เปิดปม!! เหตุใด"สมเด็จช่วง-หลวงพี่แป๊ะ" ถึงหลุดคดี(รถหรู) ข้อเท็จจริงของคดีที่ไม่มีใครทราบ

เปิดปม!! เหตุใด"สมเด็จช่วง-หลวงพี่แป๊ะ" ถึงหลุดคดี(รถหรู) ข้อเท็จจริงของคดีที่ไม่มีใครทราบ

หากจะกล่าวถึงคดีดีรถเบนซ์หรูโบราณของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ ซึ่งก่อนหน้านี้ถือว่าไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการแจ้งข้อกล่าวหา สมเด็จช่วงหรือไม่อย่างไร

แม้ว่าว่าล่าสุดจะเป็นที่ชัดเจนแล้วว่ารถคันดังกล่าวเป็นรถจดประกอบที่หลบเลี่ยงการเสียภาษีจริง โดยผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องเสียค่าปรับตามกฎหมาย และนี่เองที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินคดีอาญา อันเนื่องมาจากอาจจะมีการปลอมแปลงเอกสารเกิดขึ้น

โดยหากย้อนกลับไปทบทวนเรื่องราวทั้งหมดที่มีนายวิชาญ รัษฐปานะ เจ้าของอู่ พร้อมทนาย เดินทางเข้ายื่นหนังสื่อคัดค้านกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ กรณีที่กรมสรรพสามิตเรียกเก็บภาษีย้อนหลังจำนวน 6.8 ล้านบาท

จากกรณีที่อู่วิชาญได้ซ่อมรถยนต์เมอร์เซเดสเบนซ์ ทะเบียน ขม 99 กทม. ของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือ สมเด็จช่วง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ โดยมีนายวันชัย ตั้งวิจิต ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายกรมสรรพสามิต เป็นผู้รับมอบหนังสือดังกล่าว

นายวิชาญ เปิดเผยว่าการเข้ายื่นหนังสือนั้นต้องการอยากให้กรมสรรพสามิตตรวจสอบการเรียกเก็บภาษีย้อนหลังของอู่วิชาญ เนื่องจากว่าอู่วิชาญเป็นเพียงอู่ซ่อมรถโบราณเท่านั้น ไม่ใช่อู่ประกอบรถแต่อย่างใด และการประกอบอาชีพอู่ซ่อมรถ ก็ไม่ได้มีเงินจำนวนมากขนาดนั้น

ขณะเดียวกันตนเองก็ไม่เข้าใจกฎหมาย ซึ่งตลอดการซ่อมรถที่อู่รถคันดังกล่าวไม่มีเอกสารใดๆ มาประกอบ แต่ยอมรับ ทราบว่ารถคันดังกล่าวเป็นของสมเด็จช่วง โดยหวังให้กรมสรรพสามิตช่วยเหลือเรื่องนี้

อย่างไรก็ตามสำหรับเงื่อนปมสำคัญของคดีดังกล่าว นั่นก็คือบทบาทของทีมทนายความสมเด็จช่วงที่ออกมาต่อสู้ทุกรูปแบบ พร้อมทั้งมีการตั้งข้อสังเกตุถึงการทำหน้าที่ของพนักงานสอบสวนว่ามีความตรงไปตรงมาหรือไม่ เพราะฉะนั้นในวันนี้ทีมข่าวสเปเชี่ยลรีพอร์ตสำนักข่าวทีนิวส์ก็จะได้รวบรวมทุกแง่มุมและความคืบหน้ามานำเสนอดังต่อไปนี้

ที่ผ่านมานายสมศักดิ์ โตรักษา ทนายความของสมเด็จช่วง ชี้แจง เกี่ยวกับรถยนต์โบราณยี่ห้อเมอร์เซเดส เบนซ์ ทะเบียน ขม 99 กรุงเทพมหานคร โดยตอบโต้ดีเอสไอว่า การเปิดเผยเกี่ยวกับข้อกล่าวหาแต่ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหานั้น กระทบสิทธิสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เพราะทำให้สื่อมวลชนและประชาชนเชื่อว่าสมเด็จฯทำผิด ก่อให้เกิดความเสื่อมเสีย ความวุ่นวายในคณะสงฆ์ และมีผลกระทบ ต่อการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช

ด้านพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา อดีตรมว.ยุติธรรม ตอบโต้นายสมศักดิ์ว่าเป็นทนายความของใคร ก็ต้องหาความเป็นธรรมให้กับลูกความของตัวเอง และอะไรที่เห็นว่าพนักงานสอบสวนทำไม่ถูกก็ฟ้องร้อง

