“ป๋าเปลว” ปลุกชาวนาปฏิวัติ!!! เลิกทาสนายทุน สลัดแอกโรงสี เดินตามรอยทางพ่อ "รวมตัวกันเป็นสหกรณ์"

ติดตามรายละเอียด http://deeps.tnews.co.th

จาก 'สังข์หยด' ถึงชุมชนต้นแบบ

       ช่วงนี้ ตื่นตัวกันเรื่องข้าว..........! แต่ไม่ใช่ข้าว ........เป็นการตื่นทางปัญญาทัศน์ "สลัดแอก" โรงสีนายทุน เป็นชาวนาสู่ศตวรรษใหม่ "คิดเป็น-ทำเป็น"

       มึงกดราคาข้าวกู.......กูก็สีของกูเอง ขายของกูเอง ไม่ง้อพวกมึงอีกต่อไป เป็นชาวนายุคไอที ตลาดของพวกกูมีทั่วทุกหน้าจอคอมพิวเตอร์  แนวทางพ่อวางไว้ให้ "รวมตัวกันเป็นสหกรณ์" พวกกู...ชาวนาก็จะพากันเดินตามไป ตีนลุยโคลน มือจับคันไถ ไล่ควายเดิน เป็น "ชาวนา-ทำนาเอง" จะไม่เป็นชาวนาตีนไม่ติดโคลน ยอมเป็นทาสให้นายทุน "ทำนาบนหลัง" อีกต่อไป!

       รัฐบาล-พาณิชย์-กองทัพ-ประชาชน........ตบเท้าออกมาสนับสนุนปฏิบัติการ "ชาวนาปฏิวัติ" สลัดแอกโรงสีพ่อค้าคนกลาง เป็นปรากฏการณ์ใหม่ ยังไม่สำเร็จในวันนี้ .........แต่แค่ได้เริ่ม ก็ถือว่า "สำเร็จ-ก้าวหน้า" ไปเกินครึ่ง ขอชาวนา "ซื่อสัตย์" ต่ออาชีพและคุณภาพสินค้า "ทำนาเอง-สีเอง-ขายเอง"

       รัฐบาล-พาณิชย์ จะสานฝันชาวนาไปสู่ฝั่งฟ้าใหม่ ให้อดทนในขั้นต้นนี้ไว้ ความสำเร็จสู่มิติใหม่ของชาวนาไทย จะไปถึง และจะสบายกัน ตามฐานานุรูปทั่วหน้าแน่นอน! ดูพี่น้องชาวนาที่พัทลุงเป็นแบบอย่าง ด้วยเพียร-ยืนหยัด และหยิ่ง ในความเป็นหนึ่งเดียวในโลกของ "ข้าวสังข์หยด"

       วันนี้ "ข้าวสังข์หยด" เป็นข้าวสูงทั้งชั้น-วรรณะ และสูงทั้งราคา "โลกยอมรับ" ขึ้นทะเบียน GI เป็นข้าวบ่งชี้ที่มา "ทั้งโลก-พัทลุงแห่งเดียว" บรรดาข้าวทั้งหลายจากชาติไหนๆ ขายกันโลละเท่าไหร่

       สังข์หยด-พัทลุง บวกไปอีก ๒ เท่า ทั่วทั้งตลาดสหภาพยุโรป! เช่นเดียวกับ "ข้าวทุ่งกุลาร้องไห้" ชื่อก็บอก ผมเคยไปเมื่อ ๕๐ ปี ชาวนาทุ่งกุลาต้องร้องไห้สมจริงตามชื่อ แต่ด้วยหยัด-หยิ่ง-เพียร ของชาวนาทุ่งกุลา รักษาความหอมดังกลิ่นมะลิของพันธุ์ข้าวไว้ได้ วันนี้ "หอมมะลิทุ่งกุลา" หอมคงที่ "ตลบไปทั้งโลก" ตีทะเบียน GI บ่งชี้ชาติกำเนิด "ทุ่งกุลา" สูงทั้งคุณค่า สูงทั้งราคา ข้าวชาติไหน ก็อย่าเผยอเทียบ! นี่คือตัวอย่าง........ของดี ต้องหยิ่ง และยืนหยัด สู้พิสูจน์ อย่าเห็นแก่สบาย เห็นแก่ได้เฉพาะหน้า แล้วคิดเอาง่ายๆ มีปัญหารวมตัวโวยวายเรียกร้องจากรัฐ ต่อไปนี้ "ทั้งรัฐ-ทั้งราษฎร์" ต้องยืนหยัด สัตย์ซื่อ เหนื่อยยาก สู้แบก สู้ฟันฝ่า รวมใจสามัคคี สุข-ทุกข์ ไปด้วยกัน อนาคตใหม่ชาวนา........อนาคตใหม่ของข้าวคุณภาพ.....คืออนาคตใหม่ของประเทศไทย!

