รู้ยัง!!! สื่อนอกเผย "ไทย" ทุกข์น้อยสุดในโลก แถมครองแชมป์ 2 ปีซ้อน

ติดตามข่าวสารที่ www.Tnew.co.th

 

รู้ยัง!!! สื่อนอกเผยดัชนีความทุกข์ 74 ประเทศทั่วโลก ล่าสุดไทยยังคงครองแชมป์ประเทศทุกข์น้อยที่สุด เหตุภาวะเงินเฟ้อและอัตราว่างงานต่ำ โดยมีสิงคโปร์-ญี่ปุ่นตามมาในอันดับ 2 และ 3 ส่วน "มะกัน" ที่เป็นประชาธิปไตยจ๋าอยู่อันดับ 21

 

วานนี้ (8 ส.ค.) มีรายงานข่าวว่า เว็บไซต์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก เปิดเผยผลการจัดอันดับดัชนีความทุกข์ยากล่าสุดของปีนี้ โดยอ้างอิงจากภาวะเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานของ 74 ประเทศทั่วโลก พบว่าไทยเป็นประเทศที่มีความทุกข์จากภาวะเศรษฐกิจน้อยที่สุด หรืออีกนัยคือ ไทยถือเป็นดินแดนที่ผู้คนมีความสุขที่สุดในโลก โดยมีคะแนนในดัชนีความทุกข์ยากแค่ 1.1% น้อยที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับอีก 73 ประเทศ


ประเทศอื่นๆ ที่มีความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจน้อยมากใกล้เคียงกับไทยได้แก่ 2 ประเทศเพื่อนบ้านร่วมทวีปเอเชีย โดยสิงคโปร์ตามมาติดๆ ในอันดับ 2 ได้คะแนน 1.40% ญี่ปุ่นได้อันดับสาม 2.70% ประเทศอื่นที่น่าสนใจซึ่งบลูมเบิร์กอ้างอิงไว้ในบทความ ได้แก่ สหราชอาณาจักรติดอันดับ 17, สหรัฐอเมริกาอันดับ 21 และจีนได้อันดับ 23

 

ส่วนประเทศที่มีความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจมากที่สุดในโลก คือ เวเนซุเอลา สืบเนื่องจากราคาน้ำมันตกต่ำ นำไปสู่ปัญหาสินค้าขาดแคลน รวมถึงสินค้าอาหารและเวชภัณฑ์ อัตราเงินเฟ้อของเวเนฯ สูงถึง 181%

 

โดยเวเนซุเอลามีคะแนนความทุกข์สูงถึง 188.2% เป็นประเทศที่มีความทุกข์มากที่สุดในโลกอย่างไม่มีคู่แข่ง ตามด้วยบอสเนีย 48.29% และแอฟริกาใต้ 32.90%

 

 

 

 

รายงานยังระบุว่า ตัวเลขอัตราการว่างงานอย่างเป็นทางการของไทยนับถึงสิ้นเดือนมิถุนายนปี 2559 อยู่ที่ประมาณ 1% ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคเมื่อเดือนกรกฎาคม เพิ่มขึ้น 0.1% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2558 ขณะที่ของเดือนมิถุนายน ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 0.4% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว

 

อย่างไรก็ดี บลูมเบิร์กกล่าวว่าการพิจารณาจากตัวเลขข้างต้น ไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจของไทยโรยด้วยกลีบกุหลาบ เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างเชื่องช้าแม้จะสร้างความยินดีแก่ผู้บริโภค แต่ก็อาจส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจยังไม่ถึงขั้นแข็งแรง

 


ขณะที่ ซาโตชิ โอคางาวะ นักวิเคราะห์ตลาดโลกของธนาคารซูมิโตโมมิตซุยแบงกิงคอร์ปอเรชัน ให้แง่คิดว่า การผ่อนคลายของภาวะเงินเฟ้อเป็นสัญญาณว่าความต้องการสินค้าและบริการยังไม่เพียงพอต่อการตอบสนองต่ออุปทานในภาคเศรษฐกิจ และยังส่งเสริมให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อจนกว่าสินค้าจะถูกลง ซึ่งยิ่งทำให้อุปสงค์ลดต่ำลงอีก วงเวียนการผ่อนคลายภาวะเงินเฟ้อนี้จะทำให้อัตราค่าจ้างต่ำลงด้วย

 

ภาพ : minimore.com