คำสอนที่คลาดเคลื่อน!...เมื่อคำสอนของวัดพระธรรมกายมีเพียงศีล สมาธิ แต่ขาดซึ่ง ปัญญาตามหลักของการบรรลุธรรม ....

ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://www.tnews.co.th

วิธีการเข้าถึงความสุข

วิธีการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความสุขหรือบ่อเกิดของความสุขในทัศนะของพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทที่ปรากฏอยู่ในพระสุตตันตปิฎกนั้นสามารถแบ่งเป็น 2 ประเภทตามระดับของความสุข คือบ่อเกิดที่เป็นโลกียสุขกับบ่อเกิดที่เป็นโลกุตตรสุข โดยบ่อเกิดแห่งโลกียสุขนั้นสามารถแบ่งได้เป็นกามกับการประพฤติปฏิบัติธรรมทางโลกียะ ความสุขจากกามประกอบไปด้วยกิเลสกามและวัตถุกาม [1] (รายละเอียดในบทที่ 2) ซึ่งความสุขที่เกิดจากกามนั้นจัดว่าเป็นบ่อเกิดแห่งความสุขที่มีโทษเพราะความสุขเช่นนี้ยังปะปนไปด้วยความทุกข์และเป็นไปด้วยตัณหา เมื่อได้รับความสุขที่มากระทบมากเท่าใดก็จะยิ่งมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นเท่านั้นและถ้าหากไม่สามารถหาสิ่งที่มาตอบสนองต่อความต้องการนั้นได้ก็จะเกิดความทุกข์ ความโศกเศร้า หรือถ้าหากได้มาแล้วก็จะเกิดความยึดถือยึดติดไม่ต้องการให้ความสุขที่ได้มานั้นสูญเสียหรือพรากไปจากตน ในทัศนะของพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทนั้นถือว่าความสุขที่เกิดจากกามเป็นสิ่งที่ไม่ควรข้องเกี่ยวเพราะเป็นสิ่งที่ขัดขวางมิให้สามารถบรรลุพระนิพพานได้ และทำให้เกิดความหลง ยึดติดในกิเลสตัณหาต่าง ๆ โดยพระพุทธเจ้าได้ตรัสเปรียบเทียบโทษของกามดังที่ปรากฏในพระไตรปิฎก เล่มที่ 13 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ โปลิยสูตร มีดังนี้คือ

กามเปรียบเหมือนชิ้นกระดูกที่ไม่มีเนื้อติด ไม่สามารถบรรเทาความหิวของสุนัขที่หิวโซได้

กามเปรียบเหมือนชิ้นเนื้อที่ฝูงแร้ง ฝูงเหยี่ยวยื้อแย่งกัน

กามเปรียบเหมือนคบหญ้าที่ไฟติดลุกโชน มีบุรุษเดินถือคบนั้นทวนลมไป ไฟจะเผาลนไปยังมือของบุรุษนั้น

กามเปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง ที่คอยผลาญทุกสิ่งทุกอย่าง

กามเปรียบเหมือนสิ่งที่ฝันเห็นคือ สถานที่ที่น่ารื่นรมย์ต่าง ๆ เมื่อตื่นขึ้นมาไม่เห็นอะไรเลย

กามเปรียบเหมือนทรัพย์สมบัติที่ยืมมาจากบุคคลอื่น ไม่นานก็ต้องคืนเจ้าของไป

กามเปรียบเหมือนผลไม้ในป่าใหญ่ที่ยังไม่หล่นจากต้น บุคคลย่อมแสวงหาวิธีที่ที่จะได้ผลไม้นั้นหรืออีกนัยหนึ่งกามเปรียบเหมือนผลไม้มีพิษ[2]

ส่วนความสุขอีกประเภทหนึ่งที่จัดอยู่ในบ่อเกิดแห่งโลกียสุขคือ การประพฤติปฏิบัติธรรมทางพระพุทธศาสนาในขั้นโลกียะ อันหมายถึงหลักธรรมต่าง ๆ ในพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทที่ประพฤติแล้วจะได้รับความสุข ได้แก่ ทาน ศีลและภาวนา