 “ป๋าเปลว” ปลุกชาวนาปฏิวัติ!!! เลิกทาสนายทุน สลัดแอกโรงสี เดินตามรอยทางพ่อ "รวมตัวกันเป็นสหกรณ์"

        นอกจากปฏิวัติสลัดแอกพ่อค้า-คนกลาง เป็น "ปลูกเอง-สีเอง-ขายเอง" แล้ว สิ่งสำคัญ ต้องมั่น-ต้องยึด"ความสัตย์ซื่อ" ในคุณภาพ และคงเอกลักษณ์ "ชาวนา-ต้องทำนา" ตีนลุยโคลน คู่วัว-ควาย มือจับเคียวและนี่จะเป็นเอกลักษณ์ "ขายได้" ในตลาดท่องเที่ยว แต่ละเทศกาลไถ-หว่าน-เก็บเกี่ยว เป็นวัฒนธรรม-ประเพณี เลยทีเดียวทุกมาตรการรัฐ และทุกบาท ของเงินงบประมาณ ที่ทุ่มลงไป เป้าหมายต้อง "ช่วยชาวนา" จริงๆไม่ใช่ ช่วยเจ้าของนาเช่า ช่วยผู้จัดการนา ช่วยเจ้าของรถไถนา ช่วยเจ้าของรถเกี่ยวข้าวในนา ช่วยพ่อค้าปุ๋ย และช่วยบริษัทขายเมล็ดพันธุ์ข้าว ที่เป็น "ปลิง" เกาะชาวนา คนอาชีพชาวนาจริงๆ ก็ต้อง "แกะปลิง" เหล่านี้ ออกมาจากตัวเองด้วย อย่าให้อาศัยชื่อชาวนา "ลวงโลก-ลวงรัฐ-ลงราษฎร์" อีกต่อไป ต้องยอมเหนื่อย ยอมลำบากกันบ้าง มิใช่เอาแต่สบาย ไม่ทำเอง แล้วร้อง ต้นทุนสูง ขายข้าวไม่คุ้มทุน ก็จะคุ้มได้ไง เพราะต้นทุนที่ว่าสูงนั้น คือ "ต้นทุนปลิง"!

       ชาวนาเอา "ต้นทุนปลิง" มาเป็น "ทุกข์ของชาวนา" พะชื่อ "ชาวนา" ให้สังคมชาติ "ต้องอุ้ม" ไม่จบ ไม่สิ้น ซึ่งที่แท้ ที่สังคมช่วยอุ้มนั้น ไม่ใช่ชาวนา เป็น "อุ้มปลิง" ที่เกาะชาวนาแท้ๆ! มันเป็นต้นทุนแฝงมากับความ "ใฝ่สบาย" ของชาวนาบางคน ดังสภาพเป็นอยู่ทุกวันนี้ ที่ชาวนา แทบไม่ได้ทำนากันเองแล้ว หากแต่ "จ้างคน-จ้างเครื่องจักร" ทำนา ตอนขายข้าว ก็ขายเกลี้ยง ไม่เก็บไว้กระทั่งข้าวเปลือกเมล็ดพันธุ์ พอทำนา ก็ต้องซื้อเขา กลายเป็น "ต้นทุนเพิ่ม" ที่น่าสมเพช! "ชาวบ้าน-ชุมชน" ที่ช่วยตัวเอง ทำเอง-ขายเอง พูดแล้วอย่าหาว่าชมกันเกินเหตุ

       ชาวพัทลุงส่วนใหญ่ เป็นอย่างนั้นจริงๆ เขาเอาบ่าแบกล้อ แล้วเฆี่ยนควายให้เดินก่อน ไม่ใช่เอะอะโทษรัฐ ร้องรัฐช่วย วัสดุพืชไร่ท้องถิ่น เขาเก็บมาแปรสภาพเป็นสินค้า-ของใช้วางขายทั่ว ข้าวสังข์หยด ใส่ถุงวางขาย ต้นกระจูด ก็เอามาสานเป็นกระเป๋า ฝีมือและวัสดุธรรมชาติท้องถิ่น ทำอยู่ในรู-ในเลี้ยว พี่จันทน์-พี่เล็ก "อดีตเจ้าแม่คุก" ทราบกิตติศัพท์ ดั้นด้นไปซื้อเป็นคันรถ มีเงินก็ใช่ว่าซื้อได้ ....... นัยว่า เขาใช้เน็ตเป็นแผงสินค้า ขนาดระดมลูกเล็ก-เด็กแดงมาช่วยกันทำ ก็ยังทำไม่ทันออร์เดอร์จากสารพัดทิศ!

