หนึ่งทศวรรษความเป็นธรรมบังเกิด !!!   ศาลปค.สูงสุดเพิกถอนคำสั่งอนุญาโตตุลาการ บังคับทีโอทีแบ่งรายได้กว่า 9 พันล.ให้ทรูฯ !!?!!

ติดตามรายละเอียด deeps.tnews.co.th

 

    หลังจากต่อสู้คดีมานานถึง 10  ปี  วันนี้  (  19  ส.ค.)   ข้อพิพาทว่าด้วยการแบ่งผลประโยชน์ระหว่างบมจ.ทีโอที และ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ก็เดินมาถึงบทสรุป  เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามคำสั่งศาลปกครองกลาง  ที่ให้เพิกถอนคำชี้ของคณะอนุญาโตตุลาการและปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวที่ให้ บมจ.ทีโอที แบ่งผลประโยชน์ตอบแทนและชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น จำนวน 9,175,817,440.07 บาท ซึ่งเป็นผลประโยชน์ตอบแทนที่ได้รับจากการนำบริการพิเศษตามสัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนขยายบริการโทรศัพท์ มาผ่านโครงข่ายของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

     

     โดยศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า  การวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการต้องพิจารณาตามกฎหมายไทยตามที่กำหนดในสัญญา และมาตรา 34 แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 โดยใช้กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ซึ่งมาตรา 40 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดกรณีพิพาท มีเจตนารมณ์ที่จะให้คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสื่อสารที่ใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ และการจัดสรรต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน รวมทั้งการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม

         

      ส่วนมาตรา 25 วรรคห้า แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 บัญญัติให้การเรียกเก็บค่าตอบแทนการใช้หรือเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมต้องเป็นไปอย่างสมเหตุสมผลและเป็นธรรม โดยให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเป็นผู้มีอำนาจกำหนดโครงสร้างอัตราค่าธรรมเนียมและค่าบริการโทรคมนาคม รวมทั้งอัตราค่าเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมตามมาตรา 51 วรรคหนึ่ง (8) แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 โดยมาตรา 80 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 บัญญัติให้การประกอบกิจการโทรคมนาคมของคู่สัญญาเดิมต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว และมาตรา 26 วรรคสี่ แห่ง พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 บัญญัติให้สิทธิประโยชน์ตามสัญญาเดิมเป็นอันสิ้นสุดลงเมื่อมีการตรากฎหมายว่าด้วยการดำเนินกิจการที่ดำเนินการอยู่ ซึ่งมีผลทำให้สิทธิของคู่สัญญาเดิมอยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 และ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้หรือเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมตามที่กำหนดไว้เดิมต้องถูกยกเลิกไป

 

      "การที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดข้อพิพาทโดยพิจารณาแบ่งผลประโยชน์ตอบแทนด้วยการคำนึงถึงความสุจริตยุติธรรมและปกติประเพณีตามมาตรา 368 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์   เป็นการชี้ขาดข้อพิพาทโดยไม่ได้พิจารณาถึงความสมเหตุสมผลและเป็นธรรมต่อผู้รับใบอนุญาตและความเท่าเทียมกันระหว่างผู้ขอใช้หรือขอเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมทุกราย จึงเป็นการไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

 

      ดังนั้นการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ จึงเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งศาลมีอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าวได้ และศาลต้องปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าว ศาลปกครองสูงสุดจึงเห็นพ้องด้วยในผลและมีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นที่ให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ และปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าว"

 

      ทั้งนี้คดีฟ้องร้องระหว่าง บมจ.ทีโอทีกับ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น  นั้น  เริ่มมาตั้งแต่ปี 2546  โดยเป็นทางด้านกลุ่มทรูฯ ได้เรียกร้องขอแบ่งส่วนแบ่งรายได้จากค่าเชื่อมโยงโครงข่ายจากทีโอที  ที่ได้รับจากบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (อัตรา 200 บาทต่อเดือน รวม 1 ล้านเลขหมาย   โดยทรูอ้างว่าการเชื่อมโครงข่ายดังกล่าว มีการใช้โครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐานของทรูฯ รวมอยู่ด้วย แต่ทางทีโอทียืนยันว่าไม่สามารถจ่ายส่วนแบ่งรายได้ตามข้อเรียกร้องของทรูได้  เพราะสัญญาสัมปทานที่ทรูทำไว้กับทีโอที รายได้ที่เกิดขึ้นถือเป็นรายได้ของทีโอทีไม่เกี่ยวกับทรู   

 

     จนต่อมามีการนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการเป็นผู้ตัดสิน  และเมื่อวันที่ 21 ก.พ .2549  คณะอนุญาโตตุลาการได้เรียกคู่กรณีมาสอบสวนข้อเท็จจริง และตัดสินให้ทีโอทีเป็นผู้แพ้คดีดังกล่าว  ต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้ทรู 9,175 ล้านบาท  บวกดอกเบี้ย 7.5% ไปจนถึงสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน  แบ่งเป็นผลประโยชน์นับแต่ต้นจนถึงวันที่ 22 ส.ค.2545 ให้ทีโอทีชำระเงินจำนวน 9,175 ล้านบาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตรา 7.5%  ส่วนผลประโยชน์ตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค.2545 เป็นต้นไป ให้ทีโอทีแบ่งผลประโยชน์ตอบแทนในอัตรา 50% ของผลประโยชน์ที่ทีโอทีได้รับจริง

 

      อย่างไรก็ตามกับคำชี้ขาดของคณอนุญาโตตุลาการดังกล่าว   ทางบมจ.ทีโอทีได้คัดค้านไม่เห็นด้วยกับคำตัดสิน จึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อสู้คดีต่อไป   จนเมื่อวันที่  19 ก.ย.   2555  ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ  และให้บมจ.ทีโอทีเป็นฝ่ายชนะคดีฟ้องร้อง