“สนามหลวง” อนุญาตให้ประชาชนสามารถพักค้างคืน เป็นกรณีพิเศษ ...เตือน ระวังกลุ่มมิจฉาชีพที่แฝงตัวเข้ามาในพื้นที่

ล่าสุดนายสมชัย ไตรพิทยากุล ผู้อำนวยการเขตพระนคร ยืนยันได้อนุญาตให้ประชาชนสามารถพักค้างคืนในบริเวณท้องสนามหลวงได้เป็นกรณีพิเศษในช่วงพิธีสำคัญ และขอยืนยันว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุเข้าใจผิด ซึ่งทางกรุ

นายสมชัย ไตรพิทยากุล ผู้อำนวยการเขตพระนคร ยืนยันได้อนุญาตให้ประชาชนสามารถพักค้างคืนในบริเวณท้องสนามหลวงได้เป็นกรณีพิเศษในช่วงพิธีสำคัญ และขอยืนยันว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุเข้าใจผิด ซึ่งทางกรุงเทพมหานครได้จัดสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น รถสุขา มาบริการประชาชนอย่างเต็มที่ ฝากเตือนประชาชนที่เข้ามานอนในบริเวณท้องสนามหลวงให้ระวังทรัพย์สินมีค่าจากกลุ่มมิจฉาชีพที่แฝงตัวเข้ามาในพื้นที่

ด้านนายบวรวิชญ์ ชุมเพ็ชร เจ้าพนักงานเทศกิจเขตพระนคร ได้เปิดเผย ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุเข้าใจผิด ซึ่งโดยปกติในบริเวณสนามหลวงจะเปิดในเวลา 05.00 น. และปิดในเวลา 22.00 น. ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการขอความร่วมมือให้ประชาชนที่นอนอยู่ในบริเวณท้องสนามหลวงฝั่งสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ให้ย้ายมานอนที่ฝั่งวัดพระแก้วติดถนนหน้าพระลานและหลังป้อมของเทศกิจ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลความปลอดภัยและคอยเดินตรวจสอบความเรียบร้อยตลอดทั้งคืน

 

อ้างอิงจากไทยรัฐ

ท้องสนามหลวง เดิมเรียกว่า ทุ่งพระเมรุ เนื่องจากใช้เป็นที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดิน และพระบรมวงศานุวงศ์ ครั้นเมื่อ พ.ศ. 2398 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเรียกจาก “ทุ่งพระเมรุ” เป็น “ท้องสนามหลวง” ดังปรากฏในประกาศว่า “ที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้น คนอ้างการซึ่งนาน ๆ มีครั้งหนึ่งแลเป็นการอวมงคล มาเรียกเป็นชื่อตำบลว่า ‘ทุ่งพระเมรุ’ นั้นหาชอบไม่ ตั้งแต่นี้สืบไปที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้น ให้เรียกว่า ‘ท้องสนามหลวง’”

ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นต้นมา ได้ใช้สนามหลวงเป็นที่ประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ เช่น เป็นที่ตั้งพระเมรุมาศของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ และเป็นที่ประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ทำนาที่สนามหลวง เพื่อแสดงให้ปรากฏแก่นานาประเทศว่า เมืองไทยบริบูรณ์ด้วยข้าวปลาอาหาร มีไร่นาไปจนใกล้ ๆ พระบรมมหาราชวัง และไทยเอาใจใส่ในการสะสมเสบียงอาหารไว้เป็นกำลังของบ้านเมืองด้วย

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีพืชมงคล พิธีพิรุณศาสตร์มีกำแพงแล้วล้อมรอบบริเวณ ข้างในสร้างหอพระพุทธรูปสำคัญเป็นที่ประดิษฐานพระสำหรับพิธี สำหรับการพิธีมีพลับพลาที่ทำการพระราชพิธี มีหอดักลมลงที่พลับพลาสำหรับทอดพระเนตรการทำนา ข้างพลับพลามีโรงละครสำหรับเล่นบวงสรวง ด้านเหนือมีพลับพลาน้อยสร้างบนกำแพงแก้วสำหรับประทับทอดพระเนตรการทำนาในท้องทุ่ง นอกกำแพงแก้วยังมีฉางสำหรับใส่ข้าวที่ได้จากการปลูกข้าว

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ขยายสนามหลวงจากเดิม และรื้อพลับพลาต่าง ๆ ที่สร้างในรัชกาลก่อน ๆ เพราะหมดความจำเป็นที่จะต้องทำนา และได้ใช้สนามหลวงเป็นที่ประกอบพิธีต่าง ๆ เช่น การฉลองพระนครครบ 100 ปี งานฉลองเมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับจากยุโรปใน พ.ศ. 2440 ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้ประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ ใช้เป็นสนามแข่งม้า สนามกอล์ฟ
 

ในรัชกาลปัจจุบันมีการใช้สนามหลวงเป็นที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญ ๆ เช่น พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ,สมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี กาญจนาภิเษก รวมทั้งงานพระเมรุมาศเจ้านายระดับสูง เช่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล, สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, จอมพล ป. พิบูลสงคราม, สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7, สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี, พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และล่าสุด เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2555 สนามหลวงใช้เป็นสถานที่จัดสร้างพระเมรุใช้ในการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

รวมถึงเป็นที่ใช้จัดกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การปราศรัยใหญ่ในการหาเสียงเลือกตั้งในแต่ละครั้ง หรือการชุมนุมทางการเมืองต่าง ๆ รวมถึงใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมทางกีฬาการละเล่นต่าง ๆ เช่น ฟุตบอล หรือ ว่าว และเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไป

สนามหลวงเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 94 ตอนที่ 126 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2520 มีเนื้อที่ 74 ไร่ 63 ตารางวา