถที่จะใช้อันนี้สำหรับไปทำให้สมาธิใหญ่ขึ้น ดีขึ้น  อันนี้ก็เป็นการปฏิบัติธรรมเพื่อให้ได้สมาธิ ...

 

 

 

เรียบเรียงโดย ณัฐวุฒิ แจ๊สสูงเนิน จากหนังสือ ธรรมะจากพระโอษฐ์