ทาน ในทางพระพุทธศาสนาแปลว่า การให้ การเสียสละ การบริจาค พระพุทธศาสนานิกายเถรวาทได้แบ่งประเภทของทานออกเป็นอามิสทานกับธรรมทาน โดยอามิสทานคือ การให้สิ่งของต่าง ๆ แก่ผู้อื่นเช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ทรัพย์สินเงินทอง เป็นต้น และธรรมทานอันหมายถึงการให้ธรรมะ การให้ความรู้แนะนำสั่งสอนในสิ่งที่เป็นประโยชน์ โดยทานในด้านที่ให้ความรู้นั้นแบ่งเป็นวิทยาทานคือการให้ความรู้ทางโลกหรือวิชาการต่าง ๆ และธรรมทานคือการให้ธรรมะ สอนคุณธรรม[3] โดยในทัศนะของพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทนั้นถือว่าทานที่มีความสำคัญและมีคุณค่ามากที่สุดในบรรดาทานทั้งหมดคือ ธรรมทาน พระพุทธเจ้าได้ตรัสพุทธพจน์ที่ว่า สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ แปลความได้ว่า การให้ธรรมะเป็นทานย่อมชนะการให้ทั้งปวง เหตุเพราะธรรมทานนั้นเป็นทานที่สามารถให้แก่ผู้รับได้ทุกชนชั้นวรรณะ สามารถเลือกธรรมะได้ตามระดับของผู้รับโดยมีตั้งแต่ธรรมระดับเบื้องต้นไปจนถึงธรรมในระดับสูงที่มีความละเอียดลึกซึ้งจนถึงระดับพระนิพพานอันเป็นเป้าหมายสูงสุดในทัศนะของพระพุทธศาสนานิกาย เถรวาทได้ จึงทำให้ธรรมทานนี้เป็นทานที่เกิดประโยชน์ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ผู้รับธรรมทานสามารถนำไปใช้ได้ไม่รู้จบสิ้นทั้งในชาตินี้และภพชาติต่อ ๆ ไป ส่วนทานชนิดอื่น ๆ นั้นเมื่อผู้รับได้รับแล้วไม่ช้าก็จะหมดสิ้นไป ส่วนผลที่จะได้รับจากการทำทานที่เรียกว่า บุญ นั้นจะตกอยู่กับผู้ให้ทานก่อให้เกิดความสุขในลักษณะของความอิ่มใจ นอกจากนั้นพระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงจุดประสงค์ของการให้ทานกล่าวเอาไว้ว่าเพื่อการขจัดความตระหนี่ที่เกิดขึ้นแก่ตนเองทั้งหลาย[4] ซึ่งนอกจากอานิสงส์ดังกล่าวแล้ว พระพุทธเจ้ายังได้ ตรัสถึงประโยชน์แห่งบุญที่พึงจะได้รับ 3 ประการด้วยกัน คือ

 

 

[1] ขุ.ม. (ไทย) 29/7/34 – 35.

[2] ม.ม. (ไทย) 13/42 – 48/43 – 46.

[3] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต). (2551). เล่มเดิม. หน้า 93 – 94.

[4] องฺ.ปญฺจก. (ไทย) 22/34/54 -56.

