ด่วน..กรรมติดจรวด !! ปปง.ยึดทรัพย์ เครือข่าย "เสี่ยเปี๋ยง-สยามอินดิก้า" 7,000 พันล้าน โกงจำนำข้าว จีทูจีเก๊

ติดตามรายละเอียด http://deeps.tnews.co.th

       ผลตรวจสอบการทุจริตโครงการจำนำข้าว ที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติอย่างมหาศาลนั้น  ล่าสุด วันนี้ (9 ก.ย.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง.มีมติให้ยึดและอายัดทรัพย์สินของกลุ่มสยามอินดิก้า บริษัท สิราลัย (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทกีธา) และบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ กับ นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร (เสี่ยเปี๋ยง) เป็นเงินฝากในบัญชีธานาคารจำนวน 51 บัญชี มูลค่าประมาณ 921 ล้านบาท และที่ดินใน กทม. ลำพูน ภูเก็ต พังงา อยุธยา อ่างทาง จำนวน 611 รายการ มูลค่าประมาณ 5,970 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 662 รายการ มูลค่าประมาณ 7,000 ล้านบาท

 

      การยึดทรัพย์นี้สืบเนื่องจากการที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิด นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ กับพวกรวม 21 คน ในคดีขายข้าวจีทูจี   ซึ่งพบการกระทำผิดโดยการแบ่งหน้าที่กันทำงานโดยช่วยเหลือ มุ่งหมาย และเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทไม่ต้องแข่งขันราคากับผู้เสนอรายอื่น แล้วนำข้าวที่ซื้อได้ในราคาต่ำกว่าราคาขายในประเทศ หรือต่ำกว่าราคาที่รับจำนำ ไปขายในประเทศ หรือขายให้บริษัทสยามอินดิก้านำไปขายต่ออีกทอดทำให้เกิดความเสียหายแก่กรมการค้าต่างประเทศและประเทศชาติ กว่า 20,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต

 

      (ข้อมูลประกอบ)    :   คดีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ กับพวก รวม 21 คน  จากการรวบรวมพยานหลักฐานและตรวจสอบธุรกรรมการทางการเงินดังกล่าวพบว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าว มีพฤติการณ์ทุจริตโดยการปลอมสัญญาให้ดูเสมือนมีการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐจริง รวมถึงการตรวจพบการได้ไป ซึ่งทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดกับการทุจริตตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินทั้งกลุ่มบริษัทสยามอินดิก้า บริษัท สิราลัย (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทกีธา) และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง 

     สำนักงาน ปปง. ตรวจสอบทรัพย์สินของกลุ่มผู้กระทำความผิดดังกล่าว พบว่า ทรัพย์สินดังกล่าวมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าได้มาจากการกระทำความผิดและเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (5) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2559 ที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ได้มีมติให้ยึดและอายัดทรัพย์สินของกลุ่มบริษัทสยามอินดิก้า บริษัท สิราลัย (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทกีธา) และบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับ นายอภิชาติ จันทร์ สกุลพร (เสี่ยเปี๋ยง) เป็นเงินฝากในบัญชีธนาคารจำนวน 51 บัญชี มูลค่าประมาณ 921 ล้านบาท และที่ดินในกรุงเทพมหานคร ลำพูน ภูเก็ต พังงา พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง จำนวน 611 รายการ มูลค่าประมาณ 5,970 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 662 รายการ มูลค่าประมาณ 7,000 ล้านบาท 

      ก่อนหน้านั้น  เมื่อวันที่ ( 20 ม.ค. 58 )    นายวิชา มหาคุณ  กรรมการ ป.ป.ช. (ในขณะนั้น) แถลงข่าว ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติกรณีระบายข้าวจีทูจี    พบว่า  จากการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการไต่สวน รับฟังได้ว่า นายภูมิ สาระผล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมช.พาณิชย์   และประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว, นายบุญทรง, พ.ต.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการ และเลขานุการ รมว.พาณิชย์, นายมนัส สร้อยพลอย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ, นายทิฆัมพร นาทวรทัต เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ และรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ, นายอัครพงศ์ ช่วยเกลี้ยง หรือ ทีปวัชระ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขานุการกรม และผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ

 

