ทำความรู้จัก "เจ้าพ่อพระกาฬ" เทพอารักษ์ประจำเมือง ลพบุรี บูชาให้ดีมีแต่ได้ !

เจ้าพ่อพระกาฬ เทพอารักษ์ประจำเมืองลพบุรี

เจ้าพ่อพระกาฬ

            เจ้าพ่อพระกาฬ ถือเป็นเทพอารักษ์ประจำเมือง ในคัมภีร์และจารึกโบราณปรากฏนาม "องค์พระกาฬไชยศรี" ซึ่งเป็นเทพที่ปกปักรักษาบ้านเมืองทำนองเดียวกับพระเสื้อเมือง พระทรงเมือง นอกจากนี้ ยังได้ชื่อว่าเป็นผู้ทรงฤทธานุภาพสามารถให้คุณให้โทษ และปรากฏบทบาทเป็นเทพแห่งความตาย ดังนั้น จึงมีผู้คนเคารพยำเกรงอย่างยิ่ง การได้เดินทางมาบูชาสักการะองค์เจ้าพ่อพระกาฬ ถือว่าเป็นการสร้างความเป็นสิริมงคลให้เกิดกับตนและทำให้ศัตรูยำเกรงไม่กล้าทำอันตรายอีกด้วย

            ศาลพระกาฬ หรือเดิมเรียกว่า ศาลสูง เนื่องจากศาลตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงที่อยู่สูงจากพื้นดิน เป็นศาสนสถานที่เป็นฐานศิลาแลงขนาดมหึมา สันนิษฐานกันว่าฐานศิลาแลงดังกล่าวเป็นฐานพระปรางค์ที่ยังสร้างไม่เสร็จ หรือสร้างสำเร็จแต่พังถล่มลงมาภายหลังโดยมิได้รับการซ่อมแซมให้ดีดังเดิม

เทพอารักษ์ประจำเมือง ลพบุรี

            ศาลพระกาฬเป็นสิ่งก่อสร้างของขอม สืบเนื่องมาจากเมืองลพบุรีในอดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของขอมโบราณ ซึ่งได้กลายเป็นศูนย์กลางการปกครองของขอมในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา อย่างไรก็ตาม ฌ็อง บวสเซอลิเยร์ นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส ได้สันนิษฐานจากฐานพระปรางค์ที่สูงมากนี้ ว่าเขายังมิได้ข้อยุติว่าเป็นสถาปัตยกรรมขอมโบราณพุทธศตวรรษที่ 16 "อาจเป็นฐานพระปรางค์จริงที่สร้างไม่เสร็จ หรือเสร็จแล้วแต่พังทลายลงมา" ทั้งนี้มีที่ศาลสูงมีการค้นพบศิลาจารึกศาลสูงภาษาเขมร หลักที่ 1 และศิลาจารึกเสาแปดเหลี่ยม (จารึกหลักที่ 18) อักษรหลังปัลลาวะภาษามอญโบราณ

            รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงให้สร้างศาลเทพารักษ์ขนาดย่อมก่ออิฐถือปูน มีลักษณะสถาปัตยกรรมตามพระราชนิยม ทรงตึกเป็นแบบฝรั่งหรือเปอร์เซียผสมผสานกับไทยบนฐานศิลาแลงเดิม ตัวศาลเป็นอาคารชั้นเดียวหลบแดดขนาดสามห้อง ภายในบรรจุทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ กับเทวรูปสีดำองค์หนึ่งประมาณกันว่าเป็นศาลประจำเมืองก็ว่าได้

เช่าพระคลิ๊กที่นี่
บ้านพระเครื่อง

 

 

            รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสเมืองลพบุรีในปี พ.ศ. 2421 ทรงให้ความเห็นเกี่ยวกับศาลสูง ความว่า "ออกจากพระปรางค์สามยอดเดินไปสักสองสามเส้น ถึงศาลพระกาล ที่หน้าศาลมีต้นไทรย้อย รากจดถึงดิน เป็นหลายราก ร่มชิดดี เขาทำแคร่ไว้สำหรับนั่งพัก...ที่ศาลพระกาลนั้นเป็นเนินสูงขึ้นไปมาก มีบันใดหลายสิบขั้น ข้างบนเป็นศาลหรือจะว่าวิหารสามห้อง เห็นจะเป็นช่อฟ้า ใบระกา แต่บัดนี้เหลืออยู่เพียงแต่ผนัง ที่แท่นมีรูปพระนารายณ์สูงประมาณ ๔ ศอก เป็นเทวรูปโบราณทำด้วยศิลา มีเทวรูปเล็ก ๆ เป็นพระอิศวรกับพระอุมาอีก ๒ รูป ออกทางหลังศาลมีบันใดขึ้นไปบนเนินสูงอีกชั้นหนึ่ง มีหอเล็กอีกหอหนึ่ง มีแผ่นศิลาเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑแผ่นหนึ่ง มีรูปนารายณ์ประทมสินธุ์แผ่นหนึ่งวางเปะปะ ไม่ได้ตั้งเป็นที่..."

