กางพระไตรปิฎก..ดูกันให้ชัดๆ พระรูปใดประพฤติตนแบบนี้ พระพุทธเจ้าเรียก “ภิกษุมหาโจร” !

ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ www.tnews.co.th

 

               ครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าประทับจำพรรษาอยู่ ณ ป่ามหาวันใกล้เมืองเวสาลี ขณะนั้นฝนฟ้าเกิดอาเพศไม่ตกต้องตามฤดูกาล ทำนาทำไร่ไม่ได้ผล บังเกิดทุพภิกขภัยไปทั่ว ชาวบ้านอดอยากยากจนไม่มีข้าวปลาอาหารกิน ไม่มีใส่บาตรถวายพระ

 

               ขณะนั้นมีภิกษุกลุ่มหนึ่งจำพรรษาอยู่ที่ชายป่าริมฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา เมื่อเห็นว่าชาวบ้านไม่ใส่บาตรเกิดความอดอยากหนักเข้า ก็คิดหาอุบายหลอกลวงชาวบ้านเพื่อจะได้ข้าวปลาอาหารมาฉันกันเหมือนเดิม จึงได้ประชุมปรึกษาหารือ ในที่สุดตกลงกันว่าจะต้องใช้อุบายอวดอ้างคุณวิเศษว่าเป็นผู้สำเร็จวิชชา ๓ ประการ อภิญญา ๖ สามารถสำแดงอิทธิฤทธิ์อภินิหารให้รู้ว่า  เป็นผู้วิเศษ ทำทีพูดจายกย่องกันเองให้ชาวบ้านฟังว่า

 

               พระรูปนี้ได้ฌานที่ ๑ พระรูปนั้นได้ฌานที่ ๒ พระรูปโน้นบรรลุโสดาบัน พระอาจารย์องค์นั้นเป็นพระอนาคามี พระอาจารย์องค์นี้เป็นพระอรหันต์ จนชาวบ้านพากันหลงเชื่อว่าเป็นผู้วิเศษจริง เกรงว่าภิกษุผู้วิเศษจะอดอยากปากแห้ง จึงดิ้นรนหาข้าวปลาอาหารมาใส่บาตรเลี้ยงดูภิกษุเหล่านั้นทุกวัน จนอิ่มหนำสำราญอ้วนท้วนผ่องใส

 

               ครั้นเมื่อออกพรรษา ภิกษุเหล่านั้นต่างเก็บข้าวของเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ กูฏาคารศาลา ในป่ามหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี ปรากฏว่า บรรดาภิกษุอื่นที่เดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ล้วนแต่มีรูปกายผ่ายผอมซูบซีดอิดโรย เพราะอดอยากกันมาตลอดพรรษา คงมีแต่ภิกษุกลุ่มเดียวเท่านั้นที่มีผิวพรรณผ่องใสอ้วนท้วนสมบูรณ์ดี พระพุทธเจ้าทรงมีความสงสัย ตรัสซักไซ้ไล่เลียงจึงรู้ว่า ภิกษุเหล่านั้นได้ใช้อุบายอวดวิเศษหลอกลวงชาวบ้าน พระองค์จึงทรงตรัสเรียกประชุมสงฆ์ เทศนาธรรมแล้ว ทรงมีพุทธบรรหาร บัญญัติเรื่อง “ภิกษุมหาโจร ๕ ประเภท” คือ

(จาก พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑  พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๑ มหาวิภังค์ ภาค ๑)

 

[๒๓๐]ดูกรภิกษุทั้งหลาย มหาโจร ๕ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก มหาโจร ๕ จำพวก

เป็นไฉน

             ๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย มหาโจรบางคนในโลกนี้ ย่อมปรารถนาอย่างนี้ว่า เมื่อไรหนอ

เราจักเป็นผู้อันบุรุษร้อยหนึ่ง หรือพันหนึ่งแวดล้อมแล้ว ท่องเที่ยวไปในคามนิคมและราชธานี