       ไปพัทลุง วิ่งรถไปเป็นอำเภอๆ โผล่ที่ไหน ก็ไม่พ้น "ทะเลน้อย" กว้าง-ยาว-ใหญ่ เหมือน "ลำไส้" พัทลุง เป็นที่อื่น ผมไม่แน่ใจ ความที่สารพัดสัตว์น้ำ กุ้ง ปู ปลา อุดมสมบูรณ์เหลือหลาย แต่คนพัทลุงไม่ใช้ "ความเห็นแก่ตัว-ความละโมบ" ใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำลงลุยแหลกเลย แค่ตกเบ็ด ยกยอ วางลอบ เรียกว่า "เอาพออยู่-พอกิน" เท่านั้น! ดังนั้น ทะเลน้อย ปากประ หาดลำปำ บางแก้ว เกาะสี่-เกาะห้า ปากพะยูน อีกเยอะแยะ ไปกันเถอะครับ ธรรมชาติบริสุทธิ์ สะอาด สงบ เป็นระเบียบ พ่อค้า-แม่ขาย ไม่วอแวน่ารังเกียจ เหมือนแหล่งท่องเที่ยวหลายๆ ที่ ชุมชน "วัฒนธรรมแข็ง" รักถิ่น ทำมาหากิน "ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม" อย่างที่ผมไปพัก "ศรีปากประ" เขารักษาต้นไม้-ต้นหญ้าทุกต้น ดินทุกก้อน เป็นรีสอร์ตดิบๆ ริมทะเลน้อย เชื่อมทะเลสาบสงขลา แต่เจ้าของอารยะสุกเต็มตัว ไปเที่ยวแล้วสบายใจ คนใต้ลองให้ใจกันแล้ว เท่าไหร่-เท่ากัน ละแวกนั้น พักตรงไหนก็ได้ ชาติสกุลรักษ์แวดล้อมเหมือนกันหมด แต่คนเที่ยวประเภทโป๊งชึ่ง..โป๊งชึ่ง ไม่ต้องไป และดูเหมือนเขาก็ไม่ต้อนรับด้วย

 “ป๋าเปลว” ปลุกชาวนาปฏิวัติ!!! เลิกทาสนายทุน สลัดแอกโรงสี เดินตามรอยทางพ่อ "รวมตัวกันเป็นสหกรณ์"

       ไปอยู่สังคมร่วมแล้ว เกิดความรู้สึก ทั้งเขา-ทั้งเรา ดูเป็นคนมีอารยะ ตัวเบา-ใจเบา ไปทุกแห่ง-ทุกร้านค้าพัทลุง ก็จะให้ความรู้สึกอย่างนั้น! อย่างที่วัดคูหาสวรรค์.........ถ้าเป็นที่อื่น ไม่แน่ว่า รอบๆ กำแพงหน้าวัด และที่ลานวัด อาจระเกะ-ระกะไปด้วยร้านค้า แผงลอย ใครต่อใคร เอารถเข้าไปจอดเต็มไปแล้วแต่ที่นี่ "เรียบ-ระเบียบ-สงบ" ถึงพร้อม ปริยัติ-ปฏิบัติ-ปฏิเวธ ตามแนว "หลวงพ่อปัญญานันทะ" ซึ่งท่านทำนุบำรุงด้านการศึกษาที่นี่ สมเป็นพระอารามหลวงที่ "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" เคยเสด็จฯ มาหลายครั้ง

       "พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" รัชกาลที่ ๕ ก็เคยเสด็จฯ มาเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๒

       "พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว" รัชกาล ที่ ๗ เสด็จฯ มาเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๑

       "สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์" เสด็จมา พ.ศ.๒๔๔๕

       และ "สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต" เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เสด็จมา พ.ศ.๒๔๗๓  ทั้งหมด........จะมีพระปรมาภิไธย จปร. ปปร. ภปร.และ สก.สลักไว้ที่เพิงผาหน้าถ้ำคูหาสวรรค์ ที่ "หลวงพ่อทวด" เคยจำพรรษา รวมทั้งพระนามย่อ บส. "สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต" ผู้ทรงเป็นต้นราชสกุลบริพัตร

       อืมมมมม พัทลุงนี่ เหมือนเพชรลับแล เมื่อเจอ แวววับหยุดตา-หยุดใจให้จดจ่อซะจริงๆ จะเล่าถึง "พระอาจารย์นำ" แห่งวัดดอนศาลา ที่ควนขนุน ก็หมดพื้นที่กระดาษ อยากบอกไว้นิดว่านอกจากหลวงพ่อทวด หลวงพ่อคล้าย นครศรีฯ "พระอาจารย์นำ"........"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ" นอกจากทรงเคยนิมนต์เข้าไปในวังแล้ว ยังเสด็จฯ มาที่วัดถึง ๓ ครั้ง "วัดดอนศาลา-พระอาจารย์นำ" มีอะไรให้ค้นหาคู่เมืองพัทลุง? วันนี้ บอกได้เพียงว่า........."พระอาจารย์นำ" มรณภาพ เมื่อ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๙ อายุ ๘๘ ปี "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ" และ "สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ" เสด็จฯ ไปพระราชทานเพลิงศพ และพระราชทานพระปรมาภิไธยย่อ "ภ.ป.ร." ประทับด้านหลังเหรียญที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ

       แล้วท่านคิดว่า....ควรไป "วัดดอนศาลา" กันมั้ยล่ะ?

 

 

 

เรียบเรียงโดย : ศิริพงศ์ สำนักข่าวทีนิวส์

ขอบคุณข้อมูล : เปลว สีเงิน นสพ.ไทยโพสต์