     รวมถึงนายสมคิด เอื้อนสุภา, นายรัฐนิธ โสจิระกุล, นายลิตร พอใจ ผู้รับมอบอำนาจชำระเงินและผู้รับมอบอำนาจรับมอบข้าว บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด, น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง ในฐานะกรรมการบริษัท สยามอินดิก้า, น.ส.สุธิดา จันทะเอ ในฐานะกรรมการบริษัท สยามอินดิก้า, น.ส.เรืองวัน เลิศศลารักษ์ ในฐานะกรรมการบริษัท สยามอินดิก้า และในฐานะส่วนตัว, นายโจ หรือนิมล รักดี, นายสุธี เชื่อมไธสง น.ส.สุนีย์ จันทร์สกุลพร, นายกฤษณะ สุระมนต์, นายสมยศ คุณจักร, บริษัท สิราลัย จำกัด หรือบริษัท กีธา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด, นางสาวธันยพร จันทร์สกุลพร ในฐานะกรรมการบริษัท สิราลัย และนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร ได้ร่วมกันกระทำความผิด ด้วยการแบ่งหน้าที่กันทำงานโดยช่วยเหลือ มุ่งหมาย และเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท กวงดง สเตชันเนอรี่ แอนด์ สปอร์ตติ้ง อิมพอร์ต แอนด์ เอ็กซ์พอร์ต คอร์ปอเรชั่น และบริษัท ไห่หนาน เกรน แอนด์ ออยล์ อินดัสเทรียล เทรดดิ้ง ซึ่งมิได้รับมอบหมายจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนให้เข้ามาทำสัญญาซื้อขาย แต่ให้มีสิทธิเข้าทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยไม่ต้องแข่งขันราคากับผู้เสนอราคารายอื่น แล้วนำข้าวที่ซื้อได้ในราคาที่ต่ำกว่าราคาขายภายในประเทศ หรือต่ำกว่าราคาที่ฝ่ายไทยเสนอ หรือต่ำกว่าราคาที่รับจำนำ นำไปขายต่อให้กับผู้ประกอบการค้าข้าวในประเทศ หรือนำไปให้บริษัทสยาม อินดิก้า นำไปขายต่ออีกทอดหนึ่ง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่กรมการค้าต่างประเทศ และประเทศชาติอย่างร้ายแรง

 

         โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว มีมติว่า ผู้ถูกกกล่าวหาดังกล่าวข้างต้น ร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหา ที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อพิจารณาโทษทางวินัย และให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญากับผู้ถูกกล่าวหาตามฐานความผิดดังกล่าวข้างต้น ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 92 และมาตรา 97 แล้วแต่กรณี สำหรับผู้ถูกกล่าวหารายอื่น นั้นให้คณะอนุกรรมการไต่สวน ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงโดยเร็วต่อไป
       
       พร้อมนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติเพิ่มเติม ให้นำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องกล่าวหานี้ ในส่วนของการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าว และการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ให้สำนักงาน ป.ป.ช. ไปดำเนินการศึกษาเพื่อกำหนดมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะ เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ หรือวางแผนงานโครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามมาตรา 19 (12) แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542
       
       สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐกับบริษัท กวงดง สเตชันเนอรี่ แอนด์ สปอร์ตติ้ง อิมพอร์ต แอนด์ เอ็กซ์พอร์ต คอร์ปอเรชั่น และ และบริษัท ไห่หนาน เกรน แอนด์ ออยล์ อินดัสเทรียล เทรดดิ้ง จะแจ้งให้กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลัง ดำเนินการให้ผู้ถูกกล่าวหา หรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเสียหายชดใช้ค่าเสียหาย ตามมาตรา 73/1 วรรคท้าย แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 รวมทั้งแจ้งให้กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ตรวจสอบธุรกรรมการทางการเงิน หรือการชำระภาษีของผู้ถูกกล่าวหา รวมถึงผู้เกี่ยวข้องที่ทำการสั่งจ่ายแคชเชียร์เช็คให้กับกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ตามมาตรา 103/7 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542
       
      ส่วนกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าการเจรจาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ซึ่งมีนางปราณี ศิริพันธ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศและประธานคณะทำงานดำเนินการระบายข้าวเป็นผู้เสนอ และมีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เป็นผู้ให้ความเห็นชอบ กับบริษัท ไฮกู เหลียงเหมา ซีเรียล แอนด์ ออยล์ เทรดดิ้ง จำกัด ปริมาณ 3 ล้านตัน, บริษัท ไฮกู เหลียงหยุ่นไหล่ ซีเรียล แอนด์ ออยล์ เทรดดิ้ง จำกัด ปริมาณ 2 ล้านตัน, บริษัท ไฮหนาน โพรวินซ์ แลนด์ รีเคลเมชั่น อินดัสเทรียล ดิเวล็อปเม้นท์ ปริมาณ 4 ล้านตัน และบริษัท ไห่หนาน แลนด์ รีเคลเมชั่น คอมเมอร์ส แอนด์ เทรด กรุ๊ป จำกัด ปริมาณ 5 ล้านตันนั้น   บริษัทดังกล่าวมิได้เป็นหน่วยงานของรัฐที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนให้เข้ามาทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ แต่กระทำไปโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม อันเป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตตามกฎหมายอื่น เห็นควรดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงตามมาตรา 66 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และให้สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการแสวงหาและรวบรวมพยานหลักฐานว่าในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการซื้อขายมันสำปะหลังในรูปแบบสัญญาซื้อขายรัฐต่อรัฐหรือไม่ อย่างไร แล้วนำเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไป
       
       นายวิชา กล่าวเพิ่มเติมว่า “นอกจากนี้ยังมีมติให้กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กรมการค้าต่างประเทศ เรียกค่าเสียหายกับบริษัทที่ถูกกล่าวหาทั้งหมด ซึ่งน่าจะเกิน 6 แสนล้านบาท และแจ้งให้กรมสรรพากรตรวจสอบภาษีของผู้ถูกกล่าหาและผู้จ่ายแคชเชียร์เช็คอีกด้วย"