 

1. ทิฏฐธัมมิกัตถะ คือ การทำบุญเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขในปัจจุบัน มีความสุขตามอัตภาพและ สถานภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ไม่สร้างความเดือดร้อนทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

2. สัมปรายิกัตถะ คือ การทำบุญเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขในภายภาคหน้า มีจิตใจที่เจริญงอกงามเต็มไปด้วยคุณธรรมความดี พัฒนาจิตใจของตนเองให้เป็นผู้มีศีล มีธรรม มีปัญญา ซึ่งประโยชน์ในภายภาคหน้านี้จะส่งผลไปยังชีวิตในโลกหน้าด้วย

3. ปรมัตถะ คือ การทำบุญเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขอย่างยิ่ง หมายถึง การได้รู้แจ้งในสัจธรรมแห่งชีวิตที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ เพื่อกำจัดกิเลสและความทุกข์ทั้งปวงให้เข้าถึงเป้าหมายสูงสุดหรือบรมสุขคือ พระนิพพาน

อานิสงส์ของการทำบุญในขั้นปรมัตถะหรือเพื่อประโยชน์สุขอย่างยิ่ง มีปรากฏในพระไตรปิฎก เล่มที่ 29 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัตตทัณฑสุตตนิทเทส ว่าด้วยเรื่องของการทำบุญที่มุ่งสู่พระนิพพานว่าการให้ทานหรือการทำบุญใด ๆ ก็ตามนั้น ไม่พึงเป็นไปเพื่อที่จะหวังความสุข เพราะการหวังความสุขจะเป็นการก่อเกิดกิเลสขึ้นมาอีกเรื่อย ๆ ไม่รู้จักจบสิ้น การปฏิบัติที่ถูกคือการให้ทาน การทำบุญทั้งหลายควรน้อมใจไปสู่พระนิพพานเพื่อให้เกิดความสงบระงับนำไปสู่การมุ่งสู่ความดับซึ่ง กิเลสและความทุกข์ทั้งหลาย หลุดพ้นจากการเวียนว่ายในสังสารวัฏแห่งความทุกข์นี้ได้[1]

ศีล คือ การประพฤติปฏิบัติตนให้อยู่ในธรรมของพระพุทธเจ้า ซึ่งศีลนั้นแปลว่า ปกติ อันหมายถึง ความประพฤติที่เป็นปกติของมนุษย์ที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์อื่น เป็นเครื่องควบคุมความประพฤติให้ดีงามทั้งทางกายและวาจา โดยศีลเป็นข้อปฏิบัติสำหรับผู้ครองเรือนและนักบวช เช่น ศีล 5 และศีล 8 สำหรับผู้ครองเรือน ศีล 227 สำหรับภิกษุสงฆ์และศีล 314 สำหรับภิกษุณี เป็นต้น

ภาวนา คือ การทำสมาธิ เป็นบ่อเกิดแห่งความสุขที่เกิดจากฌาน ซึ่งเป็นบ่อเกิดที่ยังจัดอยู่ในบ่อเกิดแห่งโลกียสุขเพราะถ้าหากผู้ปฏิบัติเกิดความเข้าใจผิดว่าตนได้บรรลุถึงพระนิพพานแล้วจะทำให้เกิด ความยึดติดในอารมณ์ที่เป็นสมาธินั้นได้ พระพุทธศาสนานิกายเถรวาทให้ความสำคัญกับสมาธิเนื่องจาก เป็นพื้นฐานของการบรรลุมรรคผลในระดับที่สูงยิ่งขึ้นไป โดยสมาธิแบ่งเป็น 3 ขั้นได้แก่ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ[2]

จะเห็นได้ว่าพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทได้แบ่งระดับของบ่อเกิดแห่งความสุขเอาไว้อย่างชัดเจน