แต่ถ้าฟังในเรื่องที่ทนายความชี้แจง อาจสร้างความสับสน ทนายความนำข้อมูลมาจากที่ไหน แต่พนักงานสอบสวนชี้แจงผ่านทางเอกสารแล้ว ดังนั้นทนายความต้องไปอ่านเอกสารหน้าที่พนักงานสอบสวนชี้แจง แล้วตีความตามนั้น ไม่ใช่อ่านตามสื่อ

ทั้งนี้สำหรับในส่วนของคดีความดังกล่าว ในการที่จะเชื่อมโยงไปถึงสมเด็จช่วงในฐานะที่เป็นผู้ครอบครองรถยนต์นั้น ก็คือมีส่วนรู้เห็นกับการกระทำผิดกฎหมายมาตั้งแต่ต้นหรือไม่ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องของการชำระภาษีสรรพสามิต

ซึ่งขณะนั้นกำลังรอให้กรมสรรพสามิต ได้สรุปออกมาว่ารถคันดังกล่าวได้มีการหลีกเลี่ยงภาษีเป็นจำนวนเงินเท่าไร สำหรับผู้ครอบครองรถยนต์เสียภาษีไม่ครบจะมีความผิดตามมาตรา 161(1) พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527

มาตรา 161 ผู้ใด (1) มีไว้ในครอบครองซึ่งสินค้าโดยรู้ว่าเป็นสินค้าที่มิได้เสียภาษีหรือเสียภาษีไม่ครบถ้วน เว้นแต่ในกรณีที่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมมีไว้ในโรงอุตสาหกรรมหรือในคลังสินค้า ทัณฑ์บนต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองเท่าถึงสิบเท่าของค่าภาษีที่จะต้องเสีย แต่ต้องไม่ต่ำกว่าหนึ่งร้อยบาท

ด้านพ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า ขณะนี้กรมสรรพสามิตได้ส่งหนังสือประเมินภาษีของรถเบนซ์มาแล้ว มีการกระทำผิดจริงตาม พ.ร.บ.สรรพสามิต ดังนั้นดีเอสไอจะสอบปากคำเจ้าหน้าที่สรรพสามิตเพื่อยืนยันคำให้การตามเอกสาร จากนั้นจะพิจารณาออกหมายเรียกมารับทราบข้อหาในลำดับต่อไป

ดังรายงานข่าวแจ้งว่าเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา กรมสรรพสามิตทำหนังสือส่งมายังอธิบดีดีเอสไอ เป็นการแจ้งผลการตรวจสอบดังกล่าว ตามหนังสือที่อ้างถึงการสอบสวนคดีพิเศษ

ขอให้กรมสรรพสามิตประเมินภาษีอากรรถยนต์จากอุปกรณ์ชิ้นส่วนรถยนต์เก่าของรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ หมายเลขตัวรถ 18601400420/53 หมายเลขเครื่องยนต์ 1869204500552 ปรากฏพยานหลักฐานเป็นหนังสือสัญญาซื้อขายที่แท้จริง ณ โรงงานอุตสาหกรรม เป็นราคา 4,000,000 บาท

กรมสรรพสามิตได้ตรวจสอบพบว่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยังไม่ได้ชำระภาษีสรรพสามิต จึงประเมินภาษีสรรพสามิตผู้ผลิตรถยนต์รายนายวิชาญ รัษฐปานะ ดังนี้

- ค่าภาษีสรรพสามิต 1,600,000 บาท

- เบี้ยปรับ 3,200,000 บาท

- เงินเพิ่ม 1,440,000 บาท

- ภาษีเก็บเพิ่มเพื่อมหาดไทย 624,000 บาท รวมเป็นภาษีทั้งสิ้น 6,864,000 บาท

ขณะเดียวกันดีเอสไอต้องการความชัดเจนในทางแพ่งว่าการครอบครองรถหรูของสมเด็จช่วงนั้น มีการชำระภาษีไม่ถูกต้องจริงหรือไม่ ซึ่งเมื่อได้รับการยืนยันมาจากกรมสรรพสามิตแล้ว ดีเอสไอก็จะนำเอาข้อมูลดีไปเชื่อมต่อในทางคดีอาญา

ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องอีกหลายฝ่าย
สรุปก็คือเมื่อดีเอสไอได้รับหนังสือตอบจากกรมสรรพสามิตแล้วได้เห็นพ้องร่วมกับพนักงานอัยการแจ้งข้อกล่าวหาว่าผู้เกี่ยวข้องเนื่องจากหนังสือฉบับดังกล่าวจะเป็นพยานหลักฐานการ กระทำผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.สรรพสามิต มาตรา 161(1)

ในส่วนพระมหาศาสนมุนี หรือหลวงพี่แป๊ะ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ และ นายวิชาญ รัษฐปานะ เจ้าของอู่รถโบราณ เข้าข่ายการกระทำความผิดตามกฎหมายสรรพสามิต

และก่อนหน้านี้อยู่ระหว่างการออกหนังสือเรียกมารับทราบข้อหา ที่กล่าวมาทั้งหมดล้วนเป็นแนวทางการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ ที่ต้องพยายามต่อจิ๊กซอว์ของเหตุการณ์เข้าด้วยกันตามหลักฐานข้อเท็จจริง

เนื่องจากว่าขบวนการกว่าจะประกอบรถขึ้นมา 1 คัน นั้นมีส่วนที่คาบเกี่ยวหลายต่อหลายขั้นตอน ที่สำคัญไปกว่านั้นหากย้อนไปยังผลการตรวจสอบประเด็นรถจดประกอบ เลี่ยงภาษีจะพบว่า ดีเอสไอพิจารณาพยานหลักฐานทั้งในส่วนของ ตัวรถ และ บุคคลโดยกรณีของตัวรถทะเบียน ขม 99 กรุงเทพมหานคร

ผลสอบชี้ชัดเป็นรถจดประกอบผิดกฎหมาย เพราะกระทำผิดทุกขั้นตอนด้วยการใช้เอกสารเท็จตั้งแต่การนำเข้าชิ้นส่วน การประกอบรถ การชำระภาษีสรรพสามิต และการจดทะเบียน
เริ่มกลางกลุ่มที่ 1 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการนำเข้าอุปกรณ์ประกอบรถยนต์ 5 คน ประกอบด้วย

1.นายเกษมศักดิ์ ภวังคนันท์

2.นายชลัช นิติฐิติวงษ์

3.นายสมนึก บุญประไพ

4.นายวสุ จิตติพัฒนกุลชัย

5.นายพิชัย วีระสิทธิกุล

นอกจากนี้ยังเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการใช้เอกสารเท็จนำเข้า ชำระภาษีสรรพสามิต และจดทะเบียนกับกรมการขนส่ง ซึ่งถือเป็นความผิดทั้งพ.ร.บ.ศุลกากร พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต และประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวกับกรณีร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ และร่วมกันปลอมเอกสาร

ซึ่งก่อนหน้านี้ดีเอสไอแจ้งข้อหาไปแล้ว 3 ราย คือ นายเกษมศักดิ์ นายชลัช และนายสมนึก และที่เหลืออีก 2 ราย เตรียมแจ้งข้อหาเพิ่ม ประการสำคัญก็คือการที่สมเด็จช่วงมีชื่อครอบครองรถคันดังกล่าวตั้งแต่ต้นเพียงชื่อเดียว

และมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องตั้งแต่ขั้นตอนการประกอบรถไปจนถึงการจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก โดยมีออร์เดอร์สั่งซื้อของ "หลวงพี่แป๊ะ" หรือพระมหาศาสนมุนี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ โดยขั้นตอนการประกอบรถพบมีการ สั่งจ่ายเช็ค 1 ล้านบาท ให้อู่ประกอบรถ

ขณะที่การยื่นจดทะเบียนรถกับกรมการขนส่งทางบกก็ปรากฏลายมือชื่อสมเด็จช่วงเป็นผู้ลงนามขอยื่นจดทะเบียน เบื้องต้นดีเอสไอขอให้รอฟังผลการประเมินภาษีตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ซึ่งเป็นความผิดหลัก ก่อนขยับไปสู่ขั้นตอนพิจารณาโทษอาญา

ทั้งนี้จากกระบวนการดังกล่าวที่ได้ไล่เรียงไปนั้น ท้ายที่สุดเมื่อดีเอสไอสามารถประกอบสำนวนตามหลักฐานข้อเท็จจริงแล้ว ถึงจะสามารถนำไปสู่การตั้งข้อกล่าวที่เกี่ยวกับคดีอาญาดังต่อไปนี้

กรมสอบสวนคดีพิเศษเห็นว่าอาจเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ในเรื่อง พยายามหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีศุลกากร หรือในการหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงบทกฎหมายและข้อจำกัดใด ๆ อันเกี่ยวแก่การนำของเข้า ส่วนผู้ครอบครองอาจเป็นความผิดตามมาตรา 27 ทวิ ฐานการรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร

โดยหลีกเลี่ยงอากรนอกจากนั้นตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราภาษีศุลกากร พ.ศ.2530 มาตรา 6 กำหนดว่า ถ้าอธิบดีกรมศุลกากรเห็นว่ามีการหลีกเลี่ยงอากรที่พึงเก็บแก่สิ่งที่สมบูรณ์แล้ว โดยวิธีการนำสิ่งนั้นเข้ามาเป็นส่วน ๆ ต่างหากจากกัน จะเป็นวาระเดียวกันหรือต่างวาระกันก็ดีก็ให้เรียกเก็บอากรแก่ส่วนนั้น ๆ รวมกันในอัตราที่ถือเสมือนว่าเป็นสิ่งที่ได้ประกอบมาสมบูรณ์แล้ว

ซึ่งกรมจะมีหนังสือแจ้งอธิบดีกรมศุลกากรพิจารณาตามบทกฎหมายดังกล่าว ส่วนความผิดฐานปลอมเอกสารเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นความผิดอีกฐานหนึ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไป รวมทั้งความผิดอื่นที่อาจพบในภายหลังด้วย

เห็นได้อย่างชัดเจนว่าคดีรถเบนซ์หรูของสมเด็จช่วงนั้น มีผู้ที่เกี่ยวข้องทุกขั้นตอน ซึ่งหลังจากนี้เมื่อดีเอสไอได้รับการยืนยันมาจากกรมสรรพสามิตว่ารถคันดังกล่าวมีการชำระภาษีไม่ถูกต้อง ก็จะต้องมีการเทียบค่าปรับต่อไปและต่อจากนั้นก็จะนำเอาเรื่องนี้ไปเป็นหลักฐานเชื่อมโยงไปยังผู้เกี่ยวข้องรายอื่น

ทำให้ทราบว่าสาเหตุที่ต้องการหลีกเลี่ยงภาษีนั้น ก็เพื่อต้องการเซฟค่าใช้จ่าย โดยการแจ้งเท็จ ปลอมแปลงเอกสาร ซึ่งมีโทษทางอาญา หรือจะอธิบายในทางกลับกันถ้าหากรถคันดังกล่าวมีการชำระภาษีถูกต้องทุกบาททุกสตางค์ ก็คงไม่มีเหตุที่จะต้องทำผิดกฎหมาย จึงทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คนในวงการรถจดประกอบจะรับทราบกันเป็นอย่างดี

 

เปิดปม!! เหตุใด"สมเด็จช่วง-หลวงพี่แป๊ะ" ถึงหลุดคดี(รถหรู) ข้อเท็จจริงของคดีที่ไม่มีใครทราบ

 

หากพิจารณาสำหรับเจ้า Mercedes Benz รุ่น W186 คันนี้นั้น ผลิตขึ้นระหว่างปี ค.ศ.1951-1957 หรือ พ.ศ.2494- 2500 ซึ่งถ้านับจนถึงปัจจุบันก็มีอายุอานามร่วม 60 ปีเข้าไปแล้ว ซึ่งผู้คลุกคลีในแวดวงรถยนต์ให้ข้อมูลราคาค่างวดของรถคลาสสิกคันนี้ว่า แบ่งออกเป็น 2 ราคา ได้แก่ 1.ตลาดนักสะสมรถคลาสสิก ราคาไม่ต่ำกว่า 3-4ล้านบาทขึ้นไป และ 2. ตลาดรถยนต์ทั่วไป ราคาจะลดหลั่นลงมาอยู่ที่ประมาณ 1-2 ล้านบาท

ปัจจุบัน รถยนต์คลาสสิกของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์คันนี้จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ พระมหาเจดีย์มหารัชมงคล ห้องมหาชนคุณารมณ์ในพระมหาเจดีย์รัชมงคล ชั้น 1 วัดปากน้ำภาษีเจริญ บริเวณ พร้อมกับรถคลาสสิกยี่ห้อเดียวกันอีก 2 คัน

รถ Mercedes Benz ทะเบียน ขม99 ภายใต้การครอบครองของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เป็นหนึ่งในรถหรูกว่า 6,757 คัน ที่ปรากฏในบัญชีดำของทาง DSI เข้าข่ายสำแดงเท็จเป็นรถจดประกอบเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี หลังพบเงื่อนงำว่ามีการทำนิติกรรมอำพราง

