เริ่มเทฐานรากพระเมรุมาศ นับถอยหลังพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

ความคืบหน้าการก่อสร้างพระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ความคืบหน้าการก่อสร้างพระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ดำเนินการตามแผนงานที่กำหนดไว้ ล่าสุดได้ทำการปรับระดับหน้าดิน โดยใช้วิธีเทพื้นคอนกรีตและยางมะตอยใต้ดินตรงฐานรากบริเวณที่สร้างพระเมรุมาศซึ่งไม่ได้ปูพื้นสำเร็จรูปเหมือนที่ผ่านมา อีกทั้งที่ฐานรากบุษบกองค์ประธานทั้ง 4 เสา จะมีโครงทัชช่วยตรึงเพิ่มความแข็งแรง ป้องกันกรณีที่เกิดลมแรง

โดยบริเวณท้องสนามหลวง ฝั่งทิศใต้ ขณะนี้ทีมช่างจากกรมศิลปากร ลงพื้นที่ก่อสร้างพระเมรุมาศเกือบเต็มรูปแบบแล้ว โดยทีมช่างจากกรมศิลปากร กล่าวว่า ขณะนี้มีการเทพื้นคอนกรีตฐานรากพระเมรุมาศ ไปแล้ว 4 จุด ประกอบด้วยบริเวณหอเปลื้อง 2 จุด ซ่าง 1 จุด สำหรับพระสงฆ์นั่งสวดอภิธรรมและพระจิตกาธาน 1 จุด ส่วนที่เหลือจะค่อยๆ ทยอยดำเนินการ คาดว่าจะแล้วเสร็จในสัปดาห์หน้า จากนั้นจะเริ่มขั้นตอนต่อไป

นอกจากนี้ได้จ้างบริษัทเอกชนเจาะชั้นสำรวจดินเพื่อตรวจสอบการรับน้ำหนักพระเมรุมาศ และผลการตรวจสอบพบว่ารับน้ำหนักได้ตามที่ออกแบบให้รับน้ำหนักได้ที่ 4 ตันต่อตารางเมตร ขณะที่ชั้นดินสามารถรับน้ำหนักได้ 4 ตันครึ่งต่อตารางเมตร ซึ่งการก่อสร้างพระเมรุมาศยึดตามแบบโบราณราชประเพณี โดยศึกษาต้นแบบจากพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระมหากษัตริย์ไทยในอดีต พิเศษที่รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นบุษบกทรงเรือนยอด 9 ยอด มีขนาดใหญ่รายล้อมด้วยภูมิทัศน์จำลองเขาพระสุเมรุ ประดับด้วยประติมากรรมต่างๆ มากถึง 412 รายการ คาดว่าช่วงเดือนมิถุนายนจะต้องปรับพื้นที่จุดอำนวยการรองรับประชาชนที่จะเดินทางมาถวายสักการะพระบรมศพอีกครั้ง เนื่องจากใช้พื้นที่ก่อสร้างทั้งหมดของท้องสนามหลวง

ติดตามข่าวที่เกี่ยวข้อง : ครั้งแรกในประวัติศาสตร์!!!"กรมศิลป์" ออกแบบหุ่นปั้น"คุณทองแดง" หมอบข้างจิตกาธานพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพ "ในหลวงร.๙" (รายละเอียด)

เริ่มเทฐานรากพระเมรุมาศ นับถอยหลังพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

นายพีระพงษ์ พีรสมบัติ วิศวกรโยธา กลุ่มวิศวกรรม สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร กล่าวว่า ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงห่วงเรื่องฐานรากพระเมรุมาศว่าจะรับน้ำหนักได้หรือไม่ เนื่องจากพระเมรุมาศมีความสูงกว่า 50 เมตรนั้น การก่อสร้างพระเมรุมาศครั้งนี้ ใช้วิธีเทพื้นคอนกรีตใต้ดินตรงฐานรากบริเวณที่สร้างพระเมรุมาศ ไม่ได้ปูพื้นสำเร็จรูปเหมือนที่ผ่านมา อีกทั้ง ที่ฐานรากบุษบกองค์ประธานทั้ง 4 เสา จะมีโครงถักช่วยตรึงทั้ง 4 เสา เพื่อเพิ่มความแข็งแรง ป้องกันกรณีที่เกิดลมแรง นอกจากนี้ ยังได้จ้างบริษัทเอกชนเจาะชั้นสำรวจดินเพื่อตรวจสอบการรับน้ำหนักพระเมรุมาศ และผลการตรวจสอบชั้นดิน พบว่ารับน้ำหนักได้ตามที่ออกแบบ ซึ่งออกแบบให้รับน้ำหนักได้ที่ 4 ตันต่อตารางเมตร ขณะที่ชั้นดินสามารถรับน้ำหนักได้ 4 ตันครึ่งต่อตารางเมตร