คือ บ่อเกิดแห่งโลกียสุขนั้นมีทั้งบ่อเกิดที่เป็นประโยชน์และบ่อเกิดแห่งความสุขที่เป็นโทษ โดยตัวผู้ปฏิบัติเองเท่านั้นที่จะเป็นผู้เลือกได้ว่าต้องการความสุขเช่นไร ต้องการความสุขที่ยังคงยึดติดมั่วเมากับความสุขเพียงเปลือกอย่างความสุขที่เกิดจากกามหรือความสุขที่เกิดจากการประพฤติปฏิบัติธรรมที่สามารถนำไปสู่การพัฒนาถึงความสุขในระดับที่สูงขึ้นไปกว่าโลกียสุขคือโลกุตตรสุขได้ พระพุทธศาสนานิกายเถรวาทได้กล่าวถึงบ่อเกิดแห่งความสุขที่เหนือกว่าบ่อเกิดในขั้นโลกียสุขคือ บ่อเกิดแห่งโลกุตตรสุขหรือก็คือ บ่อเกิดแห่งนิพพานสุข เป็นความสุขที่เกิดจากการสิ้นไปของกิเลสตัณหา เป็นความสุขอย่างยอดเยี่ยมไม่มีความสุขอื่นที่ดีกว่านี้เพราะเป็นความสุขที่ไม่ต้องอิงอาศัยเหตุปัจจัยใด ๆ ปรุงแต่ง ดังนั้นจึงพ้นจากความแปรปรวนคือพ้นจากความไม่เที่ยงและความทุกข์ เนื่องจากความสุขในนิพพานนั้นพ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ และตาย ไม่มีอารมณ์ความเศร้าโศกเสียใจ ไม่มีกิเลส ไม่มีความเศร้าหมองใด ๆ เป็นภาวะแห่งความสุขขั้นสูงสุด ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยหลักมัชฌิมาปฏิปทาหรืออังฏฐังคิกมรรค เรียกกันว่ามรรคมีองค์ 8 คือ ทางสายกลางทางองค์ 8 ประการอันประเสริฐ ซึ่งมีดังนี้คือ

1. สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นชอบ

2. สัมมาสังกัปปะ คือ ความคิดชอบ

3. สัมมาวาจา คือ มีวาจาชอบ

4. สัมมากัมมันตะ คือ การทำงานชอบ

5. สัมมาอาชีวะ คือ การเลี้ยงชีพชอบ

6. สัมมาวายามะ คือ ความพยายามชอบ

7. สัมมาสติ คือ ความระลึกชอบ

8. สัมมาสมาธิ คือ จิตตั้งมั่นชอบ

โดยมรรคมีองค์ 8 นี้สามารถสรุปรวมได้เป็นหลักไตรสิกขา ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญาคือ สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะจัดเข้าในข้อปัญญา สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะและสัมมาอาชีวะจัดเข้าในข้อศีล สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิจัดเข้าในข้อสมาธิ ซึ่งโดยปกติแล้วหลักไตรสิกขาจะเรียงด้วยศีล สมาธิ ปัญญา แต่การจัดในขั้นมรรคมีองค์ 8 นี้จะเรียงจากปัญญา ศีล สมาธิ โดยให้เหตุผลไว้ว่าแท้จริงแล้วต้องเริ่มจากการมีปัญญาที่ถูกต้องเสียก่อน ไม่ใช่มิจฉาปัญญาที่คิดในเรื่องที่ชั่วเรื่องที่ผิดบาป เมื่อมีปัญญาที่ถูกต้องสามารถพิจารณาได้ว่าการประพฤติธรรมเป็นทางที่ถูกที่ควร ถึงจะเกิดการประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้องคือศีลและสมาธิขึ้นมาตามลำดับ

ส่วนวิธีการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความสุขในทัศนะของวัดพระธรรมกายนั้นจะยึดถือหลักการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงธรรมกายตามหลักวิชชาธรรมกายของหลงพ่อสด จนฺทสโร ซึ่งก็คือการเจริญสมาธิภาวนาเพื่อเข้าถึงธรรมกาย อีกทั้งยังจะแบ่งวิธีปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความสุขออกเป็น 2 วิธีตามประเภทของความสุข คือวิธีปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความสุขเล็กในขั้นเล็กน้อยและวิธีปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความสุขในขั้นบรมสุขหรือสุขแท้

 

[1] ขุ.ม. (ไทย) 29/177/506 - 507.

[2] วนิดา ขำเขียว. (2550). สมาธิพุทธตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎก. หน้า 53 – 55.