เบียดเบียนเอง ให้ผู้อื่นเบียดเบียน ตัดเอง ให้ผู้อื่นตัด เผาผลาญเอง ให้ผู้อื่นเผาผลาญ

สมัยต่อมา เขาเป็นผู้อันบุรุษร้อยหนึ่ง หรือพันหนึ่ง แวดล้อมแล้วเที่ยวไปในคามนิคมและ

ราชธานี เบียดเบียนเอง ให้ผู้อื่นเบียดเบียน ตัดเอง ให้ผู้อื่นตัด เผาผลาญเอง ให้ผู้อื่น

เผาผลาญฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล

ย่อมปรารถนาอย่างนี้ว่า เมื่อไรหนอ เราจึงจักเป็นผู้อันภิกษุร้อยหนึ่ง หรือพันหนึ่งแวดล้อมแล้ว

เที่ยวจาริกไปในคามนิคมและราชธานี อันคฤหัสถ์และบรรพชิต สักการะ เคารพ นับถือ บูชา

ยำเกรง ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย เภสัชบริขาร สมัยต่อมา เธอเป็นผู้

อันภิกษุร้อยหนึ่ง หรือพันหนึ่งแวดล้อมแล้ว เที่ยวจาริกไปในคามนิคมและราชธานี อันคฤหัสถ์

และบรรพชิตสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรงแล้ว ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ

และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารทั้งหลาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมหาโจรจำพวกที่ ๑ มีปรากฏอยู่

ในโลก

             ๒. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุผู้เลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ เล่าเรียน

ธรรมวินัยอันตถาคตประกาศแล้ว ย่อมยกตนขึ้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมหาโจรจำพวกที่ ๒

มีปรากฏอยู่ในโลก

             ๓. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุผู้เลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมตามกำจัด

เพื่อนพรหมจารี ผู้หมดจด ผู้ประพฤติพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์อยู่ด้วยธรรมอันเป็นข้าศึกแก่

พรหมจรรย์อันหามูลมิได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมหาโจรจำพวกที่ ๓ มีปรากฏอยู่ในโลก

             ๔. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุผู้เลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมสงเคราะห์

เกลี้ยกล่อมคฤหัสถ์ทั้งหลาย ด้วยครุภัณฑ์ ครุบริขาร ของสงฆ์ คือ อาราม พื้นที่อาราม

วิหาร พื้นที่วิหาร เตียง ตั่ง ฟูก หมอน หม้อโลหะ อ่างโลหะ กระถางโลหะ กระทะโลหะ

มีด ขวาน ผึ่ง จอบ สว่าน เถาวัลย์ ไม้ไผ่ หญ้ามุงกระต่าย หญ้าปล้อง หญ้าสามัญ ดินเหนียว

เครื่องไม้ เครื่องดิน ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมหาโจรจำพวกที่ ๔ มีปรากฏอยู่ในโลก

             ๕. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรม อันไม่มีอยู่ อันไม่เป็นจริง

นี้จัดเป็นยอดมหาโจร ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะ

พราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้น ฉันก้อนข้าวของชาว

แว่นแคว้น ด้วยอาการแห่งคนขโมย.

ถอดความได้ว่า : 

               โจรที่รวมพวกกันได้นับร้อยนับพัน ยกพลบุกเข้าปล้นบ้านเผาเมืองฆ่าฟันผู้คน แย่งชิงปล้นเอาทรัพย์สินของเขามาเป็นของตนเอง เทียบได้กับภิกษุลามกรวบรวมบริวารแวดล้อมได้เป็นร้อยเป็นพัน ทำทีจาริกเข้าไปในหมู่บ้าน นิคม เมืองใหญ่ ใช้กลอุบายหลอกลวงให้ชาวบ้านหลงเชื่อเคารพบูชา เพื่อให้ตนได้มาซึ่งลาภสักการ จนร่ำรวยด้วยปัจจัย ๔ ภิกษุลามกอย่างนี้จัดเป็น “มหาโจรประเภทที่ ๑”

 