“ส่วนที่วิศวกรได้กราบบังคับทูลแสดงความเป็นห่วงถึงแรงลมในการติดตั้งม่านสูง 15 เมตรรอบพระเมรุมาศ ว่าเมื่อเจอลมแล้วจะแกว่ง โดยพระองค์พระราชทานคำแนะนำให้หาอะไรตรึงนั้น ในส่วนนี้ทางสถาปนิก สำนักสถาปัตยกรรม ได้ใส่โซ่ซ่อนอยู่ขอบในผ้าม่านยึดกับตัวเสาโครง ป้องกันเวลาที่เกิดลมแรง จะได้ถ่วงน้ำหนัก ไม่แกว่ง ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์คำนวณแรงลมต่างๆ เพื่อป้องกันไว้ทุกรณีแล้ว” นายพีระพงษ์ กล่าว

ติดตามข่าวที่เกี่ยวข้อง : งดงาม !! ชมภาพ 3 มิติ "พระเมรุมาศ" โดยสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ขณะการจัดทำหนังสือที่ระลึกเตรียมพิมพ์ 5 ล้านเล่มแจกงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ

 

เริ่มเทฐานรากพระเมรุมาศ นับถอยหลังพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร. ๕) พระเมรุมาศทรงบุษบก เริ่มใช้เป็นครั้งแรกในสมัยรัตนโกสินทร์

ติดตามข่าวที่เกี่ยวข้อง : เปิดภาพชุด...พิธีปักหมุดก่อสร้างพระเมรุมาศ "รัชกาลที่๙" ท้องสนามหลวง (ภาพชุด)

สำหรับความหมายของพระเมรุมาศ และพระเมรุ คือ สถาปัตยกรรมชั่วคราว หรือสถาปัตยกรรมเฉพาะกิจที่สร้างขึ้น ณ กลางใจเมือง เป็นพระเมรุขนาดสูงใหญ่ มีลักษณะเป็น "กุฎาคาร หรือ เรือนยอด" คือเรือนซึ่งหลังคาต่อเป็นยอดแหลม โดยในอดีตนิยมสร้างเป็นแบบ ยอดปรางค์ อาจมีพรหมพักตร์หรือไม่มีก็ได้

พระเมรุมาศ เป็นพระเมรุขนาดสูงใหญ่ ใช้ในพระราชพิธีพระบรมศพ พระมหากษัตริย์ พระอัครมเหสี พระบรมราชินี พระราชชนนี พระบวรราชเจ้า พระยุพราช สำหรับการตายที่ใช้ราชาศัพท์ว่าสวรรคต ภายในพระเมรุมาศมี “พระเมรุทอง” ลักษณะของพระเมรุมาศที่ปรากฏการสร้างมี 2 รูปแบบคือพระเมรุมาศทรงปราสาท ที่สร้างมาแต่โบราณ มีขนาดใหญ่โตมโหฬาร และพระเมรุมาศทรงบุษบก ส่วนพระเมรุ เช่นเดียวกับพระเมรุมาศ แต่มีขนาดเล็กลง และไม่มีพระเมรุทองภายใน ใช้สำหรับราชวงศ์ที่ทรงฐานานุศักดิ์ใช้ราชาศัพท์ว่า “ทิวงคต” หรือ “สิ้นพระชนม์”

การออกแบบสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศ พระเมรุ ต้องอาศัยการสร้างสรรค์ออกแบบจากผู้รอบรู้เจนจบงานศิลปกรรมของชาติ ช่างที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้จากครูบาอาจารย์ทั้งงานออกแบบรูปลักษณ์ ก่อสร้างอาคาร การคิดลวดลายขึ้นประดิษฐ์ตกแต่งทุกส่วนให้เข้ากับอาคาร โดยมีหลักเกณฑ์ที่คำนึงถึงว่าพระเมรุมาศของพระองค์ใด ที่แสดงลักษณะของพระองค์นั้น

ภายหลังจากการถวายพระเพลิงแล้ว ชิ้นส่วนประกอบต่าง ๆ ของพระเมรุที่ถูกรื้อถอนบางส่วนจะนำไปถวายวัด เพื่อเป็นการกุศลแด่ผู้วายชนม์

 

เรียบเรียง : Suya