ร่วมกำหนดอนาคตประเทศไปพร้อมกัน!!! เข้าใจ ก่อนลงประชามติ ร่างรธน. 7 สิงหา  เตรียมตัวอย่างไร และผลการตัดสินใจที่ตามมา

ร่วมกำหนดอนาคตประเทศไปพร้อมกัน!!! เข้าใจ ก่อนลงประชามติ ร่างรธน. 7 สิงหา เตรียมตัวอย่างไร และผลการตัดสินใจที่ตามมา

 นับถอยหลังอีกเพียง 1 วัน ก็ถึงวาระที่คนไทยทุกคนจะต้องร่วมกันไปออกเสียงลงประชามติ ว่าจะ "รับ" หรือ "ไม่รับ" ร่างรัฐธรรมนูญ กันแล้วในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 อย่างไรก็ตามเชื่อว่าหลาย ๆ คนอาจยังไม่ทราบว่า เหตุใดเราจึงต้องไปลงประชามติ และผลการออกเสียงครั้งนี้จะส่งผลเช่นไรต่ออนาคตของประเทศ รวมถึงจะเตรียมตัวการใช้สิทธิ์อย่างไร ผู้ที่อาศัยอยู่ต่างถิ่นจำเป็นต้องเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อไปใช้สิทธิ์หรือไม่ ในวันนี้เรามีคำตอบ

 

1. ทำไมต้องไปใช้สิทธิ์ลงประชามติ รับ-ไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญ
          การออกเสียงประชามติ เป็น "สิทธิ" และความรับผิดชอบร่วมกันของคนไทยทุกคนว่าจะเห็นชอบหรือไม่ สำหรับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยกร่างขึ้นมา ซึ่งตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ. พ.ศ. 2559 ไม่ได้ระบุโทษสำหรับผู้ที่ไม่ออกไปใช้สิทธิ์ของตน อย่างไรก็ตามพึงระลึกไว้ว่า 1 เสียงของเราย่อมส่งผลต่ออนาคตของประเทศ

ลงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ

          โดยการไปลงประชามติครั้งนี้ เป็นการออกเสียงใน 2 ประเด็นคำถาม คือ

          - ให้ความเห็นชอบ หรือ ไม่เห็นชอบ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ... อันมี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ทั้งฉบับ

          - ให้ความเห็นชอบ หรือ ไม่เห็นชอบ ประเด็นคำถามพ่วงเพิ่มเติมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ "ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี"

2. ลงประชามติ รับ-ไม่รับ ส่งผลอะไรบ้าง

          สำหรับผลที่จะเกิดขึ้นหลังจากการลงประชามติ หากจะกล่าวโดยสรุปแล้ว สามารถมองได้ 4 แนวทาง ดังนี้

          - ร่างรัฐธรรมนูญ "ผ่าน" คำถามพ่วง "ผ่าน" สิ่งที่ตามมาคือ จะมีเลือกตั้งสิ้นปี 2560 เป็นอย่างต่ำ (กรธ. อยู่เขียนกฎหมายลูก 240 วัน)

          - ร่างรัฐธรรมนูญ "ผ่าน" คำถามพ่วง "ไม่ผ่าน" สิ่งที่จะตามมาคือ มีเลือกตั้งสิ้นปี 2560 เป็นอย่างต่ำ แต่ ส.ว. จะไม่ได้เข้าร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีกับ ส.ส.

          - ร่างรัฐธรรมนูญ "ไม่ผ่าน" คำถามพ่วง "ผ่าน" อาจะนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และอาจนำเนื้อหาในคำถามพ่วงมาบรรจุในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย

          - ร่างรัฐธรรมนูญ "ไม่ผ่าน" คำถามพ่วง "ไม่ผ่าน" สิ่งที่จะตามมาคือ การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งหมด

   

3. ลงประชามติ 7 สิงหา เตรียมตัวอย่างไร

 

          แน่นอนว่าก่อนจะร่วมออกเสียงลงประชามตินั้น เราควรจะศึกษาทำความเข้าใจรวมถึงวิเคราะห์หลักเหตุผลของร่างรัฐธรรมนูญก่อนตัดสินใจออกเสียง จากนั้นจึงมาทำความเข้าใจขั้นตอนและวิธีในการออกเสียงประชามติ วันที่ 7 สิงหาคม เวลา 08.00-16.00 น. โดยมีขั้นตอนดังนี้ 

          - ตรวจสอบรายชื่อหน้าหน่วยออกเสียง หรือจากหนังสือแจ้งเจ้าบ้าน

          - ยื่นหลักฐานแสดงตน (โดยใช้หลักฐานคือ บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวประชาชนที่หมดอายุ หรือบัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่มีรูปถ่ายและมีเลขประจำตัวประชาชนของผู้ถือบัตร)

          - รับบัตรออกเสียง พิมพ์ลายนิ้วมือที่ต้นขั้วบัตร

          - ทำเครื่องหมาย X ในช่อง "เห็นชอบ" หรือ "ไม่เห็นชอบ" ร่างรัฐธรรมนูญและในประเด็นเพิ่มเติม
         
          - พับและหย่อนบัตรใส่หีบ

4. สามารถลงประชามตินอกเขตจังหวัดได้หรือไม่

          สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่นอกภูมิลำเนา และประสงค์จะใช้สิทธิ์ออกเสียงนอกจังหวัด สามารถลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์ออกเสียงนอกเขตจังหวัดได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม-30 มิถุนายน ซึ่งหากเกินกำหนดแล้วจะต้องเดินทางกลับไปใช้สิทธิ์ยังเขตของตน โดยสามารถตรวจสอบสถานที่ออกเสียง และรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงได้ผ่านทาง เว็บไซต์ khonthai.com 

ลงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ

5. ใครบ้างที่ใช้สิทธิ์ไปลงประชามติได้

          - มีสัญชาติไทย แต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี (นับถึงวันออกเสียง)

          - มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ในวันออกเสียง และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตออกเสียงมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันออกเสียง

          - ไม่เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือ นักบวช

          - ไม่อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

          - ไม่เป็นบุคคลผู้ถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

          - ไม่เป็นบุคคลผู้วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

 

 

 เมื่อศึกษาข้อมูลอย่างเข้าใจแล้ว มาร่วมกำหนดอนาคตของประเทศไทยร่วมกัน ในการลงประชามติ วันที่ 7 สิงหาคม เวลา 08.00-16.00 น.

ร่วมกำหนดอนาคตประเทศไปพร้อมกัน!!! เข้าใจ ก่อนลงประชามติ ร่างรธน. 7 สิงหา  เตรียมตัวอย่างไร และผลการตัดสินใจที่ตามมา