สำแดงหลักฐานเป็นเท็จว่า Mercedes Benz หมายเลขทะเบียน ขม 99 เลขตัวถัง 186014-0042053 หมายเลขเครื่องยนต์ 1869204500552 ขนาด 3,000 ซีซี จดแจ้งว่าเป็นอะไหล่รถยนต์เก่า แต่แท้จริงเป็นการนำเข้ามาทั้งคัน ซึ่งเป็นคดีพิเศษตั้งแต่ปี 2556 จนขณะนี้ยังไม่มีข้อยุติ

อย่างไรก็ตามจากคำกล่าวอ้างของผู้ดูแลรับผิดชอบจากวัดปากน้ำภาษีเจริญ ระบุว่ารถ โบราณทั้ง 3 คันทางวัดนำมาจัดแสดงไว้เพื่อการศึกษา ซึ่งรถยนต์ Mercedes Benz ทะเบียน ขม 99

ที่ดีเอสไอเคยดำเนินการตรวจสอบเป็นรถที่ลูกศิษย์นำมาถวาย เช่นเดียวกับรถคลาสสิกที่จอดขนาบข้างทั้งสองคัน เป็นรถยนต์ที่ลูกศิษย์นำมาถวาย ซึ่งเป็นรถของรองเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ที่มรณภาพไปแล้ว

โดยที่มาที่ไปของรถคลาสสิกหรูคันดังกล่าว มีลูกศิษย์ของวัดนำมาถวายเมื่อ 2554 ก่อนนำมาจัดแสดงในพิพิธพันธ์ฯ ในปี 2554 - 2555 ซึ่งMercedes Benz รุ่น W186 เป็นรถโบราณอายุอานามประมาณ 60 -70 ปีแล้ว ซึ่งวัดมีการสั่งซื้อนำเข้าอะไหล่บางส่วนเข้ามาใช้ซ่อมแซมบ้างเพราะรถยนต์ผุพังตามกาลเวลา

ทั้งนี้มีการจดประกอบการเสียภาษีจากกรมสรรพสามิตอย่างถูกต้อง รวมทั้งคู่มือจดทะเบียนจากกรมการขนส่งทางบก ทั้งยืนกรานเสียงแข็งว่าเป็นรถจดประกอบไม่ใช่รถที่นำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งคัน เป็นซากรถเก่าที่ลูกศิษย์นำไปซ่อมปะผุ จัดซื้ออะไหล่มาประกอบขึ้นใหม่ เพียงแต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดผู้บริจาคได้

 

เปิดปม!! เหตุใด"สมเด็จช่วง-หลวงพี่แป๊ะ" ถึงหลุดคดี(รถหรู) ข้อเท็จจริงของคดีที่ไม่มีใครทราบ

 

จนกระทั่งอัยการสั่งไม่ฟ้องหลวงพี่แป๊ะ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ คดีรถโบราณสมเด็จช่วง เปิดเผยขึ้นที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ร.ท.สมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยถึงการสั่งคดีที่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวหา พระมหาศาสนมุนี หรือหลวงพี่แป๊ะ เลขานุการสมเด็จช่วง และผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัด ปากน้ำฯกับพวกเอกชนอู่ประกอบรถยนต์ รวม 7 คน

กรณีเลี่ยงภาษีนำเข้ารถยนต์เบนซ์โบราณ คันหมายเลขทะเบียน ขม 99 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นรถที่อยู่ในความครอบครองของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือสมเด็จช่วง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ

ระบุว่า"วันนี้อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ มีความเห็นสั่งฟ้องนายพิชัย วีระสิทธิกุล เจ้าของอู่รถยนต์ ผู้ต้องหาที่ 1, หจก.ซี.ที.ออโต้พาร์ท โดยนายวสุ จิตติพัฒนกุลชัย ที่ 2, นายวสุ ที่ 3 ในฐานะส่วนตัว

ฐานร่วมกันนำของที่ยังไม่ได้เสียค่าภาษี ร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ และร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จ และใช้เอกสารปลอม รวมทั้งยังสั่งฟ้องนายเกษมศักดิ์ หรืออ๊อด ภวังคนันท์ หุ้นส่วนผู้จัดการ หจก.อ๊อด 89 เอ็นเตอร์ไพรส์ (ประเทศไทย) ซึ่งนำเข้าชิ้นส่วนรถโบราณ ผู้ต้องหาที่ 4

ฐานร่วมกันนำของที่ยังไม่ได้เสียค่าภาษีฯ เข้ามาในราชอาณาจักร, ร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ และร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จ, ร่วมกันปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม

ส่วนเมธีนันท์ หรือชลัช นิติฐิติวงศ์ ผู้ต้องหาที่ 5 สั่งฟ้องด้วยข้อหาร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี และร่วมกันปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม

กับสั่งฟ้องนายสมนึก บุญประไพ ผู้ต้องหาที่ 6 ฐานร่วมกันแจ้งจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ, ร่วมกันปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม, ร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม และใช้เอกสารอันเกิดจากการแจ้งจดข้อความอันเป็นเท็จ

สำคัญไปกว่านั้นกลับสั่งไม่ฟ้อง พระมหาศาสนมุนี หรือหลวงพี่แป๊ะ เลขานุการสมเด็จช่วงและผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำฯ ผู้ต้องหาที่ 7 ฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งสินค้าโดยรู้ว่าเป็นสินค้าที่เสียภาษีไม่ครบถ้วนตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตฯ มาตรา 161

เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานใดพิสูจน์ได้ว่าผู้ต้องหาที่ 7 รับรถยนต์ไว้โดยรู้ว่านายวิชาญเสียภาษีสรรพสามิตไม่ถูกต้อง และสั่งยุติการดำเนินคดีกับนายเกษมศักดิ์ ผู้ต้องหาที่ 4, นายเมธีนันท์ ผู้ต้องหาที่ 5 และนายสมนึก ผู้ต้องหาที่ 6 ฐานร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน

เนื่องจากคดีขาดอายุความ และให้ยุติการดำเนินคดีกับพระมหาศาสนมุนี หรือหลวงพี่แป๊ะ ผู้ต้องหาที่ 7 ฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งสินค้าโดยรู้ว่าเป็นสินค้าที่เสียภาษีไม่ครบถ้วน ตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตฯ กรณีครอบครองรถโบราณช่วงแรก เนื่องจากคดีขาดอายุความ

นอกจากนี้ ร.ท.สมนึก โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดกล่าวต่อว่า หลังพนักงานอัยการมีคำสั่งดังกล่าวแล้วได้นำตัวนายเมธีนันท์ และนายสมนึก ผู้ต้องหาที่ 5-6 ซึ่งได้รับการประกันตัวและมารายงานตัวต่ออัยการในวันดังกล่าวไปยื่นฟ้องเป็นจำเลย

พร้อมกับนายเกษมศักดิ์ ผู้ต้องหาที่ 4 ขณะนี้ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำต่อศาลอาญาแล้ว โดยศาลประทับรับฟ้องไว้เป็นคดีอาญาหมายเลขดำ อ.83/2560 ส่วนนายพิชัย ผู้ต้องหาที่ 1, หจก. ซี.ที.ออโต้พาร์ท โดยนายวสุ ผู้ต้องหาที่ 2 และนายวสุ ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการ ผู้ต้องหาที่ 3 ได้ขอเลื่อนนัดการส่งตัวฟ้อง

เนื่องจากยังจัดหาหลักทรัพย์ที่จะใช้ยื่นประกันตัวในชั้นศาล และยังจัดหาทนายได้ไม่พร้อม พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 1 ได้นัดผู้ต้องหาที่ 1-3 มาเพื่อนำตัวยื่นฟ้องต่อศาลอาญาอีกครั้งในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560

โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ยังกล่าวถึงคดีในส่วนของหลวงพี่แป๊ะอีกว่า แม้ขณะนี้พนักงานอัยการจะมีคำสั่งไม่ฟ้องพระมหาศาสนมุนี ผู้ต้องหาที่ 7 แต่ตามขั้นตอนจะต้องส่งสำนวนและความเห็นสั่งไม่ฟ้องนี้ ให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)

พิจารณาทำความเห็นว่าจะเห็นแย้งกับคำสั่งคดีของอัยการที่สั่งไม่ฟ้องนี้หรือไม่ หากดีเอสไอยืนยันความเห็นให้ฟ้องก็จะต้องส่งสำนวนกลับมาให้อัยการสูงสุดพิจารณาชี้ขาดตามกฎหมายต่อไป 

 

เปิดปม!! เหตุใด"สมเด็จช่วง-หลวงพี่แป๊ะ" ถึงหลุดคดี(รถหรู) ข้อเท็จจริงของคดีที่ไม่มีใครทราบ

 

 

เรียบเรียงโดย : นายธราวุฒิ ฤทธิอักษร (ผู้สื่อข่าวทีนิวส์)