1.วิธีปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความสุขเล็กในขั้นเล็กน้อย สามารถเข้าถึงได้ตั้งแต่ระดับความสุขขั้นพื้นฐานของมนุษย์ไปจนถึงความสุขที่สูงขึ้นคือความสุขขั้นพื้นฐานที่สุดของมนุษย์อันหมายถึง ความปลอดภัย ปัจจัย 4 อันได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่มและยารักษาโรค และต้องการการยอมรับจากสังคม รวมไปถึงความต้องการทางกายและจิตใจอื่น ๆ ที่มิใช่ปัจจัย 4 อย่างเช่น การชมภาพยนตร์ ฟังดนตรีที่ไพเราะ รับประทานอาหารรสเลิศ ได้สูดดมกลิ่นหอม ๆ หรือการตอบสนองต่อประสาทสัมผัสทั้ง 5 การได้รับการยกย่องสรรเสริญ การมีชื่อเสียงเกียรติยศ มีทรัพย์สินเงินทอง การได้รับสิ่งของที่ปรารถนาล้วนแต่เป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์เกิดความพึงพอใจทั้งสิ้น จึงจัดได้ว่าเป็นการเข้าถึงความสุขในขั้นเล็กน้อยด้วย นอกจากนี้วัดพระธรรมกายยังได้แบ่งว่าความสุขในขั้นเล็กน้อยนี้ตามทัศนะของพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทคือ การปฏิบัติตามหลักบุญกิริยา 3 อันได้แก่ ทาน ศีล ภาวนา ดังที่กล่าวมาแล้วว่าวัดพระธรรมกาย ให้ความสำคัญในเรื่องของการทำบุญสร้างบารมี และจะเห็นว่าวัดพระธรรมกายนั้นให้ความสำคัญกับการทำบุญขนาดทุ่มสุดตัว เอาชีวิตเป็นเดิมพันคือทำด้วยความเต็มใจ มีความเพียรและมีความศรัทธาในการทำบุญอย่างแท้จริง ยิ่งถ้าหากว่าผู้ปฏิบัติมีเป้าหมายที่สูงอย่างเช่นการเข้าถึงธรรมกาย ได้บรรลุ อายตนนิพพานเข้าไปร่วมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นบรมสุขสูงสุดที่ไม่มี สุขใดในภพภูมิมนุษย์หรือเทวดาใด ๆ

2. วิธีปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความสุขในขั้นบรมสุขหรือสุขแท้ การจะเข้าถึงความสุขในขั้นนี้ได้ ตามหลักคำสอนวิชชาธรรมกายดั้งเดิมคือเริ่มต้นจากการทำสมาธิเจริญภาวนาจิตพิจารณาดวงแก้ว ตามหลักของหลวงพ่อสด จนทฺสโร ส่วนดวงธรรมที่นำมาพิจารณา ณ ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 นี้มีลักษณะเป็นดวงแก้วกลมใสสว่าง ลักษณะอย่างโปร่งแสง ขนาดเท่าฟองไข่แดงของไข่ไก่หรือกำหนดเป็นรูปองค์พระพุทธรูปลักษณะใสอย่างการกำหนดดวงแก้ว โดยให้กำหนด ณ บริเวณศูนย์กลางกายฐานที่ 7 บริเวณเหนือสะดือขึ้นมา 2 นิ้วและเชื่อว่าบริเวณศูนย์กลางกายฐานที่ 7 นี้มีความสำคัญที่สุดในบรรดาฐานทั้งหมดคือเป็นทางไปสู่อายตนนิพพานของพระอรหันต์และองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย[1] เมื่อบริกรรมนิมิตเป็นดวงแก้วกลมใสแล้วให้บริกรรมภาวนาว่า“สัมมา อรหัง ๆๆ” ไปเรื่อย ๆ พร้อมทั้งเอาใจจรดไปที่ดวงแก้วนั้นจนใจสงบ ใจหยุดนิ่ง เมื่อใจหยุดนิ่งได้ถูกส่วนแล้วจะทำให้เข้าถึงกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม ไปสู่ขั้นการเข้าถึงกายในกายทั้ง 18 ตามลำดับ จนถึงระดับกายธรรมอรหัตตละเอียดซึ่งเป็นกายระดับสูงสุดและเป็นทางไปสู่เป้าหมายสูงสุดคือ อายตนนิพพาน[2] สิ่งที่ทำให้การทำสมาธิเจริญภาวนาดังกล่าวนี้สำคัญต่อการเข้าถึงธรรมกายอาจเป็นเพราะว่าเป็นหนึ่งในหลักมัชฌิมาปฏิปทาหรือมรรคมีองค์ 8 ข้อสุดท้ายคือสัมมาสมาธิ อันเป็นหนทางสู่การบรรลุมรรคผลนิพพานตามหลักของพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท

