"สุภาพบุรุษจราจร"โครงการพระราชดำริ ในหลวง ร.9 ภารกิจเพื่อบรรเทาทุกข์พี่น้องประชาชน

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.Tnews.co.th

ตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริ จุดเริ่มต้นมาจากพระมหากรุณาธิคุณของ"พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร"และ"สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี" ทรงห่วงใยและแก้ปัญหาให้แก่พสกนิกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาจราจร

 

หากจะเอ่ยถึงหนึ่งในโครงการพระราชดำริของ"พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร"เชื่อว่าหลายคนอาจจะต้องนึกถึงตำรวจช่างจราจร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพี่น้องประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนประสบปัญหาและได้รับความช่วยเหลืออำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ  รวมถึงข้อความกล่าวชื่นชมที่ถูกแชร์ผ่านทางอินเตอร์เน็ต ทีนี้ข้าพเจ้าขออนุญาตหยิบยกเรื่องราวความเป็นมา"สุภาพบุรุษจราจร"มาให้แก่ท่านทั้งหลายได้อ่านกัน

 

ความเป็นมาของ ตำรวจจราจรในโครงการพระราชดำริ จุดเริ่มต้นเกิดจากพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เนื่องจากทรงห่วงใยพสกนิกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาการจราจร จึงทรงมีพระราชดำริที่จะแก้ปัญหาบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชน ด้วยการพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ให้กรมตำรวจ เพื่อนำไปซื้อรถจักรยานยนต์เป็น "หน่วยเคลื่อนที่เร็ว" ทำหน้าที่ "สายตรวจจราจร" รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการซื้อวิทยุสื่อสาร ค่าเบี้ยเลี้ยง ฯลฯ

โครงการนี้เริ่มต้นดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2536 โดยมีแนวทางการปฏิบัติในโครงการนี้ 5 ประการ คือ

 

         1.แสวงหาแนวทางให้ผู้ใช้รถใช้ถนน เคารพกฎจราจร และมีมารยาท
         2.ใช้รถจักรยานยนต์ เป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็วแก้ปัญหาจุดที่รถติด เสมือน "รถนำขบวน" โดยรถจักรยานยนต์จะเข้าไปแก้ไขปัญหาทำให้ขบวนรถเคลื่อนที่ไปได้
         3.ใช้รถจักรยานยนต์ดูแลการจราจรบนถนน ให้รถเคลื่อนตัวไปได้เรื่อยๆ ตามความเหมาะสม
         4.ถนนที่เป็น "คอขวด" ให้รถจักรยานยนต์เข้าไปแก้ไขให้เคลื่อนตัวได้เรื่อยๆ เสมือนเทน้ำออกจากขวด
         5.ให้ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการจราจร

 

สำหรับโครงการนี้ เริ่มต้นได้มีการนำเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) จำนวน 150 นาย เข้ารับการอบรมความรู้เพิ่มเติมด้านการจราจรตามพระราชดำริ รวมทั้งการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อออกปฏิบัติหน้าที่เป็นครั้งแรกบนถนนพหลโยธินและวิภาวดีรังสิต โดยใช้รถจักรยานยนต์ที่มีอยู่จัดเป็นกองร้อยพิเศษเคลื่อนที่เร็ว และใช้กองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.) ถ.ศรีอยุธยา (ปัจจุบัน บช.น. ย้ายมาตั้งอยู่ที่วังปารุสกวัน) เป็นสถานที่ตั้งโครงการ

 

ต่อมา มีการขยายผลการปฏิบัติออกไปยัง ถ.พญาไท ถึงสี่แยกปทุมวัน ถ.พระราม ๑ ถึงสี่แยกราชประสงค์ ถ.ราชดำริถึงสี่แยกประตูน้ำ ถ.ราชปรารภถึงสามแยกดินแดง และ ถ.ราชดำเนิน-สะพานพระปิ่นเกล้าไปจนถึงหน้า สน.ตลิ่งชัน

ปัจจุบันตำรวจจราจรในโครงการพระราชดำริ มีการแบ่งการทำงานออกเป็น 3 โซน ได้แก่

 

1. โซนเหนือ ได้แก่พื้นที่ ดินแดง มะกะสัน พญาไท เพชรบุรี แยกพระรามเก้า และรามคำแหง มีเจ้าหน้าที่ตำรวจช่างประจำอยู่ 7 นาย

2. โซนใต้ ได้แก่พื้นที่ ถนนพระราม 1 และถนนพระราม4 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจช่างประจำอยู่ 4 นาย

3. โซนฝั่งธนบุรี ได้แก่พื้นที่ แยกบางพลัด ถนนสิรินธร ถนนบรมราชชนนี มีเจ้าหน้าที่ตำรวจช่างประจำอยู่ 4 นาย

 

ทั้งนี้ หากประชาชนมีปัญหาเร่งด่วนมีผู้ป่วยหรือคนท้องแก่ต้องการไปโรงพยาบาลในเวลาเร่งด่วน หรือรถจอดเสียต้องการความช่วยเหลือ แจ้งไปได้ที่สายด่วนบก. 02 หมายเลข 1197 หรือเบอร์โทรของโครงการ หมายเลข 02-354-6324