วันคล้ายวันสถาปนา "กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น" กระทรวงมหาดไทย ครบ 14 ปี "วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม 2559" !!

กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ครบรอบ 14 ปี วันที่ 3 ตุลาคม 2559

เมื่อวันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม 2559 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จัดงานวันคล้ายวันสถาปนากรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ครบ 14 ปี โดยมีพิธีสักการะและบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ประกอบพิธีสงฆ์พร้อมทั้งจัดแถลงข่าวผลงานของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นณ อาคารสุวัทนา กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

 

นายจรินทร์ จักกะพาก อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้กำหนดแผนปฏิบัติราชการ ๔ ปี ที่จะดำเนินการในช่วงปี ๒๕๕๘ – ๒๕๖๑ มุ่งเน้นยุทธศาสตร์การพัฒนาตนเองให้มีความทันสมัย มีสมรรถนะสูง มีความเป็นมืออาชีพ รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในด้านการจัดทำแผน การบริหารจัดการ การบริหารงานบุคคล การบริหารการเงิน การคลังและการจัดการบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ตอบสนองความต้องการของประชาชน สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล บนพื้นฐานของความเป็นอิสระ พึ่งพาตนเองได้ เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นกำลังสำคัญ ในการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง

 

ตลอดระยะเวลา ๑๔ ปีที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้พัฒนาแนวความคิด พัฒนาระบบ และวิธีการในการดำเนินการ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาโดยลำดับ มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยด้านอินเตอร์เน็ตและดิจิตอล มาประยุกต์ใช้กับการทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในด้านต่างๆ ที่สำคัญ เช่น

 

๑. การจัดทำโปรแกรมระบบแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สิน (LTAX ๓๐๐๐) และ โปรแกรมระบบประยุกต์สารสนเทศด้านภูมิศาสตร์ (LTAX GIS) เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำโปรแกรมดังกล่าว ไปใช้พัฒนาระบบการจัดเก็บภาษีที่ดิน โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีป้าย ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้ง วางแนวทางการพัฒนาพื้นที่ให้สอดคล้องกับสภาพสารสนเทศทางภูมิศาสตร์

๒. การจัดทำระบบบัญชี e-LAAS เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้นำเข้า จัดเก็บและประมวลผลข้อมูล ผ่านระบบการเงินและการบัญชีด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อให้มีข้อมูลด้านการเงินและบัญชีที่เป็นปัจจุบัน สอดคล้องเชื่อมโยงระหว่างผู้จัดสรรงบประมาณ (กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) และผู้ใช้จ่ายงบประมาณ (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) ที่สามารถตรวจสอบ ติดตามผลและรายงานผลในภาพรวมได้อย่างรวดเร็ว                 

๓. นอกจากนี้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ยังได้พัฒนารูปแบบการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จากรูปแบบของ Core Team เข้าสู่ระบบการประเมินผลที่เรียกว่า Local PerfomanceAssestmentหรือ LPA ซึ่งมีการจัดเก็บข้อมูล ประเมินผลและประมวลผลข้อมูล คล้ายคลึงกับลักษณะของงานวิจัย ซึ่งผลการประเมินดังกล่าว จะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เข้าใจขีดความสามารถและข้อบกพร่องในการทำงานของหน่วยงานตนเองมากยิ่งขึ้น ว่าได้ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำด้านใดบ้าง และควรพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้นในด้านใด ขณะเดียวกันหน่วยงานด้านการกำกับดูแล ซึ่งได้แก่ จังหวัด อำเภอ และหน่วยงานที่มีความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็สามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันเอง เพื่อหาแนวทางสนับสนุน ส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อไป

๔. สานต่อแนวทางปฏิบัติด้านจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” ด้วยหลักการ ๓Rsประชารัฐ คือ การลดปริมาณขยะ (Reduce)  การใช้ซ้ำ (Reuse) และการแปรรูปใช้ใหม่ (Recycle) โดยให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมตามแนวทาง “ประชารัฐ” ซึ่งมีเป้าหมายจะทำให้ปริมาณขยะมูลฝอยลดลงปีละ ๕% ประชาชนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะปฏิบัติภารกิจตามวิสัยทัศน์ที่ได้กำหนดไว้ โดยมิได้หลงลืมปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่พระราชทานให้เป็นหลักในการพัฒนาประเทศ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ประสานความร่วมมือกับ ๓ สมาคมหลัก ได้แก่ สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยและสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ในการดำเนินการเพื่อสำรวจข้อมูลมาประกอบการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงท้องถิ่น (Local Suffiiciency Economy Plan หรือ LSEP) ด้านเกษตรและแหล่งน้ำไว้ล่วงหน้า เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาตัดสินใจในการวางนโยบาย แผนงาน โครงการ และการขอรับงบประมาณสนับสนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการจัดสรรงบประมาณจากส่วนกลาง เพื่อแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำ การขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค ให้แก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไป ในระยะยาวอย่างยั่งยืน

 

มีการคาดการณ์ถึงสถานการณ์ของประเทศไทยว่าจะเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” ในปี ๒๕๖๘ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจึงได้แจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการสำรวจข้อมูล สภาพผู้สูงอายุในชุมชน โดยร่วมกับองค์กรภาคประชาชนและภาคีเครือข่ายเพื่อวางแนวทางดำเนินงานหรือโครงการ พัฒนาระบบการดูแลสุขภาพ การส่งเสริมคุณภาพชีวิต การบริการทางสังคม และการปรับสภาพแวดล้อม และพัฒนาไปสู่การจัดตั้ง “ศูนย์บริการผู้สูงอายุทั่วประเทศ” ให้ครบทั้ง ๗๖ จังหวัด ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพอนามัย มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และเพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ

อีกทั้ง ในด้านการจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังได้ริเริ่มให้มีการจัดทำโครงการโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่น (Local Suffiiciency School หรือ LSS) เพื่อให้นักเรียนในกลุ่มโรงเรียนเป้าหมายนำร่อง ๑๕๒ โรงเรียน ได้ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านกิจกรรมประเมินผลทางมิติเศรษฐกิจ สังคม การเกษตร วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันมีโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งสิ้น ๑,๕๖๔ โรงเรียน จำนวนนักเรียน ๗๑๒,๖๙๔ คน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ๑๙,๖๒๑ แห่ง จำนวนเด็กเล็ก (อายุ ๒ – ๕ ปี) ๙๓๓,๓๕๖ คน และจำนวนข้าราชการครูที่สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ๓๓,๕๔๐ คน ครูผู้ดูแลเด็กและผู้ดูแลเด็ก ๕๒,๓๖๒ คน ที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจะต้องพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการจัดการศึกษาให้มีความเป็นมืออาชีพ และเพิ่มหลักประกันในมาตรฐานการจัดการศึกษาให้เท่าเทียมกับสถานศึกษาของรัฐ 

                            

ภายใต้กรอบความร่วมมือของประชาคมอาเซียน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้จัดทำเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น “ศูนย์การเรียนรู้อาเซียน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น” เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับอาเซียนและภารกิจของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชนที่สนใจ สามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้โดยง่าย เพียงดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นดังกล่าวไปใช้งานบนโทรศัพท์มือถือ ทั้งระบบ Andriodและ iOS

 

ในอนาคตอันใกล้นี้ การดำเนินการเพื่อปฏิรูปด้านการปกครองท้องถิ่นตามแนวนโยบายแห่งรัฐ จะมีแนวทางดำเนินการที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ในด้านการพัฒนาระบบและโครงสร้างการบริหารงาน ระบบบริหารงานบุคคล การคลังและงบประมาณ ตลอดจนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นไปเพื่อเพิ่มผลสัมฤทธิ์ในการอยู่ดีกินดีของพี่น้องประชาชน และความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนของประเทศ กฎหมายที่เป็นข้อเสนอของสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ที่คาดว่าจะได้รับการยกร่างปรับปรุงหรือแก้ไขเพิ่มเติม มีด้วยกันหลายฉบับ ได้แก่

๑. ยกร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. .... และยกร่างพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. .... ที่จะมีผลต่อการปรับปรุงระบบ โครงสร้าง อำนาจหน้าที่และรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

๒. ยกร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. .... ที่จะมีผลต่อการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้การบรรจุ แต่งตั้ง โอน ย้าย เลื่อนระดับ การสอบแข่งขัน ตลอดจนการดำเนินการทางวินัย เป็นไปด้วยความสุจริต เที่ยงธรรม ไม่มีปัญหาร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริต ดังเช่นที่ผ่านมา

๓. แก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น (ฉบับที่ .. )  พ.ศ. ... ที่จะทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอกฎหมายได้ง่ายขึ้น และจะมีข้อบัญญัติหรือเทศบัญญัติ ที่สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของประชาชนและเหมาะสมกับสภาพของแต่ละพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากขึ้น

๔. แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. .... ที่จะทำให้ประชาชนสามารถลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นได้ง่ายขึ้น

 

ดังนั้น ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ๗,๘๕๒ คน สมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ๑๔๓,๖๓๗ คน และข้าราชการส่วนท้องถิ่น ๑๗๑,๓๐๓ คน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง ๗,๘๕๒ แห่ง จะต้องปรับตัวและเตรียมพร้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เช่น เพิ่มการเรียนรู้และพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิตอลและอินเตอร์เน็ตให้แก่องค์กรและบุคคลากร เพื่อให้มีการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายขึ้น มีความรวดเร็ว ครบถ้วน นำข้อมูลไปวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้อย่างตรงเป้า ตรงประเด็น ตามความจริงและทันต่อเหตุการณ์ ข้อมูลต้องมีความทันสมัยและเชื่อมโยงกับส่วนราชการอื่น ทั้งในระดับจังหวัดและส่วนกลางได้อย่างรวดเร็ว

 

กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นขอให้คำมั่นว่า ในปี ๒๕๖๐ จะร่วมสร้างท้องถิ่นเข้มแข็ง มีธรรมาภิบาล ก้าวสู่ประเทศไทย ๔.๐ อย่างมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน พร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็น ประสานความร่วมมือ สนับสนุนและส่งเสริมให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพึ่งพาตนเองได้ ใช้แผนได้ดี มีธรรมาภิบาล มีมาตรฐานการบริการสาธารณะ และส่งเสริมการกระจายอำนาจการปกครองไปสู่ภาคประชาชนอย่างแท้จริง

 

ในโอกาสครบรอบ ๑๔  ปี แห่งการก่อตั้งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ขอให้ข้าราชการทุกท่าน พึงตระหนักถึงภารกิจและวิสัยทัศน์ที่ได้แถลงไว้เป็นสาธารณะ ให้มีความรัก ในตำแหน่งหน้าที่ มีความสามัคคีภายในองค์กร และมีความตั้งใจที่จะทำให้ภารกิจบรรลุความสำเร็จ ให้เป็นความภาคภูมิใจแก่ตนเองและต่อกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและความเชื่อมั่นให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตลอดไป

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

-ประชุมใหญ่ “ชมรมแม่บ้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น” รุกขับเคลื่อน “ถังขยะเปียกรักษ์โลก-คำนวนคาร์บอนเครดิต”

-โครงการช่วยเหลือผู้ค้ำประกัน (คลินิกแก้หนี้) ของสหกรณ์ออมทรัพย์กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จํากัด