ศาสตร์พระราชา :: จอร์แดน เดินหน้าทำ "ฝนหลวง" ต่อเนื่อง ตามที่ "ในหลวง ร.๙" ทรงมีพระบรมราชานุญาต

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงความก้าวหน้าในโครงการความร่วมมือทางวิชาการด้านการปฎิบัติการฝนหลวงระหว่างไทยและจอร์แดน ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินผ

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงความก้าวหน้าในโครงการความร่วมมือทางวิชาการด้านการปฎิบัติการฝนหลวงระหว่างไทยและจอร์แดน ว่า  ขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินผลการทดลองปฎิบัติการฝนหลวง ตามศาสตร์พระราชา ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้จอร์แดน ใช้สูตรฝนหลวงพระราชทาน เมื่อปี 2549  ซึ่งการขึ้นบินปฎิบัติการโดยเครื่องบินของกองทัพอากาศจอร์แดน ภายใต้การกำกับดูแลของกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ขึ้นบินมาแล้ว 2 ครั้งในการทำฝนหลวง โดยหลังจากนี้จะนำข้อสรุปมาหารือร่วมกัน เพื่อดำเนินการทำฝนหลวงในปี 2560 ต่อไป รวมทั้งทำรายงาน เพื่อเข้าสู่ประชุมกันต่อเนื่องทุกปี เป็นเวลา 3 ปี

ด้านนายโมฮัมหมัด ซามาวีร์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาของประเทศจอร์แดน กล่าวว่า สาเหตุจากประเทศจอร์แดนขาดแคลนทรัพยากรน้ำติดอันดับโลก และทรัพยากรน้ำที่ใช้การได้ของจอร์แดนอยู่ที่ 800-900 ล้านคิวบิกต่อปี ซึ่งพอใช้สำหรับคน 3 ล้านคน แต่ขณะนี้ผู้ใช้น้ำมากถึง 10 ล้านคนและมีแนวโน้มใช้น้ำเพิ่มขึ้น ได้เริ่มใช้เทคโนโลยีของไทยเพื่อสร้างฝนเทียมโดยการกระตุ้นหรือเพิ่มอัตราการเกิดฝนทั่วทั้งประเทศ ทั้งนี้ขั้นตอนในการผลิตฝนเทียมจะเริ่มจากใช้เครื่องบินบรรจุสารเคมีขึ้นไปโปรยในท้องฟ้าเพื่อกระตุ้นให้เมฆก่อตัวมากขึ้น โดยเรียกขั้นตอนนี้ว่า การเพาะเมฆ ในเบื้องต้นจะต้องใช้เรดาร์เพื่อตรวจหาเมฆที่เหมาะสมก่อนที่จะทำปฏิบัติการฝนเทียม เมฆที่เกิดจากสารเคมีนี้จะเพิ่มความชื้น ก่อตัวทำให้เกิดเป็นฝนตกลงมา ซึ่งกระบวนการสร้างฝนเทียมของประเทศจอร์แดนในช่วง 2-3 ปีข้างหน้านี้ เป็นโครงการระดับชาติที่ได้รับการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง


จอร์แดนเป็นอีกประเทศในโลกที่มีปัญหาเกี่ยวกับปริมาณน้ำฝน และทรัพยากรน้ำไม่เพียงพอต่อประชาชนในประเทศ แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาเมื่อเราสามารถใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วยสร้างความสมดุลให้กับธรรมชาติได้ ซึ่งทุกวันนี้ประเทศจอร์แดนนำ "โครงการฝนหลวง" โครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ไปใช้ในการทำฝนเทียม เพื่อกระตุ้น หรือ เพิ่มปริมาณน้ำฝนทั่วประเทศเทคโนโลยีฝนเทียมได้รับการพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 โดยเป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากพระราชดำริส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อสร้างฝนเทียมสำหรับบรรเทาปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรของประเทศไทย พระองค์ทรงค้นพบเทคนิคใหม่ในการเพิ่มความหนาแน่นของเมฆ


ที่จะมีผลต่อเนื่องในการช่วยเพิ่มปริมาณฝนตกมากขึ้นโมฮัมหมัด ซามาวี อธิบดีกระทรวงเกษตรของจอร์แดน บอกว่า จอร์แดนถูกจัดเป็นประเทศที่ขาดแคลนน้ำอันดับต้นๆ ของโลก และปัญหานี้ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น ปัญหาด้านสุขภาพ และด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ทำให้จอร์แดนยิ่งมีอุณหภูมิสูงขึ้น และฝนไม่ตกตามฤดูกาลแม้ก่อนหน้านี้จอร์แดนจะพยายามพัฒนาโครงการฝนเทียมขึ้นมาเองในช่วงปี 2532 -2538 แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ ในที่สุดจึงขอพระราชทานอนุญาตนำเทคนิคการสร้างฝนเทียมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ไปใช้ในปี 2552 ซึ่งพระองค์ทรงยินดีที่จะถ่ายทอดเทคนิคการทำฝนเทียมไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับภูมิภาคเอเชียตะวันออก ต่อมาในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม - กันยายน 2558 รัฐบาลจอร์แดนส่งนักวิชาการ จำนวน 8 คน มารับการฝึกอบรบการทำฝนหลวง และฝึกปฏิบัติการฝนหลวง ที่ประเทศไทยก่อนจะนำเทคนิคนี้ไปใช้ที่ประเทศจอร์แดน และมีการลงนามความเข้าใจระหว่างไทยและจอร์แดนอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 23 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา"
 

โครงการฝนเทียม (เทคโนโลยีฝนเทียม) นั้นเกิดขึ้นจากพระราชดำริส่วนพระองค์ใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกร เมื่อปี พ.ศ. 2498 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ทรงรับทราบถึงความเดือดร้อนทุกข์ยากของราษฎรและเกษตรกรที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตร จึงได้มีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานโครงการพระราชดำริ “ฝนหลวง”(Artificial rain) ให้กับ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ไปดำเนินการ ซึ่งต่อมาได้เกิดเป็นโครงการค้นคว้าทดลองปฏิบัติการฝนเทียมหรือฝนหลวงขึ้น ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อปี พ.ศ. 2512 ด้วยความสำเร็จของ โครงการ จึงได้ตราพระราชกฤษฎีการก่อตั้งสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวงขึ้นในปี พ.ศ. 2518 ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเป็นหน่วยงานรองรับโครงการพระราชดำริฝนหลวงต่อไปและพระราชทานให้แก่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อใช้ช่วยเหลือประชาชนชาวไทย และเพื่อให้การทำฝนหลวงมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น ประเทศไทยก็ยังคงต้องพัฒนาองค์ความรู้และปรับปรุงเทคโนโลยีในการทำฝนหลวงอยู่เสมอ

นอกจากประเทศจอร์แดนแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ยังทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้สิทธิบัตรฝนหลวงถ่ายทอดวิทยาการทำฝนหลวงให้ 3 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย, แทนซาเนีย, และโอมาน แต่หลายประเทศไม่ค่อยมีความคืบหน้าเท่ากับประเทศจอร์แดน และทรงมีพระบรมราชานุญาตและโปรดเกล้าฯ ให้ขอรับสิทธิบัตรในต่างประเทศควบคู่ไปด้วย โดยปัจจุบันเทคโนโลยีฝนหลวงได้รับการจดสิทธิบัตรในหลายประเทศทั้ง เยอรมนี , ฮ่องกง , สหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศในยุโรป

 

เรียบเรียงโดย สถาพร สำนักข่าวทีนิวส์