สนช.บี้ !!! ถอดถอน"บิ๊กโอ๋" จุ้นตั้งปลัดกห.ดัน"รุ่นน้อง"หัก"รุ่นพี่" ขณะเจ้าตัวยังดันทุรัง ชงชื่อถูกต้อง

ติดตามรายละเอียด http://deeps.tnews.co.th

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อาศัยฤกษ์ "วันมหามงคล" 9 /09/59  ดำเนินการ กระบวนการถอดถอน "บิ๊กโอ๋" พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต เพื่อนร่วมรุ่น "ตท.10" ทักษิณ ชินวัตร แล้ว โดยวันนี้( 9 ก.ย.) ที่รัฐสภา มีการประชุมการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ครั้งที่ 49/2559 มี นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.เป็นประธาน พิจารณา ถอดถอน พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหม ตาม มาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ประกอบ มาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กรณีใช้สถานะหรือตำแหน่งรัฐมนตรี เข้าไปก้าวก่าย แทรกแซง การปฏิบัติราชการ หรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของคณะกรรมการปลัดกระทรวงกลาโหม ในการบรรจุแต่งตั้งโยกย้ายโอน เลื่อนตำแหน่ง โดย เสนอ พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน ให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม โดยไม่ถูกต้องตามข้อบังคับและกฎหมาย ซึ่งในวันนี้เป็นขั้นตอนการซักถามของคณะกรรมาธิการซักถาม สนช.โดยมีสมาชิก สนช.ส่งคำถาม 3 คน 14 คำถาม แบ่งเป็นซักถามคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 7 คำถาม และซักถาม พล.อ.อ.สุกำพล 7 คำถาม

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการซักถามได้ซักถาม ป.ป.ช.ว่า การกล่าวหา พล.อ.อ.สุกำพล เป็นฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซงการแต่งตั้งข้าราชการทหาร ข้อเท็จจริงบทบทบัญญัติในการแต่งตั้งอย่างไร และเหตุใดจึงกล่าวหาใช้อำนาจหน้าที่ไม่ชอบ และการเสนอชื่อ พล.อ.ทนงศักดิ์ เป็นปลัดกระทรวงกลาโหม ใช้อำนาจถูกหรือผิด และหากเปรียบการคดี นายประชา ประสพดี ที่ใช้อำนาจแทรกแซงการบริหารงานขององค์การตลาด ซึ่งถูก สนช.ถอดถอนไปเมื่อวันที่ 19 ส.ค.เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
         
โดย น.ส.สุภา ปิยะจิตติ ตัวแทน ป.ป.ช.ชี้แจงว่า ขั้นตอนการแต่งทหารชั้นนายพลจะต้องปฏิบัติตามมาตรา 25 วรรค 2 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 และข้อบังคับว่าด้วยการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของกระทรวงกลาโหม ในข้อที่ 11 ซึ่งละหน่วย กรม กองจะต้องคัดเลือกและลงนามรับรองก่อนที่เสนอให้คณะกรรมการระดับกระทรวงที่มี รมว.กลาโหม เป็นประธานพิจารณาต่อไป ซึ่งพฤติการณ์ของ พล.อ.อ.สุกำพล ขัดต่อระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมฯ ที่เสนอชื่อ พล.อ.ทนงศักดิ์ ถือเป็นการเสนอข้ามกรม ซึ่งตามหลักจะต้องพิจารณาคนในก่อน นอกจากนี้ พล.อ.อ.สุกำพล ยังสั่งห้าม เจ้ากรมเสมียนตรา ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการการประชุม จดบันทึการประชุม  และไม่ได้เชิญเข้าร่วมประชุมถือว่าเป็นการกระทำที่ก้าวก่ายแทรกแซงการทำงาน ซึ่งตามกฎหมายห้ามใครไม่ให้ประชุมไม่ได้

ต่อมา ทางคณะกรรมาธิการซักถามฯ ได้ถาม พล.อ.อ.สุกำพล ในประเด็นที่ มีการนำตัว พล.อ.ทนงศักดิ์ เข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น เป็นการแทรกแซงหรือสนับสนุนหรือไม่ ขัดต่อจริยธรรม ทำไมจึงเสนอชื่อ พล.อ.ทนงศักดิ์ เป็นปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าใจและยึดถือปฏิบัติตามแนวทางการแต่งตั้งนายทหารระดับชั้นนายพลหรือไม่ และใช้ดุลยพินิจในการแต่งตั้งอย่างไร เพราะโดยหลักการจะต้องดูคนใน หลักอาวุโส ประวัติ และผลการปฏิบัติหน้าที่ รวมความประพฤติและจริยธรรม ทั้งนี้ การกระทำของ พ.อ.อ.สุกำพล ทำให้เกิดความเสียหายต่อสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.ชาตรี ทัตติ รองปลัดกระทรวงกลาโหมในขณะนั้นได้รับความเสียหายหรือไม่
         
ด้าน พล.อ.อ.สุกำพล ชี้แจงว่า การนำ พล.อ.ทนงศักดิ์ เข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อยากรู้จัก และไม่ได้พาเข้าไปคนเดียว ซึ่งเป็นเรื่องปกติเพราะในสมัยที่ตนเป็น รมว.คมนาคม ก็เคยพาอธิบดีไปพบ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้ายแต่อย่างใด ส่วนการเสนอชื่อ ตนในฐานะกรรมการคนหนึ่งสามรถเสนอชื่อใครก็ได้ และในการประชุมก็ได้เสนอชื่อถึง 2 คน แต่ที่ประชุมมติเลือก พล.อ.ทนงศักดิ์ เป็นปลัดกระทรวงกลาโหม ส่วนการตัดสินใจเลือก พล.อ.ทนงศักดิ์ เนื่องจากเป็นรุ่นน้อง 1 ปี ผ่านตำแหน่งงานสำคัญๆ มา แม้อาวุโสน้อยกว่า พล.อ.ชาตรี แต่ตำแหน่งปลัดกระทรวงจะต้องทำงานใกล้ชิด รมว.กลาโหม เป็นเหมือนมือขวา และที่สำคัญคือประสานกับกองทัพ ซึ่งการเป็นรุ่นพี่จะประสานงานได้ง่ายที่สุดซึ่งในแวดวงทหารและตำรวจจะรู้ดี
         
หลังจากนั้น นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 ได้นัดประชุมเพื่อแถลงปิดคดีด้วยวาจา ในวันที่ 15 ก.ย.และนัดลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอน พล.อ.อ.สุกำพล ในวันที่ 16 ก.ย.นี้