สบส.มอบ ‘อาสาสมัครสาธารณสุข’ ออกเตือนชาวบ้าน อันตรายกิน ‘ยาปฏิชีวนะ-ยาแก้อักเสบ’

สบส.มอบ ‘อาสาสมัครสาธารณสุข’ ออกเตือนชาวบ้าน อันตรายกิน ‘ยาปฏิชีวนะ-ยาแก้อักเสบ’

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน นพ.วิศิษฎ์  ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้สภาพอากาศประเทศไทยเริ่มหนาวเย็น ซึ่งเอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสได้ดี จะส่งผลให้ประชาชนป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจมากขึ้น โดยเฉพาะโรคที่พบมากคือไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่  ซึ่งเชื้อโรคต้นเหตุคือเชื้อไวรัส หลังติดเชื้อร่างกายจะค่อยๆสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาและอาการจะค่อยๆดีขึ้นเอง   อย่างไรก็ตาม มีประชาชนจำนวนมากยังเข้าใจผิด เมื่อเป็นไข้หวัดมักซื้อยาปฏิชีวนะมากินเอง และมักเรียกว่ายาแก้อักเสบ ซึ่งเข้าใจผิด และมีความเชื่อว่าหากกินจะรักษาไข้หวัดหายเร็วขึ้น ซึ่งข้อเท็จจริงนั้นไม่สามารถรักษาได้ และทำให้เกิดปัญหาใช้ยาเกินความจำเป็น อย่างไรก็ตาม  สบส.ได้ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ทุกหมู่บ้านประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชนในการดูแลรักษาไข้หวัดให้ถูกวิธี รวมทั้งวิธีการป้องกันโรคและป้องกันการป่วยจากโรคแทรกซ้อน โดยเฉพาะโรคปอดบวมหรือปอดอักเสบ ซึ่งพบได้บ่อยในผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่  ในปี 2559 นี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม -31 ตุลาคม  สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานทั้ง 77 จังหวัดมีผู้ป่วยปอดบวมสะสม 201,817 ราย  เสียชีวิต  305 ราย       

“วิธีการดูแลรักษาผู้ที่เป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ที่ถูกต้องและได้ผลก็ คือ งดการออกกำลังกาย สวมเสื้อผ้าให้ความอบอุ่นร่างกายให้เพียงพอ นอนพักผ่อนให้มากๆ รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย สวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่สู่คนอื่น  ล้างมือฟอกสบู่บ่อยๆ เพื่อกำจัดเชื้อโรคออกจากมือ  ดื่มน้ำอุ่นบ่อยๆ เพื่อช่วยขับเสมหะออกมาจากทางเดินหายใจได้ง่ายขึ้น   อาการจะค่อยๆดีขึ้น   โดยหากอาการไม่ดีขึ้นใน 2 วัน  และมีไข้สูงขึ้น หรือไอ เจ็บหน้าอก หรือเหนื่อยผิดปกติ ให้รีบพาไปพบแพทย์เพื่อรักษาโดยเร็ว     ในกรณีที่เป็นเด็กเล็ก  ขอให้ผู้ปกครองสังเกตอาการ  หากเด็กซึมลง ไม่กินน้ำ ไม่กินนม มีไข้สูง ไอ หายใจลำบาก หายใจหอบเร็ว  ซึ่งเป็นสัญญาณของโรคปอดบวม ขอให้รีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว” นพ.วิศิษฎ์ กล่าว

สำหรับการป้องกันไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่ ขอให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องดูแลเป็นพิเศษได้แก่ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้มีโรคประจำตัว เช่นโรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคไตวายเรื้อรัง เนื่องจากมีภูมิต้านทานโรคต่ำ  ขอให้สวมเสื้อผ้าหนาๆให้ความอบอุ่นร่างกายให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในที่มีผู้คนแออัดโดยไม่จำเป็น   หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยวันละ 30 นาที  สัปดาห์ละอย่างน้อย 3-4 ครั้ง  ยึดหลักกินอาหารที่มีประโยชน์และปรุงสุกใหม่ๆ โดยเฉพาะผักสดผลไม้สด ซึ่งมีวิตามิน ช่วยสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคให้ร่างกาย ใช้ช้อนกลางตักอาหาร และหมั่นล้างมือฟอกสบู่บ่อยๆ  ภายหลังสัมผัสสิ่งของสาธารณะที่ใช้ร่วมกันมาก เช่นปุ่มลิฟต์ บันไดเลื่อน ลูกบิดประตู แป้นคีย์บอร์ด เป็นต้น   ในกลุ่มของหญิงหลังคลอดแนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน เด็กจะได้รับภูมิต้านทานจากแม่ผ่านทางน้ำนม ซึ่งผลการวิจัยทั่วโลกยืนยันตรงกันว่าป้องกันเด็กป่วยได้หลายโรค เช่นโรคปอดบวม โรคอุจจาระร่วง