               ภิกษุลามกบางรูปที่ได้เล่าเรียนพระธรรมวินัยอันล้ำลึก ซึ่งพระตถาคตผู้ทรงตรัสรู้อริยสัจได้ประกาศแล้ว กลับฉ้อฉลอ้างว่ารู้มาด้วยตนเอง คิดขึ้นมาได้เอง ไม่ได้เล่าเรียนมาจากใคร ภิกษุลามกอย่างนี้จัดเป็น “มหาโจรประเภทที่ ๒”

 

               ภิกษุลามกบางรูปที่ปั้นเรื่องเท็จใส่ความเพื่อนพรหมจรรย์ผู้บริสุทธิ์ให้ได้รับความเสียหาย กล่าวหาโดยปราศจากมูลความจริง ก่อให้เกิดความแตกแยกในหมู่สงฆ์ ภิกษุลามกอย่างนี้จัดเป็น “มหาโจรประเภทที่ ๓”

 

               ภิกษุลามกบางรูปอยากได้ลาภยศสักการจากคฤหัสถ์ เบียดบังเอาครุภัณฑ์ ครุบริขาร เครื่องใช้ไม้สอยของวัด ที่ดินพัสดุของสงฆ์ นำไปยกให้แก่คฤหัสถ์ ประจบประแจงเอาใจ ภิกษุเหล่านี้ถือว่าเป็น “มหาโจรประเภทที่ ๔”

 

               ภิกษุลามกพวกสุดท้ายที่จัดเป็น “มหาโจรชั้นเลิศ” ทั้งในโลกมนุษย์ มารโลก และพรหมโลก คือ ภิกษุที่อวดตนว่ามีวิชาความรู้วิเศษ ทั้งๆ ที่ตนเองรู้อยู่แล้วว่าไม่เป็นความจริง ไม่สามารถทำให้วิเศษขึ้นได้จริงตามที่อวดอ้าง แต่เมื่อให้ได้มาซึ่งความเคารพนับถือกราบไหว้บูชา ได้มาซึ่งลาภสักการ อันเป็นการกระทำด้วยอุบายหลอกลวงเหมือนดังนายพรานผู้วางเหยื่อดักสัตว์ เพื่อจับกินเป็นอาหาร แม้ผู้นั้นห่อหุ้มคลุมกายด้วยผ้ากาสาวพัสตร์ ก็ได้ชื่อว่าบริโภคก้อนข้าวของชาวบ้านในแบบลักขโมยด้วยการเนรคุณ ภิกษุลามกทุศีล “อวดอุตริมนุสสธรรม” เช่นนี้ถือว่าเป็น “ภิกษุอภิมหาโจรชั้นเลิศ” ประเภทที่ ๕

 

               ครั้นแล้วพระพุทธเจ้าทรงตรัสตำหนิติเตียนเหล่าภิกษุที่จำพรรษาอยู่ริมฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา ด้วยประการต่างๆพร้อมทั้งทรงบัญญัติสิกขาบท “อจินไตย ๔ ประการ” เพิ่มเติม ทรงมีพุทธฎีกาห้ามไม่ให้ภิกษุทั้งหลาย อวดอ้างคุณวิเศษที่ไม่มีในตน แต่ได้อวดวิเศษไปหลอกลวงคนอื่นไปแล้ว แม้ว่าจะมาสารภาพผิดในภายหลัง ก็ถือว่าเป็นอาบัติปราชิก “จตุตถปราชิก” อันเป็นกรรมหนัก

 

               ดังนั้นภิกษุรูปใดที่ “อวดอุตริมนุสธรรม” มีความผิดอาบัติปราชิกข้อที่ ๔ จึงเป็นครุกรรม ขาดจากความเป็นภิกษุไปในทันที แม้จะไม่มีใครรู้ไม่มีใครเห็น ไม่มีใครกล่าวโทษฟ้องร้องก็ตาม เมื่อถูกสึกจากภิกษุไปแล้ว จะกลับมาบวชใหม่อีกไม่ได้

 

 

 

จินต์จุฑา รายงาน

ที่มา : พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑  พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๑ มหาวิภังค์ ภาค ๑