จากทัศนะเรื่องวิธีการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความสุขหรือบ่อเกิดแห่งความสุขของพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทและทัศนะของวัดพระธรรมกายนี้ ทำให้เกิดข้อสังเกตที่ว่าวัดพระธรรมกายมีหลักคำสอนที่มุ่งเน้นไปสู่การปฏิบัติเพื่อเข้าถึงอายตนนิพพานจริง แต่ขาดสิ่งที่สำคัญในการบรรลุมรรคผลนิพพานคือ ปัญญา ที่คิดพิจาณาไตร่ตรองถึงความจริงแห่งชีวิต ซึ่งวัดพระธรรมกายมีเพียงศีล สมาธิ แต่ไร้ปัญญาตามหลักของการเข้าถึงพระนิพพานในหลักไตรสิกขาของพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท โดยวิธีการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความสุขของวัดพระธรรมกายนั้นจะให้ความสำคัญและมุ่งเน้นกับหลักแห่งการสร้างบารมีเป็นหลักกล่าวคือ วัดพระธรรมกายมุ่งเน้นให้ผู้ศรัทธาทำบุญตามศาสนพิธีและโครงการทำบุญต่าง ๆ ที่ทางวัดพระธรรมกาย จัดขึ้นเอง (ตามหลักปฏิบัติดังกล่าว) ให้ถือศีลตามสะดวกคือศีล 8 หรือศีล 10 และในข้อภาวนาคือ การทำสมาธิเจริญภาวนากำหนดจิตพิจารณาดวงแก้ว ณ ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ตามหลักวิชชาธรรมกายของหลวงพ่อสด จนทฺสโร วัดปากน้ำภาษีเจริญ เมื่อได้ศึกษาแล้วพบว่า จุดมุ่งหมายของการทำบุญสร้างบารมีของวัดพระธรรมกายนั้นมีความคลาดเคลื่อนออกไปจากจุดมุ่งหมายในทัศนะของพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทคือ การทำบุญของวัดพระธรรมกายมุ่งเน้นไปที่ประโยชน์ข้อที่ 2 ในหลักประโยชน์แห่งการทำบุญคือข้อสัมปรายิกัตถะ การทำบุญเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขในภายภาคหน้า มากกว่าจะมุ่งไปที่ประโยชน์สูงสุดในข้อที่ 3 ปรมัตถะ คือ การทำบุญเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขอย่างยิ่งอันหมายถึงพระนิพพาน ที่เป็นความสงบอย่างแท้จริง

 

 

[1] วัดปากน้ำ ภาษีเจริญและสมาคมศิษย์หลวงพ่อวัดปากน้ำ. (2539). อ้างแล้ว. หน้า 36 - 40.

[2] พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย). (2548). ทุกชีวิตมีทุกข์จะพบสุขที่แท้จริงเมื่อหยุดนิ่ง ในโอวาทหลวงพ่อนำนั่งสมาธิ ชุดที่ 14 . (ซีดีรอม).

 

 

จินต์จุฑา รายงาน