            ราวปี พ.ศ. 2465 ศาลเทพารักษ์หลังเดิมขนาดสามห้องได้ทรุดโทรมลงมาก จึงมีการอัญเชิญเทวรูปองค์ดำดังกล่าวลงมาประดิษฐาน ณ เรือนไม้มุงสังกะสีบริเวณพระปรางค์ชั้นล่าง

            ต่อมาในปี พ.ศ. 2495 ได้มีการสร้างศาลพระกาฬขึ้นใหม่เนื่องจากเรือนไม้สังกะสีเดิมได้ทรุดโทรมลง ศาลพระกาฬหลังใหม่จึงถูกออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมทรงไทยร่วมสมัยของกรมศิลปากรสมัยหม่อมเจ้ายาใจ จิตรพงศ์ เป็นหัวหน้ากองสถาปัตยกรรม มีชลอ วนะภูติ ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรีเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญร่วมกับองค์กรอื่น ๆ รวมทั้งชาวลพบุรีและผู้ศรัทธาจำนวนมาก ก่อสร้างสำเร็จในปี พ.ศ. 2496 ใช้งบประมาณการก่อสร้างสามแสนบาทเศษ ซึ่งดูเด่นเป็นสง่า ณ บริเวณหน้าฐานพระปรางค์โบราณ

เจ้าพ่อพระกาฬ

            เจ้าพ่อพระกาฬเป็นเทวรูปรุ่นเก่าซึ่งอาจเป็นพระวิษณุ หรือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ศิลปะลพบุรี แต่เดิมเจ้าพ่อพระกาฬมีพระกายสีดำ ไม่มีพระเศียร และพระกรทั้งหมด กล่าวกันว่าเจ้าพ่อพระกาฬได้ไปเข้าฝันผู้ประสงค์ดีท่านหนึ่ง นัยว่าขอพระเศียรและพระกรเท่าที่จะหามาได้ ซึ่งได้มีผู้ศรัทธาได้จัดหาเศียรพระศิลาทรายศิลปะสมัยอยุธย ส่วนพระกรนั้นได้เพียงสองข้างจากทั้งหมดสี่ข้าง

            ปัจจุบันเจ้าพ่อพระกาฬไม่เหลือเค้าเดิมซึ่งมีสีดำอีกแล้ว ด้วยถูกปิดทองจากผู้ศรัทธาแลดูเหลืองอร่ามจนสิ้น กล่าวกันว่าปีหนึ่งมีผู้มานมัสการไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนคน

ทำความรู้จัก "เจ้าพ่อพระกาฬ" เทพอารักษ์ประจำเมือง ลพบุรี บูชาให้ดีมีแต่ได้ !

คาถาบูชาศาลพระกาฬ จังหวัดลพบุรี

 

ตั้งนะโม ๓ จบ (นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ  ๓ จบ )

 

โอม         ทักขิณะทิสะ ยะมะเทวะตา สะหะคะณะปริวารา

               อาคุจฉันตุ ปริภุญชันตุ สะวาสะหายะฯ

โอม         สัพพะอุปาทะวะ สัพพะทุกขะ สัพพะโศกะ

               สัพพะโรคะ วินาสายะ สัพพะศัตรู  ปะมุจจะติฯ

โอม         ยะมะเทวตา สะตะรักขันตุ สะวาหะสะวาหา

               สะวาสะหายะฯ

 

 คำอธิฐาน

             สาธุข้าพเจ้าขอตั้งจิตอธิฐานต่อหน้าองค์พระกาฬอันศักดิ์สิทธ์ ข้าพเจ้าขอถวายบุญกุศลที่ได้สร้างข้ามชาติข้ามภพแด่องค์พระกาฬและดวงพระวิญญาณของอดีตบูรพกษัตรา กษัตรีแห่งเมืองลพบุรี โดยเฉาะดวงวิญญาณของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและดวงพระวิญญาณของพระกษัตริย์ทุก ๆ พระองค์และเทพเทวาทั้งหลาย ขอพรอันประเสริฐจงปัดเป่าเหตุเพศภัยทั้งทุกข์ทางกายทุกข์ทางใจโรคทางกายโรคทางใจตลอดจนคุณไสยอวิชายาพิษเล่ห์กลอันเกิดจากเจ้ากรรมนายเวรและผู้คนที่คิดอกุศลและบุคคลที่คิดอกุศลแก่ข้าพเจ้า เหตุเพศภัยทั้งหลายทั้งปวงนั้นจงหายไปจากนี้ด้วยเทอญ สาธุ จงพ้นจากอุบัติเหตุอุบัติภัย โจรภัย อัคคีภัย ฝันร้ายและยาพิษ จงประสิทธิพรให้เป็นมงคล จากนี้จงประสบความสำเร็จดั่งประสงค์การงานรุ่งโรจน์ เจริญก้าวหน้า หากใครอยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียนมาอธิฐานจงสำเร็จในการเรียนดั่งประสงค์ ใครที่ป่วยเจ็บให้หายป่วยหายเจ็บ และจากนี้สืบไปให้แก้วแหวนเงินทองไหลมาเทมากการงานที่ทำด้วยความวิริยะอุตสาหะ จงทำให้เกิดทรัพย์สินเงินทองความสำเร็จดั่งปารถนามีบ้านที่อยู่อาศัยที่มั่นคง จงมุ่งตรงสำเร็จแก่ข้าพเจ้าและท่านได้อธิฐานจากนี้สืบไปเมื่อหน้าด้วยเทอญ สาธุ

 

 

 

จินต์จุฑา รายงาน

ขอบคุณข้อมูลและรูปจาก : วิกิพีเดีย และ สุดยอดฟันธง