บทสรุปหุ้นชินฯจะจบยังไง !! ราชกิจจาฯแพร่คำวินิจฉัยคกก.คลัง ชี้ออกหมายเรียก-ขยายเวลาประเมินภาษีเกินกรอบกม.ไม่ถูกต้อง !!

ติดตามรายละเอียด deeps.tnews.co.th

จากกรณีข้อถกเถียงเรื่อง "อภินิหารของกฏหมาย" ในการขยายระยะเวลาการเก็บภาษีหุ้นชินคอร์ปออกไปจากเดิมที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 มี.ค.นี้ ซึ่ง นาย วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า เมื่อคดีสิ้นสุดลงจะให้เจ้าพนักงานประเมินภาษี ยื่นเป็นคดีทางแพ่ง เพื่อออกหมายเรียก นาย ทักษิณ ชินวัตร มาไต่สวน พร้อมกับจะขอขยายระยะเวลาไปอีกอย่างน้อย 10 ปี นั้นล่าสุด

วันนี้ (๒๐ มีนาคม) ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ คําวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ ๔๑/๒๕๖๐ เรื่อง การขยายเวลาการออกหมายเรียกตามมาตรา ๑๙ แห่งประมวลรัษฎากร มีรายละเอียดระบุว่า ด้วยกรมสรรพากรได้ขอให้คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรวินิจฉัยว่า กรณีที่เจ้าพนักงานประเมิน มีเหตุอันควรเชื่อว่า ผู้ใดแสดงรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์ แต่ไม่ได้ออกหมายเรียกผู้ยื่นรายการนั้นมาไต่สวน และออกหมายเรียกพยานกับสั่งให้ผู้ยื่นรายการหรือพยานนําบัญชี เอกสารหรือหลักฐานอื่นมาแสดงภายในเวลาสองปีนับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ และไม่มีการอนุมัติโดยอธิบดี ให้ขยายเวลาการออกหมายเรียกดังกล่าวเกินกว่าสองปีแต่ไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ ในกรณี ปรากฏหลักฐานหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ยื่นรายการมีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ตามมาตรา ๑๙ แห่งประมวลรัษฎากร

เช่นนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะใช้อํานาจตามมาตรา ๓ อัฏฐ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ในการขยายกําหนดเวลาการออกหมายเรียกตามมาตรา ๑๙ แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อพ้นกําหนดเวลาห้าปี นับแต่วันที่ได้ยื่นรายการไว้ได้หรือไม่ คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาและมีคําวินิจฉัยในการประชุมครั้งที่ ๔๖/๒๕๖๐ วันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๖๐ ว่า มาตรา ๑๙ แห่งประมวลรัษฎากร ได้กําหนดเวลาในการออกหมายเรียกของ เจ้าพนักงานประเมิน และการอนุมัติให้ขยายเวลาการออกหมายเรียกของอธิบดี ในกรณีที่มีการยื่นรายการ ตามแบบไว้เป็นการเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนําบทบัญญัติมาตรา ๓ อัฏฐ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร เกี่ยวกับการขยายหรือเลื่อนกําหนดเวลาต่าง ๆ ตามประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นบททั่วไปมาใช้บังคับ แก่กําหนดเวลาการออกหมายเรียกและการขยายเวลาการออกหมายเรียกตามมาตรา ๑๙ แห่งประมวล รัษฎากรได้ คําวินิจฉัยนี้ให้ใช้บังคับถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ประภาศ คงเอียด รองปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายได้ ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงการคลัง ประธานคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร

 

ทั้งนี้ ประมวลรัษฎากร มาตรา 19 บัญญัติว่า “เว้นแต่จะมีบทบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น กรณีที่เจ้าพนักงานประเมินมีเหตุอันควรเชื่อว่า ผู้ใดแสดงรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์ ให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกผู้ยื่นรายการนั้นมาไต่สวน และออกหมายเรียกพยานกับสั่งให้ผู้ยื่นรายการหรือพยานนั้น นำบัญชีเอกสารหรือหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาแสดงได้ แต่ต้องให้เวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันนับแต่วันส่งหมาย ทั้งนี้ การออกหมายเรียกดังกล่าว จะต้องกระทำภายในเวลาสองปี นับแต่วันที่ได้ยื่นรายการไม่ว่าการยื่นรายการนั้น จะได้กระทำภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือเวลาที่รัฐมนตรีหรืออธิบดีขยายหรือเลื่อนออกไปหรือไม่ ทั้งนี้ แล้วแต่วันใดจะเป็นวันหลัง เว้นแต่กรณีปรากฏหลักฐานหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ยื่นรายการมีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร หรือเป็นกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการคืนภาษีอากร อธิบดีจะอนุมัติให้ขยายเวลาการออกหมายเรียกดังกล่าวเกินกว่าสองปีก็ได้ แต่ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ แต่กรณีขยายเวลาเพื่อประโยชน์ในการคืนภาษีอากรให้ขยายได้ไม่เกินกำหนดเวลาตามที่มีสิทธิขอคืนภาษีอากร”

( พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2534 ใช้บังคับ 26 ธ.ค. 2534 เป็นต้นไป )

ก่อนหน้านั้นทางผู้บริหารกรมสรรพากร  ยืนยันว่าคงไม่ดำเนินการใดๆ อีกเกี่ยวกับกรณีการเก็บภาษีการซื้อขายหุ้น  บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ชินคอร์ป ซึ่งปัจจุบันคือ บริษัท อินทัช โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เพราะเรื่องนี้ กรมสรรพากรได้ดำเนินการมาถึงที่สุดแล้ว ซึ่งอายุความของคดีได้สิ้นสุดไปตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.2555

ส่วนกรณีที่ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ได้เสนอให้ใช้อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่มีอายุความ 10 ปีนั้น ในกรณีเช่นนี้ กรมสรรพากรไม่สามารถดำเนินการให้ได้ เนื่องจาก ตามหลักกฎหมายแล้ว เมื่อมีกฎหมายเฉพาะในเรื่องการกำหนดอายุความ จะต้องใช้กฎหมายเฉพาะนั้น จะใช้กฎหมายทั่วไป หรือ จะใช้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ได้

รวมถึงตามประมวลรัษฎากรของกรมสรรพากร ระบุไว้ว่า อายุความในกรณียื่นภาษีไม่ถูกต้อง มีอายุความ 5 ปี แต่กรณีผู้เสียภาษีไม่ได้ยื่นแบบนั้น มีอายุความ 10 ปี แต่สำหรับกรณีภาษีหุ้นชินคอร์ปนั้น นายพานทองแท้ และนางสาวพิณทองทา ชินวัตร ได้ทำการยื่นแบบชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปี 2550 แล้ว ดังนั้น อายุความในกรณีนี้จึงอยู่ที่ 5 ปี และหมดอายุความไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.2555